ย้อนบทเรียนเครนถล่ม ‘นายกสภาวิศวกร’ แนะสนง.เขต เข้มงวด พบประมาท ‘ขึ้นบัญชีดำ’
ย้อนบทเรียนอุบัติเหตุเครนถล่มครั้งใหญ่ พื้นที่ กทม. เกิดขึ้นมาแล้ว 5 เหตุการณ์ รอบ 4 ปี ‘นายกสภาวิศวกร’ แนะทางแก้ไข สนง.เขต เข้มงวด ขยันตรวจสอบ เอาจริงก่อสร้างไม่รับผิดชอบ อบรมคนขับเครน มีใบรับรอง พบประมาทให้ Black List
อุบัติเหตุเครน (ปั้นจั่น) ก่อสร้างต่อเติมคอนโดมีเนียมปรับเป็นโรงแรมริเวอร์ การ์เดน ของบริษัท ริเวอร์ การ์เด้น จำกัด มีนายวรพล อุดมโชคปีติ เป็นผู้จัดการโครงการ ถล่มใส่หลังคาโรงเรียนอัสสัมชัน คอนแวนต์ จนทำให้มีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ 10 ราย หนึ่งในนั้นอาการสาหัสกะโหลกร้าว
เฉพาะกรณีการก่อสร้างโรงแรม ริเวอร์ การ์เดน แห่งนี้ เคยเกิดอุบัติเหตุเครนถล่มมาแล้วก่อนหน้าถึง 4 ครั้ง และครั้งล่าสุด เป็นครั้งที่ 5 ทั้งที่สำนักงานเขตบางรักออกคำสั่งระงับการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2562 แต่กลับพบยังมีการลักลอบดำเนินงานอยู่
ทำให้เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 19 มิ.ย. 2562 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามคำสั่งย้ายหัวหน้าฝ่ายโยธาเขตบางรักออกจากพื้นที่ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. เป็นต้นไป เหตุปล่อยปละให้มีการลักลอบก่อสร้างผิดกฎหมาย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ
(อ่านประกอบ:ไม่ใช่ครั้งแรก- กทม.ย้ายหน.ฝ่ายโยธาเขตบางรัก หลังเครนหล่นใส่หลังคา ร.ร.อัสสัมชัญฯ)
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น! ย้อนกลับไปในอดีต มีอุบัติเหตุเครนถล่มอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งตามรายงานของวิศวกรรมสถานเเห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีมากถึง 20 ครั้ง ตลอด 2 ปีที่่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบข้อมูลอุบัติเหตุดังกล่าวที่ถูกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่โต มีประมาณ 5 ครั้ง ดังต่อไปนี้
23 ม.ค. 2562 เกิดเหตุเครนก่อสร้างและทรุดตัวของอาคาร ภายในถนนพระราม 3 ซอย 45 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บสาหัส 2 ราย
โดยอาคารดังกล่าวกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ซึ่งจากการตรวจสอบในพื้นที่ของสภาวิศวร พบว่า เครนมีสภาพเก่าและไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนั้น นายสุทัศน์ รุจิณรงค์ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา ระบุถึงข้อสงสัยว่า การติดตั้งเครนก่อสร้างต้องอนุญาตหรือไม่ ตามหนังสือการหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2549 เรื่องการติดตั้งเครนขนส่งวัสดุใช้ในการก่อสร้าง
สรุป คือ เครนไม่ใช่อาคาร เป็นเพียงอุปกรณ์ก่อสร้าง จึงไม่มีกฎหมายบังคับขออนุญาต แต่ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเท่านั้น
30 ส.ค. 2561 เกิดเหตุเครนถล่มขณะก่อสร้างคอนโดมิเนียม The Rise Rama9 ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
โดยจากการสอบสวนภายหลังเกิดเหตุ ทราบว่า ผู้เสียชีวิตขับเครนยกของ โดยกำลังยกแผ่นปูนสำเร็จรูป แต่ปรากฎว่าแผ่นปูนดังกล่าวกลับติดอยู่ใต้ชั้น 8 ทำให้เครนเอียงตัวและหักลงไป
28 เม.ย. 2560 เกิดเหตุเครนถล่มหล่นทับคนงาน ซึ่งเป็นของบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เหตุครั้งนั้นเป็นการก่อสร้างในส่วนของ Support Launcher ที่ติดตั้งอยู่บนเสา กท.24+402 หน้าโรงเรียนวัดดอนเมือง ถ.กำแพงเพชร 6 เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ มีสาเหตุเบื้องต้นจากอุปกรณ์โยงยึดขาด
29 พ.ย. 2559 เกิดเหตุรถเครนขนาดใหญ่ล้มทับคนงาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย
โดยเป็นการก่อสร้างโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ย่านถนนพระราม 9 ใกล้โรงพยาบาลปิยะเวท สาเหตุเกิดจากสลักที่ยึดตัวเครนหลุดออก
“ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” นายกสภาวิศวกร โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กถึงข้อแนะนำวิธีการแก้ไข หลังเกิดเหตุครั้งล่าสุดว่า จะต้องเข้มงวดกับเรื่องความปลอดภัยบริเวณก่อสร้าง ทุกสำนักงานเขตของกรุงเทพฯ ต้องขยันตรวจสอบ เอาจริงกับการทำการก่อสร้างแบบไร้ความรับผิดชอบ และต้องพักการก่อสร้างไปพลางก่อน จนกว่าจะแก้ไขให้ได้มาตรฐาน
ขณะที่ผู้ขับเครนส่วนใหญ่ มักขับได้อย่างเดียว แต่อาจไม่มีความเข้าใจเรื่องความปลอดภัย จึงต้องได้รับการอบรม ผ่านกระบวนการฝึกฝนที่ได้มาตรฐาน มีใบรับรอง เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ทำกัน เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของโครงการ ต้องรับผิดชอบ!
ส่วนกรุงเทพฯ จะต้องหามาตรการเด็ดขาด หากมีเหตุจากความประมาทแบบนี้ ต้อง Black List หรือคาดโทษ ไม่ให้ได้ใบอนุญาตก่อสร้างในโครงการอื่นในกทม. เป็นเวลากี่ปี ตามความเหมาะสม เป็นธรรม ทำให้เกรงกลัวโทษ ต้องดูแลมาตรฐานความปลอดภัยให้ได้มาตรฐาน
จากเหตุการณ์ทั้งหมดอย่างน้อย 5 ครั้ง รวมอุบัติเหตุเครนถล่มใส่หลังคาโรงเรียนอัสสัมชัน คอนแวนต์ สะท้อนให้เห็นว่า การเข้มงวดเกี่ยวกับความปลอดภัยในเขตก่อสร้างยังหละหลวม ทั้งในเรื่องอุปกรณ์ก่อสร้าง และความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัย ฉะนั้นจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ทั้งผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/