ไทยพาณิชย์ปลื้มเวที Hackathon ครั้งแรกประสบความสำเร็จท่วมท้น
ธนาคารไทยพาณิชย์ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นในการจัดแข่งขันแฮคกาธอนครั้งแรก The First Open Banking Hackathon เพื่อเสนอไอเดียสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ผ่านการใช้งาน API บน web https://developer.scb จนได้ 3 ทีมผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันครั้งนี้ คว้าเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาท
ปิดฉากลงอย่างสวยงามสำหรับการแข่งขันแฮคกาธอนครั้งแรกของวงการธนาคาร The First Open Banking Hackathon ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ โดยหน่วยงาน SCB 10X จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 มิถุนายน 2562 ที่ Nap Lab Chula โดยมีนักพัฒนาระบบรุ่นใหม่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 24 ทีม 117 คน จากมหาวิทยาลัยและ Startups ทั่วประเทศซึ่งการแข่งขันแฮคกาธอนเป็นการแข่งขันข้ามวันข้ามคืนเป็นเวลา 2 วัน โดยผู้เข้าแข่งขันจะแบ่งการ Pitch เป็น 3 ห้องๆ ละ 10 ทีม แต่ละทีมจะได้เวลา Pitch 5 นาที และช่วงตอบคำถาม อีก 5 นาที โดยที่มี mentor และกรรมการ 6 คน ประกอบด้วย นายวรัทธน์ วงศ์มณีกิจ Product Owner จากบริษัท Wisesight จำกัด นายกิตติศักดิ์ ปัญญาจิรกุล Innovation Team Lead จาก บริษัท Sertis จำกัด นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of SCB10X นายกษิดิ์เดช พูลสุขสมบัติ Technical Lead จาก SCB 10X นายมาโนช พฤฒิสถาพร Business Strategy & Partnership Manager SCB 10X และนายสุธัม ธรรมวงศ์ Senior UX Designer SCB 10X คอยให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ ทั้งนี้เกณฑ์การตัดสินประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ Technical Completeness, Business Potential และ User Experience สำหรับการสร้างนวัตกรรมการเงินผ่านการใช้ API ของ SCB ผ่าน portal web https://developer.scb
นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้จัดเตรียมทีมงานที่จะแก้ไขปัญหาเชิงเทคนิคและการรายงานผลให้แก่ผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งการแข่งขันเป็นไปด้วยความเข้มข้นจนได้ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มแรกในเรื่องของ Lending Platform คือ ทีม Flipay ทีมที่ได้รับคะแนนสุดสุดในกลุ่มสอง ในเรื่องของ Invoice System Fir B2B ได้แก่ทีม MeGroup และทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุดในกลุ่มสาม ในเรื่องของ Chatbot Payment ได้แก่ ทีม Salted Egg Bubble Tea ซึ่งทั้งสามทีมได้รับเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาท
นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม SCB10X กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของวงการธนาคารไทย ที่ธนาคารไทยพาณิชย์จัดการแข่งขันในรูปแบบแฮคกาธอนขึ้น เพื่อเฟ้นหานักพัฒนารุ่นใหม่มาเชื่อมต่อเข้ากับ API ของธนาคารผ่าน Portal Web https:\\developer.scb โดยผู้พัฒนาสามารถอ่านเอกสารสำหรับการพัฒนาเพื่อศึกษาวิธีการพัฒนา วิธีการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชั่นของผู้พัฒนาและระบบของธนาคาร รวมถึงมี simulator app ของทางธนาคารเพื่อจำลองการทำรายการผ่าน SCB Easy เสมือนจริงให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสามารถทดสอบได้ครอบคลุมทุกกรณี โดยที่ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นจะสามารถทดสอบอยู่บนพื้นที่ที่ทางธนาคารกำหนดไว้ (Sandbox Environment) ได้ทันที ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผู้เข้าแข่งขันทำการ Pitch นั้น จะต้องสามารถใช้งานได้จริงเป็น Prototype ที่ทีมงานสามารถตรวจสอบว่ามีการใช้งาน API จริง ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกใช้ API ที่ธนาคารมีให้เลือกไม่ว่าจะเป็น Loan Calculator, Documents Submission, Loan Application Submission และ SCB Payment (e.g. QR) ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
นายกวีวุฒิ กล่าวต่อว่า SCB 10X เชื่อว่านักพัฒนาในประเทศไทยเก่งกาจและมีฝีมือไม่แพ้ชาวต่างชาติ ดังนั้น จึงอยากสร้างพื้นที่ที่ให้นักพัฒนาได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานได้มีชีวิตที่ดีขึ้น และอีกด้านนักพัฒนาก็ได้เข้ามาพิสูจน์รวมถึงได้แสดงฝีมือตัวเองอีกด้วย จึงเปิดโอกาสให้นักพัฒนาได้ใช้ Open Banking API ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ธนาคารอยากเห็นจากเวทีนี้ คือ การเผยแพร่ส่วนสำคัญในการส่งต่อและเสริมสร้างกลไกให้กับอนาคตของการเงินในประเทศให้ดีขึ้น และหวังว่าทุกคนจะเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าบทบาทของธนาคารจะมีส่วนช่วยสร้างให้เครื่องมือที่เปิดกว้างกับผู้ใช้งาน และหากทำให้นักพัฒนาระบบตื่นตัวและนำไปต่อยอดใช้ Open API ของอุตสาหกรรมธนาคารได้ และเชื่อว่า อุตสาหกรรมอื่นก็จะตื่นตัวและนำออกมาให้เปิดกว้างได้พัฒนาด้วยเช่นกัน