เมื่อผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต. ถูกร้องเรียนวิ่งเต้นตำแหน่ง-อยู่บ้านให้คนอื่นเขียนรายงานแทน?
"...กระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งบางจังหวัดไม่มีความเหมาะสม เพราะมีการวิ่งเต้นเกิดขึ้น เพื่อหวังจะได้รับผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนมากมายจากการเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งดังกล่าว ...การรายงานผลปฏิบัติงานบางจังหวัดให้ กกต. ไม่มีการตรวจสอบปฏิบัติงานจริง ผู้ตรวจการเลือกตั้งบางรายนั่งอยู่กับบ้าน แล้วให้คนอื่นเขียนรายงานแทน ซึ่งไม่มีใครกล้าทักท้วง แม้จะรู้ว่าผลการทำงานนั้นไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับ..."
การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง และการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ในการจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งออกเป็นจังหวัดละ 5 คน ใน 77 จังหวัด รวม 385 คนทั่วประเทศ กำลังถูกจับตามอง
เมื่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับแจ้งหนังสือร้องเรียนการทำงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ของกกต. ว่ามีปัญหาความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติงานจำนวนมาก ทั้งการวิ่งเต้นชิงตำแหน่ง และการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่คุ้มค่ากับเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่รัฐจ่ายตอบแทนให้
โดยในหนังสือร้องเรียนระบุว่า พบเห็นปัญหาการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ของกกต. ดังนี้
1.กระบวนการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งบางจังหวัดไม่มีความเหมาะสม เพราะมีการวิ่งเต้นเกิดขึ้น เพื่อหวังจะได้รับผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนมากมายจากการเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งดังกล่าว
2.การรายงานผลปฏิบัติงานบางจังหวัดให้ กกต. ไม่มีการตรวจสอบปฏิบัติงานจริง ผู้ตรวจการเลือกตั้งบางรายนั่งอยู่กับบ้าน แล้วให้คนอื่นเขียนรายงานแทน ซึ่งไม่มีใครกล้าทักท้วง แม้จะรู้ว่าผลการทำงานนั้นไม่คุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับ
3.การเบิกจ่ายค่าตอบแทนของผู้ตรวจการเลือกตั้งบางจังหวัดทั้ง ผอ. กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้งจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกันเอง แต่ปรากฎว่าไม่มีใครกล้าทำเนื่องจาก ผอ.กกต.จังหวัดและผู้ตรวจการเลือกตั้งมีการเอื้อประโยชน์กันอยู่
ในหนังสือร้องเรียน ยังระบุรายละเอียดค่าตอบแทนผู้ตรวจการเลือกตั้งได้รับ ว่า มีการกำหนดค่าตอบแทนเบิกจ่ายให้กับผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้งประเทศ 127,435,000 บาท
แยกเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้
- ค่าตอบแทนรายเดือน แบ่งออกเป็นค่าผู้ตรวจการเลือกตั้งคนละ 50,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 100,000 บาทและค่าตอบแทนเลขาคนละ 15,000 บาท รวม 2 เดือน 30,000 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยงรายวันแบ่งออกเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงผู้ตรวจการเลือกตั้งวันละ 400 บาท รวม 2 เดือน อยู่ที่ 24,000 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเลขาวันละ 250 บาท รวม 2 เดือนอยู่ที่ 15,000 บาท
- ค่าที่พักแบ่งออกเป็นค่าที่พักของผู้ตรวจการเลือกตั้ง วันละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน รวม 60,000 บาท ค่าที่พักของเลขาวันละ 700 บาท รวม 2 เดือน 42,000 บาท
- ค่าพาหนะของผู้ตรวจการเลือกตั้งวันละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน รวม 60,000 บาท
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ติดต่อไปยัง กกต.เพื่อขอให้ชี้แจงข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งบางจังหวัดดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ กกต. รายหนึ่ง ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศราว่า การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ผ่านมา จะมีการตั้งคณะกรรมการออกไปตรวจสอบการทำงานในหลายระดับ มี ผอ.กกต.จังหวัดเป็นผู้ประเมินคะแนน จากนั้นจะส่งข้อมูลไปยังคณะกรรมการ กกต.ในรายภาคเพื่อประเมินผลคะแนนอีกทีหนึ่ง ก่อนที่จะส่งผลคะแนนทั้งหมดไปยังเลขาธิการ กกต.
"เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งบางจังหวัด ที่สำนักข่าวอิศราได้รับการร้องเรียนมา คงจะต้องมีการนำไปหารือกับ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. อีกครั้งว่าดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป" เจ้าหน้าที่ กกต.ระบุ
อนึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)จัดทำขึ้น
โดยเป็นการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ตรวจการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ อาทิ คณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 8 คน ซึ่งมีตัวแทนองค์กรเอกชนและตัวแทนสภาองค์กรชุมนุมของแต่ละจังหวัดรวมอยู่ด้วย ส่วนคณะกรรมการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดของกรุงเทพมหานคร จะมีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 8 คน ซึ่งมีตัวแทนองค์กรเอกชนและตัวแทนสภาองค์กรชุมนุมของกรุงเทพมหานครรวมอยู่ด้วยเช่นกัน
โดยภายหลังปิดรับสมัครจะต้องคัดเลือกผู้สมัครให้เหลือ 16 คนภายใน 3 วัน โดยวิธีลงคะแนนลับ จากนั้นให้ผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เสนอต่อเลขาธิการ กกต.ภายใน 15 วัน ก่อนเสนอให้ คณะกรรมการ กกต.คัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจังหวัดละ 8 คน โดยในช่วงที่มีการเลือกตั้ง กกต.จะคัดผู้ตรวจการเลือกตั้งตามจำนวนที่กำหนดจากเขตเลือกตั้งแต่ละจังหวัด โดยจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขต 5 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขต 6 คน จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขต 7 คน และ จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตขึ้นไป 8 คน โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีผู้ตรวจการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้ง 2 คน นอกนั้นเป็นผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้ง โดยรายชื่อที่แต่งตั้งจะมาจากการจับสลาก
ขณะที่คุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้งที่น่าสนใจ อาทิ ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันสมัคร มีความเป็นกลางทางการเมือง ต้องไม่เป็นข้าราชการที่มีเงินเดือนประจำ หรือพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลา 5 ปี ก่อนการแต่งตั้ง โดยมีเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยไม่ช้ากว่า 15 วัน แต่ไม่เร็วกว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด
ทั้งนี้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ หาก กกต.พบเห็นการกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีส่วนเกี่ยวข้อง กกต.สามารถมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ นอกจากนั้นผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดสามารถสรรหาและแต่งตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงานให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ 1 คนต่อ 1 ตำแหน่ง โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีค่าตอบแทน 50,000 บาทต่อเดือนที่ปฏิบัติหน้าที่ ค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาทต่อวัน ค่าที่พัก 1,500 บาทต่อวัน ค่าพาหนะ1,000 บาทต่อวัน ส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งในจังหวัด สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จะได้ค่าเสี่ยงภัยเพิ่ม 3,750-5,000 บาทต่อเดือน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/