ดาว จับมือเครือข่าย PPP Plastic สานต่อภารกิจจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
ดาว จับมือภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐและเอกชน PPP Plastic แถลงความก้าวหน้าครบรอบ 1 ปี พร้อม ร่วมประกาศเจตนารมณ์สานต่อภารกิจจัดการ-พลาสติกและขยะในปีที่ 2 ชูแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน circular economy มุ่งให้ความรู้สังคมเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกให้ผู้บริโภคสามารถแยกขยะจากต้นทาง เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ในปี 2570
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ประกาศยืนยันเจตนารมณ์ในนามของ ดาว ในงานแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ร่วมกับองค์กรภายใต้ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน หรือ PPP Plastic ว่า ดาว จะร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการผลักดันและส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยจะสนับสนุนให้มีการผลิตนวัตกรรมพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้มากขึ้น และใช้ปริมาณพลาสติกน้อยลง เพื่อบรรลุเป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ได้ทั้งหมด รวมถึงจะร่วมมือกับภาคการศึกษา ภาคสังคม และภาคชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเข้าใจถึงวิธีการจัดการขยะและคัดแยกขยะ รวมถึงขยะพลาสติก และสร้างค่านิยมให้คนไทยเป็นผู้บริโภคที่มีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการจัดการแยกขยะจากต้นทางด้วยตัวเอง
“ผมเชื่อว่าถ้าพวกเราทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน เราจะสามารถสร้าง blue print ที่ช่วยจัดการขยะได้อย่างยั่งยืนสำหรับประเทศไทย” นายฉัตรชัยกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่ม PPP Plastic (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) ก่อตั้งขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD - Thailand Business Council for Sustainable Development) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ กว่า 20 องค์กร โดย ดาว เป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มองค์กรที่ร่วมผลักดันก่อตั้งภาคี PPP Plastic ขึ้น โดยถือเอาวันสิ่งแวดล้อมโลก เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 หรือเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา เป็นวันเปิดตัวความร่วมมือภายใต้ภาคีดังกล่าว
โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ภาคีเครือข่าย PPP Plastic ได้ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันโครงการฯ จนสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 หรือ roadmap การจัดการขยะพลาสติก ซึ่งมีเป้าหมายการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 100% ในปี 2570 และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบร่าง roadmap ดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรอบและทิศทางให้ทุกฝ่ายนำไปใช้อ้างอิงใน การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกของประเทศต่อไป
นอกจาก ดาว แล้ว ยังมีพันธมิตรอีกกว่า 18 องค์กรที่ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ PPP Plastic ปี 2 โดยให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนและผลักดันการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พันธมิตรในโครงการ PPP Plastic ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม อาทิ กรุงเทพมหานคร กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันพลาสติก กระทรวงอุตสาหกรรม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สภาอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเอกชนผู้ประกอบการหลายองค์กร
นายฉัตรชัยกล่าวว่า ดาว ได้ดำเนินการบริหารจัดการพลาสติกภายใต้โครงการ PPP Plastic ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยในปีแรก ได้ดำเนินการหลายโครงการที่นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยส่งเสริมการรีไซเคิลพลาสติกให้มากขึ้น เช่น ได้ร่วมกับ SCG พัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการนำพลาสติกมาเป็นส่วนผสมของถนนยางมะตอย (asphalt) อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาขยะพลาสติกโดยการใช้เทคโนโลยีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องประกอบกันไปด้วยอีก 2 แนวทางที่สำคัญ คือ การสร้าง infrastructure หรือ โครงสร้างพื้นฐานในการคัดแยกขยะ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้รู้จักการคัดแยกขยะด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทาง
“เราต้องส่งเสริมให้ทุกคนเข้าใจว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยกันในการจัดการปัญหาขยะพลาสติกได้ ถ้ามีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ พลาสติกที่จะกลับมารีไซเคิลจะมีมากขึ้น รีไซเคิลได้มากขึ้น และง่ายขึ้น”
ทั้งนี้ ดาว มีแนวทางในการดำเนินการจัดการขยะพลาสติกภายใต้โครงการ PPP Plastic ปีที่ 2 ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ จะมุ่งเน้นให้ความรู้แก่สังคมและชุมชนเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้รู้จักการคัดแยกขยะจากต้นทางด้วยตนเอง โดยมีแนวทางที่จะนำเรื่องการจัดการพลาสติกไปสื่อสารเข้าไปในสถานศึกษาทั้งในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนเข้าใจถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นจากตัวเอง
“ขณะนี้ เรากำลังร่วมมือกับ PPP Plastic และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกรวบรวมเอกสารเพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรที่ชัดเจน เพื่อนำเข้าไปสื่อสารในสถานศึกษา โดยอาจจะเริ่มจากโรงเรียนก่อน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และปลูกฝังให้เด็ก ๆ สามารถจัดการแยกขยะในโรงเรียนได้ จากนั้นแล้วเด็กๆ สามารถ กลับไปบ้าน พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ และจัดการคัดแยกขยะที่บ้าน ถ้าเด็ก ๆ เริ่มทำ ผู้ใหญ่ก็จะเริ่มทำตามได้เช่นกัน”
สำหรับแนวทางการจัดการพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแนวทางที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นวิธีแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นระบบจากจัดการของเสียจากการผลิตและการบริโภคด้วยการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่ระบบการผลิตใหม่ (re-material) หรือนำมาใช้ซ้ำ (re-use) แต่การที่จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนประสบผลสำเร็จ จะต้องสร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติกอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกทางทะเลมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยปัจจุบันมีขยะพลาสติกราว 2 ล้านตัน แต่ในจำนวนนี้ สามารถนำมารีไซเคิลได้เพียง 0.5 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ยังใช้วิธีฝังกลบซึ่งเสี่ยงต่อการหลุดรอดสู่ทะเล อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความร่วมมือภายใต้ภาคี PPP Plastic เพื่อแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนขึ้น จึงได้มีการตั้งเป้าหมายจะลดขยะทางทะเลลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2570