นพ.วิฑูรย์แนะบังคับหมอเลือกอยู่รัฐหรือเอกชน-รพ.ขอนแก่นเสนอบทเรียนความผิดพลาด
ศ.นพ.วิฑูรย์แนะบังคับไม่ให้หมอเหยียบเรือสองแคม บอกรัฐเงินเดือนน้อยแต่พลาดองค์กรช่วยได้ ขอนแก่นโมเดลนำเสนอบทเรียนความผิดพลาด-แก้ปัญหาด้วยความจริงใจ เวทีถกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขเสนอเพิ่มค่าตอบแทนวิชาชีพ-ให้แพทยสภาพัฒนาเน้นจรรยาบรรณหมอ เตรียมเสนอฉันทามติให้ รมว.สธ.
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จัดประชุมสภาปฏิรูประบบบริการสาธารณะสุข กรณี(ร่าง) พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณะสุข พ.ศ. ..... ณ โรงแรมทีเค.พาเลซ กรุงเทพ ศ.นพ.วิทูรย์ อึ้งประพันธ์ ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาพิเศษว่าปัจจุบันมีการคุ้มครองเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการรักษาโดยบัตรทองเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงสิทธิดังกล่าว ดังนัน พ.ร.บ. ฉบับนี้จะลดความเหลื่อมล้ำโดยทำให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันโดยไม่ต้องเสียเวลาฟ้องร้อง พร้อมทั้งเสนอแนวคิดให้แยกผู้ให้บริการด้านสาธารณสุขภาคราชการออกจากเอกชน จะทำให้ประชาชนมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น
“เราต้องออกข้อบังคับให้หมอเลือกว่าจะทำงานกับ รพ.รัฐหรือเอกชน เพราะถ้าทำงานเอกชนด้วยรัฐด้วย ตกเย็นที่ รพ.รัฐก็ไม่มีหมอแล้วเพราะไปอยู่เอกชนหมด ถึงแม้เงินเดือนราชการจะน้อยกว่าแต่ถ้ามีการเรียกร้องค่าเสียหายรัฐเป็นผู้จ่ายให้ ซึ่งถ้าเป็นเอกชนหมอต้องจ่ายเอง ตรงนี้น่าจะทำให้ รพ.รัฐมีหมอเพียงพอต่อความต้องการ”
ในเวทียังมีการนำเสนอ “บทเรียนขอนแก่นโมเดล” กรณีความผิดพลาดในการผ่าตัดต้อกระจกผู้ป่วย 25 รายของ รพ.ขอนแก่น ทำให้มีผู้สูญเสียการมองเห็น 11 ราย กรณีศึกษาจากโมเดลนี้คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งพยาบาลที่เชี่ยวชาญการแก้ปัญหาความขัดแย้งและเจรจาไกล่เกลี่ยลงไปพูดคุยกับผู้เสียหาย โดยใช้หลักการฟังอย่างตั้งใจ และขอโทษอย่างแท้จริง ส่งผลให้เกิดการเยียวยาด้วยจิตใจพร้อมจ่ายค่าชดเชยที่เหมาะสม และให้คำมั่นสัญญาว่าโรงพยาบาลยินดีจะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ทุกคนอย่างดีที่สุด จนทำให้ความเจ็บปวดทั้งกายและใจของผู้สูญเสียดวงตาและญาติบรรเทาลง และให้อภัยในความผิดพลาดของโรงพยาบาล
นอกจากนี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังเป็นประธานรับมอบฉันทามติจากการระดมความคิดเห็นในประเด็นสำคัญของ(ร่าง)พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายฯ ได้แก่ ต้องการให้พัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายด้านสาธารณสุข ทั้งบุคคล สถานบริการ ทั้งในเรื่องเทคนิคและกระบวนการ ทั้งนี้ด้านบุคลากรการแพทย์ควรให้ความสนใจผู้ป่วยและคนไข้มากขึ้น ในส่วนของข้อเท็จริงและข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น ขั้นตอนการซักประวัติเพื่อวินิจฉัยโรค อีกทั้งมีการเสนอให้เพิ่มบุคลากรด้านสาธารณสุข เนื่องจากสถานบริการบางแห่งมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้เพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรการแพทย์ให้เหมาะสมกับวิชาชีพ พร้อมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการให้บริการของสถายพบาบาลในช่วงวันหยุดและนอกเวลาราชการ ซึ่งควรทำให้เป็นระบบ อาทิ การเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำให้การรักษาเกิดความเท่าเทียมกัน การระมัดระวังเรื่องความสะอาดของผู้ปฏิบัติการ และยังต้องการให้แพทยสภาพัฒนาหลักสูตรให้มีเน้นจรรยาบรรณจริยธรรมของแพทย์ควบคู่กับการรักษาอีกด้วย
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยกับโต๊ะข่าวเพื่อชุมชนว่า หลังจากสรุปฉันทามติเสร็จเรียบร้อยแล้วจะส่งมอบให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขต่อไป ซึ่งคาดว่าภายใน 2 อาทิตย์นี้.