เกษตรฯ เผยยอดทำลายต้นมันสำปะหลังส่อโรคใบด่างแล้วกว่า 4 พันต้น
กรมวิชาการเกษตร แจงมาตรการสกัดกั้นโรคใบด่างมันสำปะหลัง 2 ปี ทำลายต้นมันสำปะหลังต้องสงสัยรวม 4,494 ไร่ ชี้เหตุระบาดเพิ่มจาก 7 เป็น 9 จังหวัดมาจากขนย้ายท่อนพันธุ์ติดโรคข้ามเขต ยันยังเฝ้าระวังพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศเข้มข้น
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุจากเชื้อไวรัส Sri Lankan Cassava Mosaic Virus ว่า นับตั้งแต่ในเดือนสิงหาคม 2561 กรมวิชาการเกษตรได้สำรวจพบโรคใบด่างมันสำปะหลังในพื้นที่บ้านไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ในแปลงเกษตรกร 8 ราย รวมพื้นที่ 68 ไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการตามมาตรการฉุกเฉินที่ได้กำหนดไว้โดยทำลายต้นมันสำปะหลังในแปลงดังกล่าวทั้งหมดด้วยวิธีฝังกลบและพ่นสารกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบ เพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบซึ่งเป็นพาหะของโรคในพื้นที่แปลงมันสำปะหลังรวมทั้งพืชอาศัยที่อยู่ในพื้นที่ข้างเคียง
หลังจากนั้นเป็นต้นมากรมวิชาการเกษตร ยังคงดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดรวมพื้นที่ 8.9 ล้านไร่ พบโรคใบด่างมันสำปะหลัง จำนวน 1,490 ไร่ ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สระแก้ว และนครราชสีมา และได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฉุกเฉิน โดยทำลายต้นมันสำปะหลังและแปลงปลูกมันสำปะหลังดังกล่าว ส่วนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีพบการระบาดเป็นวงกว้างในพื้นที่แปลงมันสำปะหลัง รวมพื้นที่ 927 ไร่ จึงได้มีประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชและทำลายแปลงมันสำปะหลังที่พบโรคใบด่างทันที
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในฤดูปลูกมันสำปะหลังปี 61/62กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตรยังคงดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงมากบริเวณชายแดนและแหล่งผลิตท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สำคัญ โดยพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ที่ติดโรคและแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค โดยในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน พบพื้นที่การระบาดจำนวน 17,403 ไร่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา และสระแก้ว ซึ่งได้ดำเนินการทำลายตามมาตรการป้องกันกำจัดเสร็จสิ้นแล้ว 7 จังหวัด อยู่ในระหว่างดำเนินการ 2 จังหวัดได้แก่ สระแก้ว และ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา
“นับตั้งแต่ได้รับรายงานการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในประเทศกัมพูชาในปี 2558 กรมวิชาการเกษตรได้กำหนดมาตรการ ด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย และสร้างการรับรู้พร้อมประชุมชี้แจงกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2558 พร้อมกับดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลังอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาตลอด ไม่ได้ปล่อยปละละเลยแต่ประการใด หากพบโรคใบด่างจะทำลายโดยการฝังกลบและพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดแมลงหวี่ขาวยาสูบทันที โดยในปี 2561 ได้มีการทำลายมันสำปะหลังที่เป็นโรคใบด่างไปแล้วรวมจำนวน 1,237 ไร่ ในปี 2562 ทำลายไปแล้วรวมจำนวน 3,257 ไร่ นอกจากนี้ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชบริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบ การนำเข้ามันสำปะหลัง โดยทำการเปิดตรวจ 100 % และขอความร่วมมือพร้อมทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และผู้นำเข้าให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยเคร่งครัด เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าท่อนพันธุ์และเหง้าที่มีเชื้อไวรัส SLCMV พร้อมกันนี้ยังเปิดสายด่วนเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง โทร 02-579-8516,061-4152517 ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งได้ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว