พอช.-สถาบันอิศรา จับมือผู้นำสภาองค์กรชุมชนตะวันออก ยกระดับการสื่อสาร
สื่อมวลชนยืนยันไม่ได้มุ่งเสนอแต่ข่าวร้าย ยังมีพื้นที่ให้เรื่องราวดีๆจากท้องถิ่น นักวิชาการแนะชุมชนต้องออกแบบการสื่อสารเป็น ผู้นำสภาองค์กรชุมชน 12 จว.ตะวันออกนำเสนอทิศทางร่วม ต้านโครงการส่งผลกระทบท้องถิ่น ดันสภาองค์กรชุมชนสู่ขบวนปฏิรูปประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์สภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ“เพิ่มขีดความสามารถในการสื่อสารของผู้นำชุมชน(ภาคตะวันออก)” โดยการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย มีผู้นำสภาองค์กรชุมชนตำบลภาคกลางและตะวันออก 12 จังหวัดกว่า 40 คนเข้าร่วม ณ แมกไม้รีสอร์ท จ.ระยอง โดยมีนายแฉล้ม ทรัพย์มูล ประธานที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนเป็นประธาน นายชาติชาย เหลืองเจริญ แกนนำสภาองค์กรชุมชนภาคตะวันออกกล่าวเปิดสัมมนา
นายแฉล้ม กล่าวว่านับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบล 3 ปีที่ผ่านมามีการจดแจ้งและตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลไม่ถึง 2,000 แห่ง ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นต้องช่วยกันหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร และต้องพัฒนากลไกการสื่อสารเพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนขบวนทั้งระดับจังหวัดและระดับภาค พร้อมๆกับเพิ่มทักษะการสื่อสารของผู้นำ เพื่อให้สังคมเข้าใจบทบาทหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาฐานราก
นางอุดมศรี ศิริลักษณาพร หัวหน้าส่วนประชาสัมพันธ์ พอช. กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจดตั้งสภาองค์กรชุมชน 1,700 แห่ง มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องกว่า 40,000 คน วัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ต้องการให้ผู้นำสภาองค์กรชุมชนเพิ่มขีดความสามารถการสื่อสาร โดยหวังว่าระยะยาวจะสามารถวางแผนการสื่อสารเพื่อพัฒนางานได้ ทั้งนี้การสื่อสารงานสภาองค์กรชุมชนออกสู่สาธารณะจะประสบความสำเร็จได้ ต้องสร้างและนำเสนอรูปธรรมการทำงานที่ชัดเจนด้วย เช่น การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน หรือการพัฒนาในประเด็นงานต่างๆที่ขับเคลื่อนโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละพื้นที่
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความมุ่งหมายการอบรมว่าต้องการให้ผู้นำชุมชนเข้าใจการทำหน้าที่ของ สื่อสารมวลชน เข้าใจกระบวนการสื่อสารทั้งในชุมชนเอง และการสื่อสารกับสาธารณะ รวมถึงรู้จักช่องทางการติดต่อสื่อสารเพื่อเผยแพร่ประเด็นข่าวจากท้องถิ่นสู่สังคมได้มากขึ้น
ช่วงอภิปราย“ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของสื่อมวลชน” มี น.ส.สุวรรณา รักษาสุข ผู้จัดการสถานีวิทยุแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายเสด็จ บุนนาค บรรณาธิการข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์คมชัดลึก และนายณรงค์ สุทธิรักษ์ อดีตบรรณาธิการบริหารสถานีโทรทัศน์ที.เอ็น.เอ็น.เป็นวิทยากร
