เปิดงานวิจัยสร้างสุขชุมชน ปธ.กสม.ชี้อย่าทำแค่ขึ้นหิ้ง
สถาบันวิจัยเพื่อสังคม จุฬาฯ เปิดงานวิจัยสร้างสุขให้สังคม ประธาน กสม. ชี้นักวิจัยต้องปรับวิธีคิดใหม่เอาข้อมูลเดิมมาต่อยอดสู่การปฏิบัติ อย่าทำเป็นรายงานขึ้นหิ้ง ด้านคณะทำงานวาระทางสังคมเสนอรูปธรรมสร้างสุท่ามกลางความขัดแย้งและระบบนิเวศชุมชน
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการ “สร้างสุขเพื่อสังคม” โดย ดร. ม.ร.ว. กัลยา ตังศภัทิย์ รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์บ้านเมืองสลับซับซ้อนเกิดจากปัญหาหลายมิติซ้อนเหลื่อมกัน แม้แต่ในแง่อารมณ์ความรู้สึกของประชาชนก็แบ่งแยกและต่อต้านกันมากขึ้น ปัญหาเหล่านี้อาจต้องอาศัยงานวิจัยทางสังคมเพื่อช่วยสะท้อนปัญหานำสู่กระบวนการจัดทำนโยบายทางสังคมเพื่อเชื่อมฐานปัญญากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยไม่ปล่อยให้เป็นเพียงรายงานหรือเอกสารทางวิชาการที่อยู่บนหอคอยงาช้างไม่เกิดประโยชน์
ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงบทบาทของงานวิจัยในการนำความสุขกลับคืนสู่สังคมว่า โจทย์สำคัญคือต้องไม่ทำเพื่อขึ้นหิ้ง แต่ต้องทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติและนิยมคำว่าความสุขพร้อมตั้งเป้าให้ชัดว่าปลายทางสังคมจะได้อะไร เช่น ชุมชนเข้มแข็ง, ลดความขัดแย้ง, เศรษฐกิจเข้มแข็งมีความเป็นธรรม, สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสมดุล หรือการเป็นสังคมประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล
ดร.อมรา กล่าวต่อไปว่า หากมองตามแนวคิดการพัฒนาแบบเดิมจะพบว่างานวิจัยที่ผ่านมามักไม่สามารถอธิบายหรือลงลึกถึงฐานรากของสังคมได้ทั้งหมด ดังนั้นนักวิจัยควรปรับวิธีคิดให้ลึก กว้าง และมีความเป็นสหวิทยาสามารถข้ามสาขากันได้ จะช่วยให้ตอบคาถมวิจัยได้ครอบคลุมและตรงกับความต้องการของผู้ที่นำไปใช้ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ คือไม่ต้องทำเองหรือคิดใหม่ทั้งหมด แต่นำข้อมูลเดิมที่มีอยู่ไปใช้ต่อยอดสังเคราะห์ร่วมกัน ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก
ทั้งนี้ มีการนำเสนองานวิจัยหัวข้อสร้างสุขในระบบเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยคณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย นางสาวราณี หัสสรังสี กล่าวถึงผลการร่วมศึกษาหาความจริง เสริมสร้างสุขภาวะ กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากหลายฝ่าย ทั้งรัฐบาล เช่น ตำรวจ ทหาร และฝ่ายต่อต้านรัฐขบวนการต่างๆ เช่น กลุ่มอุดมการณ์ และฝ่ายอิทธิพล เช่น กลุ่มค้ายาเสพติด, ค้ามนุษย์, ค้าอาวุธ นอกจากนั้นยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ทำให้พื้นฐานสังคมสั่นคลอน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนถูกทอดทิ้ง ตลอดจนปัญหาสังคมต่างๆ
“ความหวาดกลัวเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างสุขภาวะในพื้นที่ แต่จากการสัมผัสกับวิถีชุมชนทำให้รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วความกลัวนั้นเป็นเชิงปัจเจก เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเองแต่ไปปิดกั้นการช่วยเหลือจากภายนอกและการสร้างทางเลือกใหม่ให้ชุมชน ดังที่มีด๊ะ บางสมาน แม่บ้านที่สะบ้าย้อยพูดกับเราว่าแม้แต่มุสลิมด้วยกันยังไม่มาเยี่ยม ดีใจที่เครือข่ายผู้หญิงไม่กลัวและเดินมาหาเรา”
