นวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์-ภูมิคุ้มกันบำบัด
มะเร็ง เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดยาก มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ข้อมูลจาก สปสช. ยังพบอีกว่า ระหว่างปี 2559 – 2561 มีการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาโรคมะเร็งและมีการชดเชยค่ารักษามากกว่า 26,279 ล้านบาท
สถิติย้อนหลัง 10 ของประเทศไทย GDP เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.4 แต่รายจ่ายด้านสุขภาพของคนไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.5 หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของรายได้ประเทศไทย สูงถึง4 00,00 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รายจ่ายด้านสุขภาพอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4-1.8 ล้านล้านบาทต่อปี
มะเร็ง โรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้ป่วยมากกว่า 1 แสนคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี ใน 5 ปี ที่ผ่านมา อ้างอิงข้อมูลทางสถิติจากกรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งสิ้น 330,716 คน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศไทย
มะเร็ง เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดยาก มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาแห่งชาติ (สปสช.) ยังพบอีกว่า ระหว่างปี 2559 – 2561 มีการเบิกจ่ายค่าบริการรักษาโรคมะเร็งและมีการชดเชยค่ารักษามากกว่า 26,279 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา รังสีร่วมรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมน ยารักษาอย่างตรงเป้า รวมไปถึงการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือสเต็มเซลล์ในโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด และยังมีอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาคือการรักษาโรคมะเร็ง โดยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงที่ใช้ในหลายประเทศทั่วโลก แต่สำหรับประเทศไทยถือว่า เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาสูงถึงหลักล้านบาทต่อการรักษาหนึ่งครั้ง ทั้งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สามารถรับการรักษาโดยวิธีนี้ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัท พีพีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด ณ ห้อง Customer Solution Center (CSC) ชั้น 1 อาคาร Energy Complex A
ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ โดยแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เล็งเห็นถึงปัญหาและความยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็งในการต่อสู้กับโรคมะเร็งในทุกระยะ โดยผู้ป่วยจำนวนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถรับการรักษาได้ เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่มีค่าใช้จ่ายสูง
“ในต่างประเทศมีการนำเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มบำบัดมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และพบว่า ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการรับการรักษาโดยวิธีดังกล่าวสามารถรอดชีวิตจากโรคมะเร็งได้” อธิการจุฬาฯ ให้ข้อมูล และว่า หากจุฬาฯ ต้องการพัฒนาฝ่ายเดียวก็ย่อมได้ แต่อาจจะไปได้ไม่ไกล ดังนั้นการร่วมมือกับ GC หรือพาร์ทเนอร์อื่นๆ จะทำให้การพัฒนาไปได้เร็วและไกลมากขึ้น โดยจะเห็นผลได้เร็วขึ้นและเป็นผลดีกับสังคมไทยโดยตรง
ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GC เป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต มีความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านแผนลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
วันนี้ GC ได้จัดตั้งหน่วยงาน Corporate Venture Capital (CVC) ขึ้นเพื่อลงทุนใน 4 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก คือ เทคโนโลยีวัสดุชั้นสูง (Advanced materials),ดิจิตอลแพลตฟอร์ม (Digital), เทคโนโลยีสะอาด (Cleantech) และ เทคโนโลยีชีวภาพและชีววิทยาศาสตร์ (Life science) เพื่อมุ่งเน้นและแสวงหาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมไทย
สำหรับความร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ บอกว่า เป็นการศึกษาความเป็นได้ในการลงทุนพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ภายในประเทศ โดยเริ่มต้นศึกษาแนวทางและรูปแบบในการดำเนินการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อนำเทคโนโลยีกลับมาใช้ตอบแทนและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
การศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ มีแผนการลงทุนเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมด้วยค่ารักษาพยาบาลที่เหมาะสม และยังมีเป้าหมายในการผลักดันให้การรักษานี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองด้านสุขภาพของหลักประกันสุขภาพภาครัฐและเอกชน
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดในกลุ่มประเทศอาเซียนว่า จะนำไปสู่การพัฒนาด้านการแพทย์และการรักษาในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยกรอบเงินลงทุนผ่าน CVC วางไว้ 30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ใช้ระยะเวลาดำเนินงาน 2 ปี คือ ปี 2561-2562 และอยู่ในกระบวนการขอวงเงินเพิ่มเติมในการลงทุนอีก 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีนี้เพื่อใช้ในการดำเนินงานในปี 2563-2564
ส่วนศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาฯ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ามารับการรักษามากกว่า 4 พันราย โดยมีการติดตามนวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยผู้ป่วย โดยใช้นวัตกรรมการรักษาแบบใหม่ด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
“การที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อครั้งสูงถึงหลักล้านบาท โดยเฉลี่ย dose ละ 200,000 กว่าบาท และในการรักษาหนึ่งครั้งต้องใช้หลาย dose จึงคิดว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์มากกับสังคมไทย”
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ได้ริเริ่มที่จะศึกษาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดขึ้นมาในประเทศไทย โดยมีการพัฒนานวัตกรรมการรักษาด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัดในหลากหลายวิธี ทั้งการรักษาด้วยเทคนิค CAR-T Cell, Therapeutic Antibody และ Cancer Vaccine รวมถึงการพัฒนาการผลิตเกล็ดเลือดเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดที่อยู่ระหว่างรับการรักษา รวมไปถึงการศึกษาความเป็นได้รวมถึงรูปแบบการการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ในการพัฒนาและนำนวัตกรรมไปรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยเซลล์และภูมิคุ้มกันบำบัด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชนในทุกระดับ ในระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 19 ธันวาคม 2562)
จากนั้นจะเป็นพิจารณาการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมการรักษา โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะหลัก คือ ระยะห้องปฏิบัติการและระยะทดสอบกับผู้ป่วย คาดจะใช้เวลา ประมาณ 2 – 5 ปีขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา เป้าหมายเพื่อ เพิ่มโอกาสการรักษา หายกว่าร้อยละ 30 ต่อปี เพิ่มการเข้าถึงของผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ลดต้นทุนการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 50 และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 50
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/medicine.chulalongkornuniversity