‘อาเซียนซัมมิท’ กับความเป็นไปได้ ‘วาระด่วน’ ยับยั้งขยะข้ามพรมแดน
เปิดข้อมูลขยะข้ามพรมเเดน หวั่นไม่เร่งจัดการ มีโอกาส 111 ล้านตัน ถูกขนย้ายมาทิ้งในอาเซียน ภายในปี 2573 ด้านกลุ่มเครือข่ายปกป้องสิทธิสิ่งเเวดล้อมของชุมชนบรรจุเป็นวาระเร่งด่วน ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34
วันที่ 20-23 มิ.ย. 2562 ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ซึ่งมีวาระการพิจารณาเร่งด่วน 2 เรื่อง คือ มลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน และมลพิษพลาสติกทางทะเล
ในขณะที่ประเด็น “การค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งกำลังเป็นปัญหาในภูมิภาค กลับไม่ถูกบรรจุไว้ในการพิจารณาเร่งด่วนในการประชุมครั้งนี้ ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายปกป้องสิทธิสิ่งแวดล้อมของชุมชน นำโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ปัญหาการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคอาเซียนมีมาอย่างต่อเนื่อง กรณีล่าสุด คือ ฟิลิปปินส์ส่งตู้คอนเทนเนอร์ขยะพลาสติกคุณภาพต่ำ 69 ตู้ กลับแคนาดา ซึ่งนับเป็นชาติล่าสุดในเอเชียที่นำขยะอันตรายคืนประเทศต้นทาง
ล่าสุด มีงานศึกษา เรื่อง ต่อกรการค้าขยะพลาสติกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเทศสมาชิกอาเซียน) จัดทำโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุสถิติระหว่างปี 2559-2561 พบว่า มีการนำเข้าขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียนเติบโตถึง 171% จาก 836,529 ตัน เป็น 2,265,962 ตัน หรือเทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ
ขยะทั้งหมดที่ถูกนำเข้ามา ถูกติดป้ายผิดว่า “รีไซเคิลได้” ทั้งที่วัสดุเหล่านั้นประกอบด้วยพลาสติกปนเปื้อนและขยะอื่น ๆ
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ส่งออกขยะรายใหญ่ที่สุด ส่งออกลดลงจากปี 2560 ราว 3 ล้านตัน ลดลง 38% และที่ผ่านมา 89% ของขยะนำเข้า ประกอบด้วย พลาสติกกลุ่มพอลิเมอร์ที่มักใช้ในบรรจุภัณฑ์อาหารใช้ครั้งเดียวทิ้ง (โพลีเอทิลีน, โพลีโพรพีลีน และโพลีเอทิลีน เทเรทาเลท)
โดยมีการประมาณการณ์ว่า นโยบายใหม่ของจีนที่หยุดรับพลาสติกรีไซเคิล และอื่น ๆ จะทำให้ขยะพลาสติก 111 ล้านตันถูกเคลื่อนย้ายไปยังแหล่งอื่นภายในปี 2573
งานวิจัยของกรีนพีซฯ นำเสนออีกว่า มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นเป้าหมายแรกของขยะพลาสติก เมื่อผู้นำเข้า มองหาทางเลือกล่วงหน้าก่อนการห้ามนำเข้าของประเทศจีนในปี 2560 มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม กลางปี 2561 ประเทศเหล่านี้ได้สร้างกฎหมายข้อบังคับของตนเองขึ้น ทำให้การนำเข้าขยะพลาสติกทั่วโลกจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น จึงเปลี่ยนเส้นทางไปยังอินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และตุรกี
ใน 6 เดือนแรกของปี 2560 สหรัฐอเมริกาส่งขยะพลาสติกมาประเทศไทยมากกว่า 4,000 ตัน
เช่นเดียวกับมาเลเซียที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยเพิ่มขึ้น 27% เป็น 157,299 ตัน เวียดนามเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็น 71,220 ตัน
ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2561 อาเซียนต้องพบกับการนำเข้าขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้น ถึง 166 % จาก 836,529 ตัน ในปี 2559 เป็น 2,231,127 ตัน ในปี 2561
เมื่อดูการจัดการขยะในภูมิอาเซียน กลับพบว่า ไม่สามารถจัดการด้วยตนเองได้ ข้อค้นพบหนึ่งจากรายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP, 2560) เรื่องการจัดการขยะในอาเซียน แสดงให้เห็นว่าการผลิตขยะกำลังเพิ่มขึ้น ในบรรดากลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน พบขยะมูลฝอยชุมชนมีพลาสติก 10-18%
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมอาเซียนผลิตขยะมูลฝอยชุมชน 1.14 กก./คน/วัน
