เปิดชื่อ13หน่วยงานส่อฮั้วซื้อ"จีที200"แพงหูฉี่ พบศพต้องสงสัยร่วมโจมตีฐานรือเสาะ
ดีเอสไอเรียก 13 หน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดฉาว "จีที 200 - อัลฟา 6" เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทต่างชาติฐานฉ้อโกง หลังจากเจ้าของบริษัทผู้ผลิตในอังกฤษถูกแจ้งข้อหาแล้ว ส่วนคดีทุจริตพบหลักฐาน 3 บริษัทฮั้วประมูล มีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 300 ล้าน พร้อมเปิดรายชื่อ 13 หน่วยงานซื้อใช้กว่า 1,500 เครื่อง ชง ป.ป.ช.ฟัน ส่วนที่ชายแดนใต้ได้เค้าแก๊งคนร้ายบุกโจมตีฐานทหารที่รือเสาะ พบหลักฐานถูกยิงดับ 2 สงสัยนำศพฝังกุโบร์
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 18 ก.ค.2555 ถึงผลการตรวจสอบกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและวัตถุต้องสงสัย (เครื่องตรวจหาสสารระยะไกล) รุ่น จีที 200 และอัลฟา 6 หลังจากเจ้าของบริษัทผู้ผลิตถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงที่ประเทศอังกฤษ ว่า มีผู้ร้องเรียนให้ดีเอสไอตรวจสอบตั้งแต่ปี 2553 โดยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นพบมูลความผิดของการจัดซื้อเครื่องทั้ง 2 ประเภท ทั้งประเด็นการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริงและฮั้วประมูล จึงส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมาย
ในส่วนของดีเอสไอ ล่าสุดได้ทำหนังสือถึงหน่วยงาน 13 แห่งที่มีการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าวให้ตรวจสอบภายในว่า ถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงจากบริษัทผู้ขายและผู้ผลิตในต่างประเทศหรือไม่ หากพบว่าหน่วยงานถูกฉ้อโกงหลอกลวงเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเครื่องจีที 200 และอัลฟา 6 ให้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอโดยเร็ว เพราะขณะนี้บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศอังกฤษถูกพนักงานอัยการตั้งข้อหาฐานฉ้อโกง กรณีหลอกลวงขายอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับต่างประเทศแล้ว
แฉจัดซื้อไร้ราคากลาง-ราชการเสียหาย
ต่อข้อถามถึงผลการสืบสวนสอบสวนกรณีการจัดซื้อเครื่องจีที 200 และอัลฟา 6 ในราคาแพงเกินจริง มีความคืบหน้าอย่างไร นายธาริต กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่ทำการจัดซื้อได้ดำเนินการจัดทำรายงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ แต่ไม่มีการจัดทำราคากลางเอาไว้ เนื่องจากเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยดังกล่าวไม่มีการกำหนดราคากลาง แต่พบข้อผิดสังเกตคือ การจัดซื้อ จีที 200 และ อัลฟา 6 ของส่วนราชการต่างๆ จะมีราคาแตกต่างกันมาก จุดนี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการได้
นอกจากนั้น จากผลการทดสอบการใช้งานเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจีที 200 และอัลฟา 6 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เมื่อปี 2553) พบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาวัตถุระเบิด ดังนั้นเมื่อนำข้อมูลผลการตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องมาพิจารณาประกอบด้วยแล้ว ก็น่าเชื่อได้ว่าหน่วยงานที่จัดซื้อในราคาสูงเป็นการจัดซื้อในราคาที่แพงเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ การกระทำดังกล่าวจึงอาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก่อให้เกิดความเสียหาย เข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. จึงได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 มี.ค.2554
