เปิดผลศึกษา สตง.ว่าด้วยผลกระทบการกำหนดเงื่อนไขโชว์รายได้ 'ที่ปรึกษา' ในระบบ e-GP
"...การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ที่ปรึกษาแต่ละรายแสดงข้อมูลตามข้อ 4.9 (1) นั้น มีผลทำให้ ที่ปรึกษาที่ไม่ต้องการแสดงข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการ เป็นเหตุให้มีที่ปรึกษาเข้ายื่นข้อเสนอแต่ละโครงการน้อยราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน..."
การกำหนดเงื่อนไขให้ที่ปรึกษาที่จะเข้าร่วมการแข่งขันจ้างงานในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ จะต้องแสดงข้อมูลรายได้พื้นฐาน พร้อมแนบหลักฐานในเอกสารประกาศเชิญชวนงานจ้างที่ปรึกษา ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic GovernmentProcurement : e-GP) กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ศึกษาพบว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว อาจทำให้เกิดความสับสนในการพิจารณาเอกสารหลักฐานในการยื่นข้อเสนอของที่ปรึกษาว่าจะพิจารณาตาม TOR หรือตามประกาศเชิญชวน รวมถึงอาจทำให้มีที่ปรึกษาเข้ายื่นข้อเสนอแต่ละโครงการน้อยราย (งานจ้างที่ปรึกษา ตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ.2560 หมายถึง งานจ้างบริการจากบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือแนะนำแก่หน่วยงานของรัฐในด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรม ผังเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเงิน การคลัง สิ่งแวตล้อม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม การศึกษาวิจัย หรือด้านอื่นที่ อยู่ในภารกิจของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐ) ล่าสุด สตง. ได้มีหนังสือแจ้งผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะ ถึงกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไปแล้ว
โดย นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สตง. เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง. โดยสำนักวิจัย ได้ศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการกำหนดให้บริษัทที่ปรึกษาเปิดเผยรายได้บุคคล แก่ผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาข้อกฎหมาย ข้อมูลการจัดจ้างที่ปรึกษา การสัมภาษณ์หน่วยงานของรัฐผู้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษา ตลอดจนความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติงาน ในกระบวนการจัดจ้างที่ปรึกษาที่หน่วยงานของรัฐต้องถือปฏิบัติ
พบว่า เอกสารประกาศเชิญชวนงานจ้าง ที่ปรึกษาในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Procurement: e-GP) ที่กรมบัญชีกลางจัดทำขึ้นให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นมา มีข้อกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อ 4.9 (1) ที่จะส่งผลกระทบในทางปฏิบัติ หลายประการ
โดยข้อเสนอด้านเทคนิค ข้อ 4.9 (1) กำหนดให้ที่ปรึกษาแต่ละรายจะต้องแสดงข้อมูลรายได้พื้นฐาน (Basic Salary) พร้อมแนบเอกสารหลักฐานหรือเอกสารอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เช่น สำเนาหลักฐาน การจ่ายเงินเดือน หรือค่าตอบแทนที่เคยได้รับจากต้นสังกัด (Payment Slip) หรือหลักฐานการยื่นชำระภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรที่สามารถแสดงความเป็นพนักงานประจำของนิติบุคคล หรือใบรับรองหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น เพื่อสามารถยืนยันได้ว่าอัตราค่าจ้างของที่ปรึกษาแต่ละรายที่ได้เสนอในโครงการนี้ มีความเหมาะสมกับคุณวุฒิ และความรู้ความสามารถของที่ปรึกษาแต่ละรายแล้ว และสอดคล้องกับแนวทางการใช้อัตราเงินเดือนพื้นฐาน ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0907/12725 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษา
รายงานการศึกษาของ สตง. ระบุว่า การที่กรมบัญชีกลางกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาอัตราค่าจ้างของที่ปรึกษานั้น มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของหน่วยของรัฐ ดังนี้
1. ข้อกำหนดขอบเขตของงาน (TOR) กับประกาศที่เผยแพร่มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เอกสารประกาศเชิญชวนงานจ้างที่ปรึกษาในระบบ e-GP มีข้อความเพิ่มเติมตามข้อ 4.9 (1) ทำให้คณะกรรมการพิจารณาผลเกิดความสับสนในการพิจารณาเอกสารหลักฐานการยื่นข้อเสนอของที่ปรึกษา ว่าจะพิจารณาตาม TOR หรือพิจารณาตามประกาศ ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา พบว่า ที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติผ่านการคัดเลือก ก็มิได้แสดง Payment Slip หรือหลักฐานการยื่นชำระภาษีเงินได้ต่อกรมสรรพากรที่สามารถแสดงความเป็นพนักงานประจำของนิติบุคคล หรือใบรับรอง หักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากการพิจารณาผลใช้ TOR เป็นเกณฑ์
2. การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ที่ปรึกษาแต่ละรายแสดงข้อมูลตามข้อ 4.9 (1) นั้น มีผลทำให้ ที่ปรึกษาที่ไม่ต้องการแสดงข้อมูลส่วนบุคคล ไม่เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการ เป็นเหตุให้มีที่ปรึกษาเข้ายื่นข้อเสนอแต่ละโครงการน้อยราย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน
3. เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ระบบ e-GP มีปัญหาขัดข้องในระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ข้อจำกัดขนาดความจุของระบบ การกำหนดวันยื่นข้อเสนอ การติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลางเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ปัญหา เป็นต้น ทำให้มีการยกเลิกการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหลายครั้งในแต่ละโครงการ
ล่าสุด สตง. ได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมบัญชีกลาง ในฐานะองค์กรสนับสนุนดูแลการจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. เห็นควรซักซ้อมความเข้าใจกับหน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว กรณีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ และการกำหนดเงื่อนไขที่ต้องมีข้อกำหนดที่ถูกต้องตรงกันของข้อกำหนดใน TOR และประกาศเชิญชวน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการพิจารณาผล เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และเกิดการแข่งขันในการเสนอราคาของผู้เข้าร่วมเสนอราคาทุกราย รวมถึงการสร้างความเข้าใจให้แก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบ e-GP ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบ e-GP เป็นศูนย์กลางข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ถูกต้อง ครบถ้วน ลดความผิดพลาดในการปฏิบัติตามระเบียบ ลดความซ้ำซ้อนในการบันทึกข้อมูล รวมถึงเป็นฐานข้อมูลสำหรับฝ่ายบริหารที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์และติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้เกิดประสิทธิผล ตลอดจนการวิเคราะห์ให้เกิดข้อมูลสารสนเทศและองค์ความรู้ในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐต่อไป
2. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจ้างที่ปรึกษา มาประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางการซักซ้อมความเข้าใจกับที่ปรึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับการจัดซื้อจัดจ้างต่อหน่วยงานของรัฐ และให้การดำเนินการเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว
3. การติดตามผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ จากการศึกษาพบว่ายังมีหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโดยยังไม่ดำเนินการผ่านระบบ e-GP ทั้งที่กรมบัญชีกลางเริ่มให้ใช้งานวิธีประกาศ เชิญชวนทั่วไปสำหรับการจ้างที่ปรึกษาในระบบ e-GP ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 โดยได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว จึงเห็นควรมีการติดตามผลการดำเนินงานว่าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยได้เข้าใช้งานในระบบแล้วหรือไม่ ส่วนที่ยังไม่ดำเนินการเนื่องจากติดขัดหรือมีปัญหาอุปสรรคในเรื่องใด เพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ส่วนผลการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ จะเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบเรื่องจาก Daily News