ผจก.วิทยุจุฬาฯ เสนอคุมกำเนิดวิทยุชุมชน-ให้ความรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพระหว่างรอ กสทช.
ผจก.วิทยุจุฬาฯ ชี้วิทยุชุมชนมีมากไป ควบคุมยาก 6 พันกว่าคลื่นมีแท้แค่ 200 เสนอสร้างคุณภาพแทนปริมาณ ระหว่างรอ พ.ร.บ.คลื่น ต้องให้ความรู้ชุมชน แกนนำแม่วางเล่าประสบการณ์วิทยุชุมชนแท้ ทุกอย่างเกิดจากความต้องการในพื้นที่ ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์กับวิถีชาวบ้าน
นางสาวสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน ถึงสถานการณ์วิทยุชุมชนในประเทศไทยว่า โดยภาพรวมปัจจุบันมีวิทยุชุมชนมากถึง 6,521 คลื่น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้จดแจ้งขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ 2551 จึงมีปัญหาในการดูแลให้ทั่วถึง ทั้งนี้มีวิทยุชุมชนที่ทำโดยชุมชนเพื่อประโยชน์ชุมชนโดยไม่แสวงกำไรไม่ถึง 200 คลื่น ที่เหลือเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและใหญ่ที่แฝงตัวขยายเครือข่ายเพื่อหวังผลทางธุรกิจ นอกจากนี้บุคลากรคุณภาพที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการจัดรายการวิทยุ พร้อมกับมีจิตวิญญาณความรับผิดชอบต่อสังคม ยังมีอยู่น้อยมาก
“เรื่องคุณภาพวัดยาก อาจต้องมีเครื่องมือบางอย่างและลงทุนสูง เช่น งานวิจัยต่างๆ เพราะฉะนั้นถ้าถามตอนนี้ว่าวิทยุชุมชนมีคุณภาพหรือไม่ คือมันมีมากเกินกว่าจะแยกแยะว่าอะไรที่มีคุณภาพหรือไม่มี”
ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากความไม่ชัดเจนของนโยบาย หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ให้ข้อมูลที่ชัดแจ้งว่าในการจัดตั้งวิทยุชุมชนต้องมีอะไร ทำอย่างไร หลักเกณฑ์ข้อบังคับใดบ้าง อีกทั้งยังไม่มีผู้รับผิดชอบเข้ามากำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจาก พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมยังติดขัดในชั้นพิจารณากฎหมาย ทำให้คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)ยังเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ประเด็นนี้ไม่ควรนำมาเป็นข้ออ้างที่ทำให้วิทยุขาดการเหลียวแล
“หากผู้รับผิดชอบมีความจริงใจ เชื่อว่ามีนักวิชาการหลายท่านยินดีอุทิศตนให้ความรู้การทำวิทยุชุมชน และถ้ารู้ชัดเจนถึงจำนวนที่ควรมี วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นอย่างไร การเป็นนักจัดรายการวิทยุต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และจะถูกกำกับแบบใดบ้าง เชื่อว่าจำนวนจะน้อยลงไปเองโดยอัตโนมัติ”
นางสาวสุวรรณา ยังกล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวุฒิสภามีการแก้ไขในสาระสำคัญอันนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ของภาคประชาชนและนักวิชาการ ซื่งอาจต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมมาพิจารณาใหม่ ทั้งนี้กฏหมายฉบับดังกล่าวที่จะออกมาจะมีผลต่อการพัฒนาวิทยุชุมชนมาก เพราะจะทำให้มีผู้รับผิดชอบเข้ามาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ จัดหมวดหมู่ประเภทและคอยตรวจสอบวิทยุชนให้เป็นไปตามกฏกติกาที่วางไว้
