กทม.เดินหน้านำ 'สายสื่อสารลงใต้ดิน' มุ่งสู่การเป็นเมืองไร้สายรองรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล
กทม.เดินหน้านำ 'สายสื่อสารลงใต้ดิน' มุ่งสู่การเป็นเมืองไร้สายรองรับโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคม 4.0 เริ่มขุดเจาะก.ค.62 ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน
วันที่ 18 มิ.ย.62 เวลา 10.00 น. พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ โครงการส่งเสริมพัฒนาและกำหนดแนวทางการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมเปิดโครงการก่อสร้างโครงข่ายท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หน่วยงานด้านสาธารณูปโภคผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้า เดอะสตรีท ถนนรัชดาภิเษก
พลตำรวจเอก กล่าวว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมกราคม 2562 ให้กทม.เป็นเจ้าภาพดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กทม.ได้ประชุมหารือกับ กสทช. เพื่อเตรียมความพร้อมแผนงาน รวมถึงมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งได้ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยกทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างและขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างและวางท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัด และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ ลงใต้ดิน รวม 2,450 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี โดยไม่กระทบผิวจราจร รวมมูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ
ขณะนี้การดำเนินงานอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น พร้อมทั้งประสานข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณูปโภค เพื่อทราบตำแหน่งของท่อสาธารณูปโภคใต้ดินเดิมที่มีอยู่ รวมถึงสำรวจสาธารณูปโภคใต้ดินและสิ่งกีดขวางอื่นๆ ใต้ผิวทางเท้าที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานเพิ่มเติม โดยใช้ระบบเรดาร์บนบาทวิถีที่ระดับความลึก 8 เมตร จากนั้นจะมีการออกแบบและวางแผนเพื่อขุดเจาะวางท่อร้อยขนาดเล็กใต้ดินด้วยเทคโนโลยีไมโครดัก (Micro duct) โดยมีวิธีการก่อสร้าง 2 รูปแบบ คือ 1.การก่อสร้างแบบเจาะลากท่อ Horizontal Directional Drill (HDD) และ 2.การก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน Open Cut (Semi-Direct-Burial) ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ขุดเจาะเปิดหน้าดินน้อย และช่วยประหยัดพื้นที่
สำหรับโครงการนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน ประกอบด้วย
พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร นำร่องที่จะดำเนินการบริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 - ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตร
พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กิโลเมตร
พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร และพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร
ทั้งนี้ กทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี
ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและกำกับดูแลการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาเห็นชอบ รวมถึงกำกับและดูแลการใช้พื้นที่หรือทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครในการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตกรุงเทพมหานครให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคาดว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งอนาตที่มีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อการสื่อสารและโทรคมนาคมที่รองรับการเป็น Smart City ที่มีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบ ปลอดภัย ทันสมัย เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ต่อไป