HAND FOR HEROES รวมมือเรา หนุนการทำงาน 'ผู้พิทักษ์ป่า'
มูลนิธิเอสซีจี จับมือพันธมิตร เดินหน้า HAND FOR HEROES รวมมือเรา เพื่อคนเฝ้าป่า หนุนการทำงานของ 'ผู้พิทักษ์' 2 หมื่นชีวิต รักษาทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ 102 ไร่
‘ผู้พิทักษ์ป่า’ เปรียบได้กับ ‘ทีมอเวนเจอร์’
โดยเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ทำหน้าที่ปกป้องโลกจากหายนะที่เกิดจากธานอส ในขณะที่ผู้พิทักษ์ป่าทำหน้าที่ปกป้องสมบัติทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมของโลกให้อยู่อย่างยั่งยืน
ภาระอันหนักอึ้งเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 20,000 คน กับผืนป่าราว 102 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เท่ากับว่า ผู้พิทักษ์ป่า 1 คน ต้องดูแลพื้นที่ป่า 5,100 ไร่ ใช้ระยะเวลาทำงานในการลาดตระเวนอยู่ในป่า 15-20 วัน/เดือน เดินไม่น้อยกว่า 10 กิโลเมตร
ด้วยบทบาทการทำงานในฐานะนักลาดตระเวน ป้องปราม สำรวจวิจัย และสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับป่า ถือเป็นความเสียสละเพื่อประโยชน์ของประเทศและส่วนรวม แน่นอนว่า พวกเขาย่อมเป็นห่วงคนในครอบครัว โดยเฉพาะบุตร ซึ่งเป็นดังแก้วตาดวงใจ ทำให้มูลนิธิเอสซีจี เข้ามาสนับสนุนทุนการศึกษาจากโครงการ Sharing the Dream Scholarship ให้แก่บุตรธิดาของผู้พิทักษ์ป่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 500 ทุน
นอกจากนี้ ปี พ.ศ. 2561 มูลนิธิฯ ยังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ร่วมกันขยายความร่วมมือดังกล่าว กลายเป็นโครงการ “HAND FOR HEROES รวมมือเรา เพื่อคนเฝ้าป่า” ซึ่งรายได้จากการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย นำไปจัดซื้ออุปกรณ์จำเป็นในการลาดตระเวนมอบให้ผู้พิทักษ์ป่า ได้แก่ ชุดเครื่องแบบลายพราง รองเท้าเดินป่า เป้เดินป่า กระติกน้ำพกพาแบบกรองน้ำได้ เปลสนามแบบมีมุ้ง และผ้ากันน้ำ (ฟลายชีท)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ประสงค์ขอรับอุปกรณ์ลาดตระเวนในพื้นที่ขาดแคลน จำนวน 3,635 คน แบ่งเป็น สังกัดสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า 1,442 คน สำนักอุทยานแห่งชาติ 1,808 คน และสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า 385 คน
"เชาวลิต เอกบุตร" กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี บอกเล่าความสำเร็จในการดำเนินงาน HAND FOR HEROES ปีที่ผ่านมา ระบุการพิทักษ์ป่าเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ หนักหน่วง ของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 20,000 คน ซึ่งหากดูเฉพาะจำนวนคน อาจดูเยอะ แต่พอดูไปถึงพื้นที่รับผิดชอบ ยังนึกไม่ออกว่า จะเหน็ดเหนื่อยขนาดไหนในการเข้าไปทำหน้าที่นั้น ดังนั้น จึงคิดหาทางช่วยเหลือ ซึ่งการเข้าพื้นที่ เราทำไม่ได้ แต่งานที่เราทำได้ คือ จัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานผู้ทักษ์ป่า และมอบทุนการศึกษาให้บุตรหลาน ซึ่งเป็นอีกทางหนึ่งให้ผู้พิทักษ์ป่าหมดห่วง ไม่จำเป็นต้องมานั่งกังวลกับครอบครัว เพราะมีคนเข้ามาช่วยเหลือแล้ว
