กษ.ผุด4มาตรการเชิงรุกจัดการสินค้าเกษตรปลอม
จัด 4 มาตรการเชิงรุกคุมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรปลอม ลั่นโทษสูงสุดจับพร้อมสั่งปิดโรงงาน แนะเกษตรกรพบผู้กระทำผิดมแจ้งสายด่วน 1166 “เจอปลอมจับจริง”
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวเรื่องมาตรการปราบปรามปุ๋ยปลอม ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรทั่วภูมิภาค โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับกรมวิชาการเกษตร พบว่ากลไกลของรัฐกับผู้ผลิตทางการเกษตรยังเบาเกินไป ทำให้มีการหลีกเลี่ยงข้อกฏหมาย เป็นเหตุให้ผู้ค้าปุ๋ยปลอมไม่เกรงกลัว
ทั้งนี้ นายวรวัจน์ จึงได้ประสานกับ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคป.) และกรมวิชาการเกษตร โดยมีภารกิจร่วมกันในการตรวจสอบ จับกุม ปราบปราม และการดำเนินคดี ในการประสานความร่วมมือกันในชื่อภารกิจ "เจอปลอมจับจริง"
“โดยมีมาตรการเชิงรุก 4 ด้าน คือ 1.เฝ้าระวังร้านค้า โรงงานผู้ผลิต ซึ่งมีข้อมูลอยู่แล้ว เมื่อพบจะประสานกับปคป.ในการสืบสวน หากผิดจริงจะให้ 3 หน่วยงานดังกล่าวจับ และจะมีการวิธีการล่อซื้อจับกุมและขยายผล 2.ร้านค้าที่พบว่าผิดจะจับกุมทันที บังคับใช้กฏหมายสูงสุด โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่อย่างเข้มข้น 3.พ่อค้าเร่ที่เอาปุ๋ยและปัจจัยการผลิตเกษตรปลอม เช่น ยาฆ่าแมลงปลอม มาเร่ขายในพื้นที่ ซึ่งจะมีความผิด 2 เท่า เนื่องจากปุ๋ยมีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำหนดไว้ไม่ให้สามารถนำออกมาเร่ขายได้ 4.มาตรการเชิงรุกในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเลือกซื้อปัจจัยในการผลิตที่มาจากร้านคิวช๊อป Q Shop โดยปัจจุบันมีมากกว่า 300 ร้าน ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร และร้านค้าใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการก็สามารถขอการรับรองได้ และ 3 หน่วยงานนี้จะมีการตรวจสอบและเร่งรับรองคุณภาพที่มีการตรวจสอบแล้ว” นายณัฐวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจกาเกษตรกรและประชาชนที่พบเห็นปุ๋ยและผลิตภัณ์ทางการเกษตรปลอม ให้โทรศัพย์มาแจ้งที่ได้ที่สายด่วน 1166 “เจอปลอมจับจริง” เพื่อให้ความมั่นใจกับเกษตรกรในฤดูการเพาะปลูกให้ปลอดจากผลิตภัณฑ์ปลอม
นายวรวัจน์ กล่าวว่า ความเสียหายของผลิตภัณฑ์เกษตรปลอมรวมมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับโรงงานผู้ผลิต จากเบาไปหาหนัก และจะยึดใบอนุญาติ ยึดผลิตภัณฑ์ และถึงขั้นปิดโรงงาน นอกจากนี้ ก็จะดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งใน 7 วันนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดโดยเริ่มตั้งแต่วันนี้ (20ก.ค.) เป็นต้นไป และหากผู้ประกอบการที่มีความสงสัยในผลิตภัณฑ์ของตนนั้น สามารถให้กรมวิชาการทางการเกษตรเข้ามาตรวจสอบได้