พบพฤติการณ์บริษัทจัดจำหน่ายส่อทุจริต
สำหรับการสืบสวนพฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทที่เสนอขายและขายเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยซึ่งมีพฤติการณ์ส่อทุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐนั้น นายธาริต กล่าวว่า เครื่องรุ่น อัลฟา 6 และ จีที 200 ผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทคอมส์แทร็ค จำกัด (Comstrac Co., Ltd) ซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศอังกฤษ โดยบริษัทดังกล่าวได้แต่งตั้งบริษัทเอกชนจำนวน 2 แห่งเป็นตัวแทนและผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ต่อมาบริษัททั้ง 2 แห่งได้แต่งตั้งบริษัทเอกชนในไทยอีก 3 บริษัทเป็นผู้แทนจำหน่ายช่วงอีกทอดหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ ประกอบข้อมูลการยื่นเสนอราคาและข้อมูลการจัดซื้อของหน่วยงานต่างๆ พบความผิดปกติ ดังนี้
1.การจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยอัลฟา 6 และจีที 200 มีบริษัทผู้จำหน่ายอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และมอบให้บริษัทเอกชน 2 แห่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทย โดยบริษัทคอมส์แทร็คฯ กำหนดเงื่อนไขการสั่งซื้อและชำระเงินหรือรับสินค้าต้องผ่านบริษัทที่เป็นตัวแทนในไทยเท่านั้น
2. บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายในไทยสามารถแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อในไทยได้ โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายของตนเองอีกทอดหนึ่ง จากพยานหลักฐานพบว่า การขายเครื่องอัลฟา 6 ให้กับหน่วยราชการต่างๆ ทางบริษัทเปโตรกรุงเทพฯ จำกัด ได้ซื้อเครื่องอัลฟา 6 ต่อมาจาก บริษัทยูจีซี เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทยูจีซีฯ ต้องสั่งซื้อ รับสินค้า และชำระเงินกับ บริษัทแจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทอดหนึ่ง
3 บริษัทเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ฮั้ว-จนท.รัฐเอี่ยว
จากข้อเท็จจริงข้างต้น มีข้อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวว่า ส่อทุจริตในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ โดยบริษัทแจ๊คสันอีเลคโทรนิคส์ฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย การสั่งซื้อ รับชำระค่าสินค้าก็ต้องผ่านบริษัทแจ๊คสันอีเลคโทรนิคส์ฯ แต่ในการเสนอราคากับหน่วยราชการ บริษัทแจ๊คสันอีเลคโทรนิคส์ฯ กลับเสนอราคาสูงกว่าบริษัทยูจีซีฯ และบริษัทเปโตรกรุงเทพฯ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ในการดำเนินธุรกิจปกติ
ทั้งนี้ เพราะบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายโดยตรงจากบริษัทต่างประเทศคือ บริษัทแจ๊คสันอีเลคโทรนิคส์ฯ อีกทั้งยังเป็นตัวกลางในการรับชำระเงินแทนบริษัท คอมส์แทร็คฯ น่าที่จะซื้อสินค้าจากบริษัทคอมส์แทร็คฯ ในราคาที่ถูกกว่าบริษัทยูจีซีฯ และบริษัทเปโตรกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงต่อจากตนเองอีกทอดหนึ่งเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า บริษัทแจ๊คสันอีเลคโทรนิคส์ฯ ยื่นเสนอราคาต่อหน่วยราชการสูงกว่าบริษัท ยูจีซีฯ และบริษัท เปโตรกรุงเทพฯ
พฤติการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นกระทำการที่อาจเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) โดยประมาณการมูลค่าความเสียหายสูงถึง 300 ล้านบาทหรือมากกว่า โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความความผิดร่วมด้วยตามมาตรา 12 จึงอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดีเอสไอจะสรุปผลการสืบสวนส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
เปิดชื่อ 13 หน่วยงานซื้อ "อุปกรณ์ฉาว" กว่า 1,500 เครื่อง
สำหรับรายชื่อ 13 หน่วยงานที่จัดซื้อเครื่องตรวจหาสสารระยะไกลรุ่น จีที 200 และ อัลฟา 6 ที่ดีเอสไอตรวจสอบพบความผิดปกติเป็นกลุุ่มแรก ได้แก่
1.กรมการปกครอง จัดซื้อ 2 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 812 เครื่อง
2.อบจ.ยะลา จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 17 เครื่อง
3.อบจ.พิษณุโลก จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 1 เครื่อง
4.อบจ.ภูเก็ต จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 2 เครื่อง
5.อบจ.สงขลา จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 1 เครื่อง
6.อบจ.ชัยนาท จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 1 เครื่อง
7.อบจ.เพรชบุรี จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 1 เครื่อง
8.อบจ.สิงห์บุรี จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 1 เครื่อง
9.กรมศุลกากร จัดซื้อ 2 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 / จีที 200 รวม 12 เครื่อง
10.สำนักงาน ป.ป.ส. จัดซื้อ 2 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 15 เครื่อง
11.สำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ จัดซื้อ 4 ครั้ง รุ่น จีที 200 / อัลฟา 6 รวม 8 เครื่อง
12. ศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) จัดซื้อ 1 ครั้ง รุ่น อัลฟา 6 รวม 8 เครื่อง
13.กรมสรรพาวุธ (ทหาร) จัดซื้อ 12 ครั้ง รุ่น จีที 200 รวม 697 เครื่อง
รวมจำนวนที่จัดซื้อทั้งหมด 1,576 เครื่อง
กอ.รมน.แถลงเหตุโจมตีฐานทหาร
ด้านความคืบหน้าเหตุการณ์คนร้ายจำนวนมากกว่า 20 คน ใช้รถกระบะ 2 คันและรถจักรยานยนต์อีก 3 คันเป็นพาหนะ บุกโจมตีฐานปฏิบัติการหมวดปืนเล็กที่ 3 กองร้อยทหารราบที่ 15123 (ร้อย ร.15123) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 เมื่อคืนวันอังคารที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 18 ก.ค. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กำลังพลเสียชีวิต 1 นาย คือ พลทหารสราวุฒ มินสยม และได้รับบาดเจ็บ 4 นาย ประกอบด้วย ส.อ.จักรวาล ปวงรังษี พลทหารมนตรี พรหมมา พลทหาร สุรนันท์ ต้องเวียน และ พลทหารวันชัย สุขเสถียร
นอกจากนั้นมีประชาชนเสียชีวิต 2 ราย คือ นางหั้ว รอยปริวัตร และนายนิติศักดิ์ ขวัญวิชาญ ส่วนบาดเจ็บมี 2 ราย คือ นายสุดิง ยูโซ๊ะ และนายอินเฮง แซ่กู่
พ.อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า หลังถูกโจมตี ฝ่ายทหารได้พยายามยิงสกัดคนร้ายอย่างเข้มแข็งจนไม่สามารถบุกเข้าไปในฐานได้ และต้องล่าถอยไป โดยทิ้งรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นพาหนะเอาไว้ทั้ง 3 คัน และพบรอยเลือดจำนวนมาก จึงเชื่อว่าคนร้ายน่าจะถูกยิงได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่เพื่อนได้ลำเลียงขึ้นรถกระบะหลบหนี ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยเอาไว้ได้ 2 ราย
สำหรับสาเหตุที่คนร้ายต้องก่อเหตุดังกล่าว คาดว่าเพื่อตอบโต้ปฏิบัติการเชิงรุกของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่สามารถจับกุมผู้ต้องหาและทลายแหล่งพักพิงขนาดใหญ่ของกลุ่มก่อความไม่สงบได้ก่อนหน้านี้ โดยรูปแบบที่คนร้ายใช้โจมตีเป็นลักษณะเดียวกับการโจมตีฐานปฏิบัติการ ร้อย ร.15121 หรือฐานพระองค์ดำ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อต้นปี 2554 เบื้องต้นเชื่อว่าน่าจะเป็นกลุ่มเดียวกัน
พบปืนเอ็ม 16 ปล้นจากทหารถูกฆ่าตัดคอ
วันเดียวกัน พล.ต.ต.สฤษฎ์ชัย อเนกเวียง รองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผบช.ศชต.) ได้เดินทางไปยังฐานปฏิบัติการร้อย ร.15123 ซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ เพื่อเก็บหลักฐานและตรวจร่องรอยการปะทะ โดยเฉพาะที่อาคารอเนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติเทศบาลตำบลรือเสาะซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนบ้านท่าเรือ และทหารใช้เป็นฐานปฏิบัติการ ปรากฏว่ามีร่องรอยถูกกระสุนปืนของคนร้ายเป็นรูพรุน
เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติการอยู่ภายในฐานขณะเกิดเหตุ กล่าวว่า กลุ่มคนร้ายรู้ความเคลื่อนไหวภายในฐานเป็นอย่างดี โดยมีการแยกกำลังยิงถล่มและบุกเข้าฐาน แต่ถูกชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ข้างฐานใช้อาวุธปืนยิงช่วยเจ้าหน้าที่จนกลุ่มคนร้ายต้องล่าถอยไป โดยคนร้ายเสียชีวิต 2 ราย แต่เพื่อนได้นำศพขึ้นรถกระบะหลบหนีไปด้วย เพื่อป้องกันการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ จากการเก็บหลักฐานและตรวจสอบแผนประทุษกรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจพบปลอกกระสุนปืนและอาวุธสงครามจำนวนมาก ทั้งยังมีอาวุธปืนเอ็ม 16 ตกอยู่ 1 กระบอก ตรวจสอบพบเป็นปืนของทหารหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ชุดรักษาความปลอดภัยครู (รปภ.ครู) ที่ถูกฆ่าตัดคอในพื้นที่ อ.รือเสาะ เมื่อปี 2553
สำหรับรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายจอดทิ้งไว้ ทะเบียนรถไม่ตรงกับเลขประจำรถ ตรวจสอบพบว่าเป็นรถที่ชาวบ้านแจ้งหายไว้ในพื้นที่ จ.ยะลา ทั้ง 3 คัน
พบศพผู้ต้องสงสัยโจมตีฐานถูกฝังแล้ว
มีรายงานจากหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 30 ว่า พบศพผู้ต้องสงสัยว่าอาจอยู่ในกลุ่มติดอาวุธที่บุกโจมตีฐานทหารถูกฝังไว้ในกุโบร์แห่งหนึ่งในท้องที่ ต.บาลอ อ.รามัน จ.ยะลา จึงได้ประสานให้เจ้าหน้าที่เข้าหาหลักฐานเพิ่มเติม พบข้อน่าสงสัยคือ จากการไปตรวจสอบที่บ้านของผู้ตาย พบข้อต่อสายกระสุนปืนกลอยู่ในกองเสื้อผ้าเปื้อนเลือดซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของผู้ตาย โดยญาติอ้างสาเหตุการเสียชีวิตว่าประสบอุบัติเหตุรถชน
อย่างไรก็ดี ผู้ตายถูกนำศพไปฝังยังกุโบร์ (สุสาน) ของอีกหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ใช่หมู่บ้านที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ แต่อิหม่ามประจำมัสยิดในพื้นที่ที่นำศพไปฝังยืนยันกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้รับทราบเรื่องพิธีฝังศพเลย ส่วนอิหม่ามและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ที่ผู้ตายอาศัยอยู่ก็ให้การว่าไม่ได้ร่วมในพิธีฝังศพด้วย
ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อปรับแผนกันใหม่ ทั้งนี้ผู้ก่อเหตุไม่ได้เข้มแข็งขึ้น แต่รวมพลังกันเพื่อสร้างสถานการณ์ก่อนเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยเตือนไว้แล้วว่าช่วงเดือนรอมฎอน จะมีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นแน่นอน
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เอื้อเฟื้อกราฟฟิกประกอบข่าว "จีที 200" แสดงรายชื่อ 13 หน่วยงานที่จัดซื้อและจำนวนที่จัดซื้อเครื่องตรวจหาสสารระยะไกลรุ่นต่างๆ