“ปี พ.ศ. 2561 มีกิจกรรมร่วมกับพันธมิตร สามารถหารายได้รวมทั้งสิ้น 3.7 ล้านบาท โดยมอบให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยไม่หักค่าใช้จ่าย นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการซื้ออุปกรณ์ลาดตระเวน จำนวน 3,635 ชุด”
ส่วนปี พ.ศ. 2562 กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มี 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ “RUN for Heroes” วิ่งเพื่อผู้พิทักษ์ป่า จัดขึ้นวันเสาร์ ที่ 6 ก.ค. 2562 เวลา 05.30-10.00 น. ณ สวนพุทธมณฑล จ.นครปฐม แบ่งการวิ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. Scout 5 KM. ราคา 600 บาท 2. Mini Ranger 10 KM. ราคา 700 บาท 3. Ranger 21 KM. ราคา 800 บาท
สำหรับผู้ที่ต้องการสมทบทุนเพิ่มเติมยังมี VIP (BIB เลขสวย) ราคา 2,000 บาท ซึ่งการวิ่งทุกระยะจะได้รับเสื้อเเละเหรียญที่ระลึก นักวิ่งและผู้สนใจสมัครได้ที่ https://www.runlah.com/events/c/rfh19 หรือ โทร. 081-818-6155, 065-992-7397
เชาวลิต ยังกล่าวว่า กิจกรรมที่สอง คือ “Trail for Heroes” วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2562 เวลา 05.30 - 10.00 น. ณ อุทยานแห่งชาติปางสีดา จังหวัดสระแก้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
"ธัญญา เนติธรรมกุล" อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมฯ ได้จัดตั้งมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชน รวมถึงสื่อมวลชน ปัจจุบันมีเงินทั้งสิ้นราว 10 ล้านบาท
เขาเห็นว่า แม้การดำเนินงานที่ผ่านมาประสบความสำเร็จ จับกุมผู้ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่าได้ แต่หากเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 1 ราย ถือว่าภารกิจนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์แล้ว จะต้องมีการเยียวยาต่อไป
“ผู้พิทักษ์ป่าทุกคนรับรู้ว่า โครงการนี้ได้ร้อยเรียงหัวใจด้วยความห่วงใยที่มอบให้ผู้พิทักษ์ป่าทุกคน ซึ่งจะเป็นแรงใจและพลังอันยิ่งใหญ่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและให้สัญญาว่า แม้งานดูแลผืนป่าจะเป็นงานหนักหนาสาหัส เสี่ยงอันตรายมากเพียงใด เราทุกคนพร้อมทำอย่างเต็มความสามารถ เพราะรู้ว่าทรัพยากรธรรมชาติสำคัญต่อสังคม” อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้คำสัญญา
“ดำเนิน ยอดติ่ง” หัวหน้าชุดปฏิบัติการไฟป่า ประจำศูนย์ปฏิบัติการไฟป่า จ.เชียงราย หนึ่งผู้พิทักษ์ป่า มาในชุดสีดำ ผ้าพันคอสีแดง ทำหน้าที่ดับไฟป่าและสนับสนุนกำลังด้านอื่น ๆ บอกเล่าประสบการณ์ว่า การดับไฟป่า ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน เพราะการดับไฟในพื้นที่แต่ละครั้งจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ พื้นที่ภูมิประเทศชันหรือไม่ เชื้อเพลิงหนาหรือไม่ สภาพอากาศปิดหรือไม่
"บางครั้งไฟไหม้จะมีลมมาทันที ลมจะทำให้พฤติกรรมไฟแปรปรวน ทำให้กำหนดเวลาไม่ได้ เชน ภูเขา หากมีลมกระแทก เปลวไฟจะแปร ลูกไฟข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง บางครั้งเจ้าหน้าที่ต้องระวังที่สุด ขณะที่ปีนี้ไม่มีเจ้าหน้าที่ไฟป่าได้รับบาดเจ็บ มีเพียงอาสาสมัครเท่านั้น เนื่องจากอาจขาดประสบการณ์ แต่ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต" หัวหน้าชุดฯ กล่าว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/