“เราพูดกันแต่การใช้ประโยชน์คลื่นความถี่ ทั้งที่ไม่มีผู้รับผิดชอบมานานเกินไปแล้ว ไม่ว่าร่างนี้จะอิงประโยชน์ฝ่ายไหนหรือไม่ แต่คิดว่ามีออกมาใช้ยังดีกว่าไม่มี ซึ่งถ้ามีข้อบกพร่องอย่างไรต่อไป สังคมจะเป็นผู้สะท้อนผลกระทบนั้นกลับมาและนำสู่การแก้ไขในอนาคตเอง”
ผู้จัดการสถานีวิทยุจุฬาฯ กล่าวอีกว่า วิทยุชุมชนที่แท้จริงและมีคุณภาพคือช่องทางการสื่อสารของคนในชุมชน และเป็นพื้นที่สำหรับคนรากหญ้าที่จะสื่อสารเรื่องราวของตนให้สาธารณะรับรู้ ทั้งนี้ทิศทางการพัฒนาที่สำคัญของวิทยุชุมชนคือ 1.การผลักดันให้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บังคับใช้เป็นกฎหมายโดยเร็ว 2.สรรหาคณะกรรมการ กสทช.ในกรอบเวลาที่รวดเร็วเพื่อมาดูแลวิทยุชุมชน ซึ่งเป็นทรัพยากรการสื่อสารที่มีมูลค่ามหาศาลและเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ 3.ระหว่างรอ กสทช.ต้องให้ความรู้ชุมชนในการทำวิทยุอย่างรอบด้าน ทั้งวิธีการทำงาน งบประมาณ ระบบการจัดการที่ถูกต้อง เนื้อสาระหรือผังรายการ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณและสร้างคุณภาพของวิทยุชุมชนได้
“ส่วนประเด็นการปฏิรูปสื่อ หากรัฐไม่ถือครองสื่อมากเกินความจำเป็น สื่อเองก็คงพร้อมโดยอัตโนมัติที่จะถูกจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ โดยมีเครื่องมือบางอย่างชี้วัดความเหมาะสม อยู่ที่ว่าจริงใจหรือไม่”
นางหน่อย กันฑ์ปัญญา จากวิทยุชุมชนแม่วาง จ.เชียงใหม่ สะท้อนรูปธรรมความสำเร็จการจัดการวิทยุชุมชนในพื้นที่ว่า จุดเด่นคือการส่งเสริมการเรียนรู้ สอดแทรกวัฒนธรรม ศาสนา ครอบครัว สุขภาพหรือประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ โดยเน้นความสัมพันธ์ของคนในชุมชน
“อย่างเรื่องง่ายๆ เช่น สมุนไพรขอบรั้วเราก็นำมาเสนอ คนในชุมชนที่ต้องไปพึ่งแต่โรงพยาบาล ก็หันมาใส่ใจดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆมากขึ้น หรือแม้กระทั่งการสื่อสารระหว่างคนบนดอยกับคนด้านล่าง วิทยุชุมชนตรงก็เป็นสื่อทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันมากขึ้น”
แกนนำวิทยุชุมชนแม่วาง กล่าวว่า เนื้อหาการนำเสนอและผังรายการเกิดจากความต้องการของคนในหมู่บ้าน มีทั้งสาระและบันเทิง ดำเนินการแบบอิสระแต่ต้องเคารพกติกาเคร่งครัด คือห้ามโฆษณาเด็ดขาดเพราะนี่คือวิทยุชุมชน ส่วนนักจัดรายการทุกคนล้วนทำงานประจำ แต่ใช้เวลาว่างและความสนใจเข้ามาทำงานวิทยุชนแบบอาสา โดยไม่ได้ค่าจ้าง
“ทำไมต้องสื่อชุมชน เพราะตัวเราเป็นชุมชน การฟังวิทยุเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน หน้าที่ของเราคือการให้ความรู้และเป็นสื่อปัญหาของชุมชน รวมทั้งนำประสบการณ์จากที่ต่างๆมาบอกเล่า เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชีวิตชาวบ้าน” นางหน่อย กล่าว .