นายเสด็จ กล่าวว่า การคัดเลือกข่าวในท้องถิ่นนำเสนอสู่สาธารณะนั้น ไม่ได้เน้นประเด็นความขัดแย้งหรือข่าวเชิงลบตามที่คนทั่วไปรู้สึกเท่านั้น แต่ยังเน้นข่าวที่เป็นประโยชน์กับคนอ่านและสังคมด้วย คือสื่อหนังสือพิมพ์ยังมีพื้นที่นำเสนอเรื่องราวดีๆของชุมชนอออกสู่สาธารณะ เช่น สิ่งที่ชุมชนริเริ่มทำร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องดีๆที่จุดกระแสให้ชุมชนอื่นทำตาม ไม่ใช่มีแต่งานพิธีประเพณีเดิมๆในแต่ละปี แต่เป็นเรื่องใหม่ๆที่สร้างสรรค์ จุดประกายให้สังคม
น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนควรวางแผนการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญที่สุดร่วมกันให้ได้ก่อนว่าต้องการจะสื่อสารประเด็นอะไรออกมาให้สังคมรับรู้ และไม่ใช่เพียงนำเสนอแต่กรณีปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น แต่ต้องสื่อสารให้สังคมรู้จักภาพรวมของสภาองค์กรชุมชนด้วย ทั้งนี้วิทยุชุมชนเป็นช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงชุมชน มีความรวดเร็วและสื่อออกไปได้กว้างขวาง ปัจจุบันมีสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศกว่า 6,521 แห่ง ดังนั้นหากนำสื่อวิทยุมาใช้จะเป็นประโยชน์ในการสื่อสารประชาสัมพันธ์งานสภาองค์กรชุมชนมาก
นายณรงค์ กล่าวว่า ข่าวชุมชนที่จะออกโทรทัศน์ซึ่งมีเวลานำเสนอจำกัดได้นั้น ต้องมีการจัดโครงเรื่องที่ดีเป็นลำดับแรก และต้องมีประเด็นข่าวที่ชัดเจนกระชับ มีแหล่งข่าวที่น่าสนใจ ทั้งนี้ผู้นำชุมชนมีบทบาทอย่างมากที่จะทำให้การสื่อสารเรื่องราวท้องถิ่นประสบความสำเร็จ
ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวถึง “ความจำเป็นของการสื่อสารเพื่อพัฒนาชุมชน” ว่าการสื่อสารช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันของผู้ปฏิบัติงานและสังคม สภาองค์กรชุมชนควรสร้างการสื่อสารสองทางคือส่งผ่านข้อมูลข่าวสารในชุมชนออกสู่สังคม และรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสังคมที่สะท้อนกลับมาด้วย โดยกระบวนการสื่อสารควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ต้องการให้ความรู้เรื่องนั้นๆต่อสังคม หรือต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระทำ ซึ่งต้องเลือกช่องทางและประเภทของสื่อให้เหมาะสมด้วย รวมทั้งเลือกเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสารกับท้องถิ่นหรือสังคม สุดท้ายต้องออกแบบการสื่อสารที่เหมาะสมและได้สมดุลทั้งการสื่อสารทางเดียวและสองทาง การสื่อสารแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ในการสัมมนากลุ่มย่อยเพื่อฝึกทักษะและออกแบบกระบวนการสื่อสาร ผู้นำสภาองค์กรชุมชน 12 จังหวัดได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจในการขับเคลื่อนงานร่วมกันต่อไป เช่น 1.ให้สร้างนิติกรชุมชนหรือทนายความชาวบ้าน เพื่อช่วยตีความทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน 2.ร่วมต่อต้านโครงการอุตสาหกรรมหนักหรือโครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน สร้างพื้นที่สีเขียวคืนให้ท้องถิ่น 3.ผลักดันประเด็นงานปฏิรูปประเทศไทยร่วมกัน และจัดสมัชชาสภาองค์กรชุมชนเพื่อขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และ 4.ปรับโครงสร้างท้องถิ่นให้สภาองค์กรชุมชนสามารถร่วมปฏิรูปประเทศได้ โดยกำหนดให้ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน 2 คนเข้าร่วมกับคณะกรรมการทำงานของ อปท. .