ภาคประชาสังคมหนุนแก้ พ.ร.บ.ป้องกันฯ ปี 50 สอดคล้องภัยพิบัติ-ปชช.มีส่วนร่วม
ภาคประชาสังคมหนุนเเก้ พ.ร.บ.ป้องกันเเละบรรเทาสาธารณภัย ปี 2550 ให้สอดคล้องสถานการณ์ภัยพิบัติ ลดความเสี่ยง ปชช.มีส่วนร่วม เผยหลายจังหวัดมีเเผนเผชิญเหตุ เกิดจริงกลับไม่ได้ใช้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เวทีสัมมนาวิชาการ "บทเรียนภัยพิบัติประเทศไทย สู่การปรับปรุงนโยบายกฎหมาย ” ณ โรงแรมไมด้า แอร์พอร์ต ดอนเมือง กทม.
นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภัยพิบัติมีมากขึ้นและถี่ขึ้น รุนแรงส่งผลกระทบเกิดความเสียหายในวงกว้าง ท้องถิ่นมีความหลากหลายทางภัยไม่สามาถที่จะใช้รูปแบบเดียวในการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรรมการส่วนกลางสนับสนุนได้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยในระดับท้องถิ่น และส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ
“มีเจตนารมณ์จะปรับปรุง แก้ไข พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ ให้สามารถลดความเสี่ยง สร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง” ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าว
ด้านนาย พิสิษฐ์ วงศ์เธียรธนา นิติกรชำนาญการพิเศษ กรมป้องและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ปัจจุบันกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของสิทธิ ความเป็นอยู่ และการให้ความช่วยเหลือในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ดังนั้นสาระสำคัญในกฏหมายป้องกันฯ ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เน้นแค่ในเรื่องของการช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นเพิ่มเติมในด้านการเตรียมความพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติ
ขณะที่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การแก้กฎหมายที่จะให้อำนาจในการจัดการภัยพิบัติมาอยู่ในภาคประชาชนและชุมชนเป็นสิ่งที่เห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องของผู้ประสบภัยเป็นหลัก เนื่องจากตนเองเคยลงพื้นที่ไปเจอสถานการณ์ที่ภาคใต้ในกรณีสึนามิพบว่า คนอีสานส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือเท่าเทียมกับคนภาคใต้ทั้ งนี้เพื่อที่จะยกระดับการจัดการภัยพิบัติให้สากลควรที่จะช่วยเหลือมนุษย์ทุกคน
“ หลายจังหวัดส่วนใหญ่มีแผนเผชิญภัยพิบัติของตัวเอง อย่างเช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ประสบปัญหาเรื่องอุทกภัย และ ดินโคลนถล่ม แต่ก็ไม่เคยนำแผนการมาปฏิบัติจริง”
ส่วนในเรื่องโครงสร้างที่จะนำภาคประชาชนเข้าไป อาจารย์ ม.มหาสารคาม กล่าวต่อว่า ถ้าหากมีการปรับโครงสร้างแล้วนำภาคประชาชนเข้าไปในส่วนของแผนการอาจจะทำให้เกิดการกระตุ้นซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดแผนการในรูปแบบนั้นออกมาเพื่อที่จะได้เห็นภัยพิบัติจริง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/