อินโดนีเซียเป็นประเทศผลิตขยะมูลฝอยชุมชนสูงสุด 64 ล้านตัน/ปี รองลงมา คือ ไทย (26.77 ล้านตัน/ปี) เวียดนาม (22 ล้านตัน/ปี) ฟิลิปปินส์ (14.66 ล้านตัน/ปี) มาเลเซีย (12.84 ล้านตัน/ปี) สิงคโปร์ (7.5 ล้านตัน/ปี) เมียนมาร์ (0.84 ล้านตัน/ปี ) และลาวผลิตขยะมูลฝอย ชุมชนต่ำสุดที่ 0.07 ล้านตัน/ปี
ส่วนขยะอินทรีย์ มีการประมาณหรือมากกว่า 50% มีสัดส่วนสูงสุดในบรรดาขยะมูลฝอยชุมชนในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ยกเว้น สิงคโปร์ที่มีขยะอินทรีย์เพียง 10.5% ของขยะมูลฝอยชุมชนเท่านั้น ขยะอื่นๆ ที่มักพบเห็นในกองขยะมูลฝอยชุมชนทั่วไป คือ พลาสติก กระดาษ และโลหะ
ภายหลังการไหลบ่าขยะพลาสติกจากต่างประเทศ ทำให้สมาชิกอาเซียนต่างออกมาตรการต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ไทยประกาศเจตนารมย์ห้ามนำเข้าขยะพลาสติกภายในปี 2564 ส่วนมาเลเซียและเวียดนามยุติการออกใบอนุญาตใหม่ในการนำเข้าขยะพลาสติก
ด้านองค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นในอินโดนีเซียเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าขยะพลาสติกและกระดาษ ซึ่งสถิติแสดงให้เห็นว่าการนำเข้าขยะพลาสติกและกระดาษเพิ่มขึ้น 14% หรือ 283,152 ตัน
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกอันดับต้นที่ทำการค้าขยะกับอาเซียน 5 อันดับต้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 439,129 ตัน ญี่ปุ่น 430,064 ตัน เขตบริหารพิเศษ ฮ่องกง 149,516 ตัน เยอรมนี 136,034 ตัน และสหราชอาณาจักร 112,046 ตัน ผู้ส่งออกสูงสุดอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย 74,906 ตัน และออสเตรเลีย 51,057 ตัน
ข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมด พิสูจน์ให้เห็นชัดว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ จะมีโอกาสสูงที่ภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็น “ถังขยะโลก” ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นต้องลงมืออย่างเร่งด่วนและใช้แนวทางเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อยับยั้งขยะข้ามพรมแดนเหล่านี้
มิฉะนั้น ภายในปี 2573 ขยะพลาสติก 111 ล้านตัน จะไม่มีที่ไป
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ จึงมีข้อเรียกร้องให้เวทีประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 จำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นวาระเร่งด่วน หรืออย่างน้อยเป็นวาระพูดคุยถกกันในวงย่อย .
[ล้อมกรอบ]
ข้อเสนอเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนกอบกู้วิกฤตมลพิษพลาสติก
1.ประเทศสมาชิกอาเซียนทำงานร่วมกันเพื่อบังคับใช้การห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ในระดับภูมิภาค รวมถึงกากของเสียที่นำเข้ามาในนามของการ “รีไซเคิล” โดยรับรองว่าประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดจะให้สัตยาบันในข้อแก้ไขการห้ามส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซล (Basel Ban Amendment) เพื่อป้องกันการเล็ดลอดข้ามพรมแดนของกากของเสียอันตราย
2.สร้างนโยบายระดับภูมิภาคแบบองค์รวมที่มุ่งสู่การลดการผลิตผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างมีนัยสำคัญและเอื้อให้เกิดนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำและระบบทางเลือกในการจัดส่งและกระจายสินค้า
3.ผลักดันกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีความยั่งยืนและเป็นธรรมบนพื้นฐานของแนวทางขยะเหลือศูนย์ (zero waste)ที่ปกป้องสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภูมิภาคอาเซียนสามารถพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ต้องพึ่งพาแบบแผนการถลุงใช้ทรัพยากร การผลิต การบริโภคและการเกิดของเสียอย่างไร้ขีดจำกัด .
อ่านประกอบ:กรีนพีซฯ จี้บรรจุ "ค้าขยะพลาสติก-อิเล็กทรอนิกส์"วาระด่วน ประชุมสุดยอดอาเซียน (คลิป)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/