นางสาวราณี กล่าวต่อไปว่า สันติภาพในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้ไม่หมายถึงการหยุดยิงเท่านั้น แต่ต้องแก้ปัจจัยเงื่อนไขที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง, สร้างพื้นที่ตรวจสอบนโยบายและงบประมาณสาธารณะ เพื่อไม่ให้อุตสาหกรรมความรุนแรงขยายตัว, สนับสนุนส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนโดยใช้วัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นตัวช่วย, ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงและเยาวชน รวมถึงการจัดกิจกรรมเวทีสาธารณะทั้งในพื้นที่เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และเชื่อมกันระหว่างชุมชนกับองค์กรสังคมภายนอก
สำหรับการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข ดร.อุ่นเรือน เล็กน้อย กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และปัญหาที่พบมากคือการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในสังคม โดยเฉพาะชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และจากการศึกษาพบว่าทางออกโดยการใช้เวทีสาธารณะไม่ได้ผลโดยเฉพาะกรณีของโครงการที่มีความขัดแย้งสูง เนื่องจากผู้ที่ครองเวทีเป็นเพียงบางกลุ่มไม่ครอบคลุมผู้เดือดร้อนทั้งหมด
ดังนั้นจึงเสนอเทคนิค 3 แบบ คือ 1.การให้ข้อมูลกับผู้มีส่วนได้ส่วนได้ส่วนเสียต้องกระทำตั้งแต่ขั้นตอนการสำรวจถึงการติดตามและประเมินผลโครงการ 2.กรณีเปิดเวทีต้องเน้นกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นหลัก เพราะเป็นการแสดงถึงความจริงใจและรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจริง และ 3.ควรใช้วิธีตั้งวงสานเสวนาเล็กและหลากหลาย ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยน โดยตั้งกติกาการฟังอย่างมีสติ ผู้จัดกระบวนการมีประสบการณ์และแก้ไขความขัดแย้งอย่างมีศิลปะเพื่อหาฉันทามติสุดท้าย
สำหรับหัวข้องานวิจัยสร้างสุขในระบบนิเวศชุมชน ดร.ศยามล เจริญรัตน์ กล่าวถึงความสุขชุมชนบนความพอเพียง: ตัวชี้วัดการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนว่า จากการศึกษา 3 พื้นที่ใน จ. กาญจนบุรีได้แก่ บ้านห้วยสะพาน บ้านแม่กระบุงและบ้านช่องแคบ ซึ่งแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันในเชิงพื้นที่ แต่พบปัญหาหลักคล้ายกันคือความยากจน ขาดแคลนหรือเข้าไม่ถึงบริการและทรัพยากรของรัฐ ซึ่งภายหลังการมีป่าชุมชนทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์โดยใช้ทุนทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีเป็นกุศโลบายในการอนุรักษ์ป่า
“วิถีชุมชนที่เกี่ยวกับป่าจะมีกฎเกณฑ์ที่ชุมชนตั้งขึ้น และไม่ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่า และล่าสัตว์ ดังนั้นกิจกรรมการเก็บของป่าที่ไม่ใช่การตัดไม้จึงเป็นกิจกรรมหลักของชุมชนในการใช้ชีวิตที่ลดการพึ่งพาจากภายนอกชุมชน พูดง่ายๆ คือคำตอบของความสุขที่ชาวบ้านพอใจคือการใช้ป่าบนฐานพอเพียง”
ดร.เอนกพล เกื้อมา นำเสนอเรื่องขยะสร้าง “สุข” จากโรงเรียนสู่ชุมชนว่า จากการถอดบทเรียนโครงการขยะธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียน จำนวน 40 แห่ง พบว่าโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีผู้บริหารและบุคลากรสนับสนุน โดยมีปัจจัยส่งเสริมเป็นชุมชน ผู้นำชุมชน หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล
“เด็กคนหนึ่งบอกว่าหนูเห็นขวดน้ำที่ไหน กระโจนใส่เลยครับ บางทีไม่ทันเพื่อนเอาไปก่อน ต้องนั่งจอง สนุกด้วย ได้เงินด้วย แต่เราเห็นว่าความสุขที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่นี้ เพราะเขานำไปต่อยอดกิจกรรมอื่นๆ ในชุมชน โดยใช้เครือข่ายจาก “ขยะ”เป็นตัวเชื่อม” ดร.เอนกพล กล่าว