'บิ๊กตู่' ไม่ตอบ ทบทวน 4 แคนดิเดตรัฐมนตรีในโผ หลังมีชื่อโยงถือหุ้นสื่อ
“ประยุทธ์” ยิ้มก่อนบินญี่ปุ่นประชุมจี20 ไม่ตอบ ทบทวน 4 แคนดิเดตรัฐมนตรีในโผ มีชื่อติดบัญชี 32 ส.ส.กรณีถือหุ้นสื่อ หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
เมื่อเวลา 10.35 น. วันที่ 27 มิ.ย. 2562 ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (กองบิน 6) ดอนเมือง กทม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยภริยา นางนราพร จันทร์โอชา, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายดิสทัต โหตระกิตย์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ว่าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พร้อมคณะ ออกเดินทางไปยังท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่ม 20 ประจำปี 2562 (G20 Osaka Summit 2019) ระหว่างวันที่ 27-29 มิ.ย.
ทั้งนี้ ก่อนเดินทาง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่าจะทบทวนโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง 32 ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลถือครองหุ้นและเป็นเจ้าของกิจการสื่อ มี 4 รายชื่อที่ติดโผ ครม. ประกอบด้วย นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่มีชื่อนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีชื่อนั่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่มีชื่อนั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอยู่ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีเพียงแต่ยิ้ม ไม่ตอบใดๆ
สำหรับเวที G20 เป็นเวทีอย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเศรษฐกิจลำดับต้นเพื่อหารือและเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญของโลก ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลก, การเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยสมาชิกของกลุ่ม G20 ประกอบด้วย ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี โดยสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 มี GDP เท่ากับร้อยละ 90 ของโลก และมีจำนวนประชากรเป็นร้อยละ 60 ของโลก
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ไทยเข้าร่วมประชุมในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งหัวข้อหลักในการประชุมครั้งนี้มี 4 หัวข้อประกอบด้วย 1.เรื่องเศรษฐกิจโลก การค้า และการลงทุน 2.นวัตกรรม (เศรษฐกิจดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์) 3.การแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมและการสร้างโลกที่ยั่งยืนและทุกคนมีส่วนร่วม และ 4.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน