ก.ศธ.ผลักเป้า 7,409 กศน.ตำบลปี 54 เน้นเรียนรู้โดยชุมชน-ภูมิปัญญาท้องถิ่น
รมว.ศธ.เผยคนชนบทไม่รู้หนังสือมาก ต้องสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต รองเลขาฯกศน.ชี้ปี 54 ตั้ง กศน.ตำบลครบ 7,409 แห่ง-แก้ปัญหาที่มีอยู่ีเดิมพร่องศักยภาพ เน้นการศึกษาตามอัธยาศัย-กระบวนการเรียนรู้ชุมชน-สร้างแหล่งเรียนรู้เพิ่ม
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (รังสิต) ปทุมธานี จัดงานวันที่ระลึกสากลแห่งการเรียนรู้หนังสือ ปี 2553 “การส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาประเทศ”โดย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้รู้หนังสือในระดับที่สามารถนำไปประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตนเองได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้หนังสือโดยเฉพาะพื้นที่ชนบท ส่งผลต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“นโยบายสำคัญคือการส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือไม่เพียงแค่อ่านออกเขียนได้ แต่หมายถึงเรียนรู้เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทุกมิติ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นคุณธรรมนำความรู้ ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้หากประชาชนไม่รู้หนังสือ”
นายประเสริฐ บุญเรือง รองเลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) กล่าวถึงการขับเคลื่อน กศน.ตำบลในปีงบประมาณ 2554 ว่าตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 7,409 แห่ง ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 6,088 แห่ง ยังเหลืออีก 1,321 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยจะปรับรูปแบบกิจกรรมนอกเหนือจากการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย ให้มุ่งเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้โดยชุมชนมากขึ้น เช่น การให้บริการอินเตอร์เน็ต, ส่งเสริมประชาธิปไตย ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ทั้งนี้การทำงานในระยะต่อไปจะเน้นความร่วมมือในลักษณะเครือข่ายมากขึ้น เช่นเครือข่ายรักการอ่าน, ตลอดจนเพิ่มเติมแหล่งเรียนรู้ให้มากขึ้นด้วย
นายประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้ร่วมมือกับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อร่วมจัดศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชนให้ลงไปใน กศน.ตำบลทุกแห่งเพื่อร่วมจัดแหล่งเรียนรู้ราคาถูกช่วยเหลือซ่อมแซมอุปกรณ์และสอนอาชีพให้แก่ชาวบ้านในชุมชน, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ใน 4 ภาค ภาคละ 1 แห่ง, กรมส่งเสริมการปกครอง โดยกำหนดให้ อบต.ต้องวางแผนการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยใช้งบประมาณของ อบต.มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมที่ตรงกับความต้องการของชุมชน นอกจากนั้นยังมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
“นอกเหนือจากการปรับปรุงด้านโครงสร้างและรูปแบบกิจกรรมแล้ว การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรก็มีความสำคัญ ดังนั้นทั้งผู้บริหาร ครู เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงในอนาคตจะทำอย่างไรให้ กศน. ตำบลมีชีวิตคือบริการตลอดเวลา จัดกิจกรรมเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการ ที่สำคัญคือเป็นศูนย์ของชุมชนอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ มีการมอบแนวทางการดำเนินงานการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่บุคลากร กศน. โดย นายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานมีจุดอ่อนหลายประการ 1.การประชาสัมพันธ์ที่ยังกระจุกตัวในระดับอำเภอ ทั้งการเปิดรับสมัครนักศึกษาและการเผยแพร่กิจกรรมให้พื้นที่ระดับชุมชนทราบ 2.การปรับตำแหน่งบุคลากรขึ้นเป็นพนักงานราชการมีเงินเดือนสูงขึ้น แต่ประสิทธิภาพและจำนวนคนทำงานซึ่งประจำที่ กศน. ตำบลกลับน้อยลง 3.การดำเนินการด้านการบริหารจัดการที่ยังไม่เป็นเอกภาพและเปิดช่องให้บุคลากรภายในใช้โอกาสหากินกับชาวบ้าน เช่น การประเมินผลปลายปีไม่พร้อมกัน ยุ่งยากต่อการออกข้อสอบ, การเทียบระดับการศึกษาเพียงปีละหนึ่งครั้งโดยพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน ชาวบ้านต้องไปจ้างบุคคลภายในทำผลงาน ข้อนี้เสนอว่าควรเทียบได้เดือนละหนึ่งครั้ง และ 4.จำนวนของ กศน.ตำบลที่ไม่ครอบคลุมพื้นที่และขาดศักยภาพ เนื่องจากจังหวัดขาดความกระตือรือร้น
นายอภิชาติ กล่าวต่อไปว่า ในปี 2554 ได้รับงบประมาณเพิ่มประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงภาระงานที่มากและต้องมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย ดังนั้น กศน. ควรปรับปรับระบบใหม่ไม่ทำงานตามระบบราชการที่แข็งเกินไป และวางยุทธศาสตร์การทำงานโดยเน้นประสานงานในลักษณะภาคีเครือข่ายให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นผลดีด้านทุนสนับสนุนยังเป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ใหม่ๆ และสอดคล้องกับสภาพชุมชน สำหรับศูนย์ฝึกต่างๆ ต้องไปเร่งรัดการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม เช่น กิจกรรมเกษตรกรรมธรรมชาติและควรรายงานความคืบหน้าปัญหาอุปสรรคให้หน่วยงานกลางทราบทุกระยะ เพื่อร่วมหาทางแก้ไขปัญหา
“อีกประเด็นสำคัญคือขอร้องให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานโอนเด็กในสังกัดที่ออกมาศึกษาต่อกับ กศน.ตำบล เข้ามาสังกัด กศน. ไม่ใช่เอาแต่ตัวออกมาเรียนแต่รหัสประจำตัวยังอยู่กับโรงเรียนเดิม แบบนี้เหมือนเป็นการปล้นเงินรายหัวโดยปล่อยให้เรารับผิดชอบภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งเรายอมรับว่าการพัฒนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังขาดงบประมาณสนับสนุน” เลขาธิการ กศน. กล่าว
ภาพประกอบจาก : http://www.kamsonchan.org/new/article/story17.html