เร่งเครื่องขึ้นรูป BCG แพคเกจ ระดมเครือข่ายถอดบทเรียนรูปแบบพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก
เร่งเครื่องขึ้นรูป BCG แพคเกจ ระดมเครือข่ายถอดบทเรียนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พร้อมขยายผลสู่การออกแบบมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม เน้นชุมชนและท้องถิ่นต้องได้รับประโยชน์โดยตรง
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การจัดทำมาตรการ BCG เพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ระดมโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Base of Pyramid) มาถ่ายทอดบทเรียน เร่งรวบรวมข้อมูล ทุกด้านขยายผลสู่การออกแบบมาตรการเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมการลงทุน รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวกการ สอวช. กล่าวว่า หลังจากที่ สอวช. ได้รับมอบหมายให้จัดทำสมุดปกขาวการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปสร้างรายได้ให้กับประชากรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพ 16.5 ล้านคน และสร้างรายได้ให้กับประเทศ 4.3 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 25 ของ GDP ภายใน 5 ปีข้างหน้า โดยจะต้องคำนึงถึงสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและการกระจายรายได้
ทั้งนี้ การพัฒนาจะมุ่งไปที่ 4 กลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ เกษตรอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและเคมีชีวภาพ และการท่องเที่ยว โดย สอวช. ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมถึงหน่วยงานอิสระได้ดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบาย BCG หลายด้าน อาทิ มหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่นได้จัดทำข้อเสนอโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มนำองค์ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการหรือชุมชนในพื้นที่ (BCG rDI Platform) งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม Thailand 4.0 เห็นชอบในหลักการ และอยู่ระหว่างขอความเห็นจากสำนักงบประมาณ, คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Hub) เพื่อส่งเสริมการลงทุนเชิงพื้นที่, กรมการแพทย์แผนไทยจัดทำสมุดปกขาว Herbs in BCG และ สอวช. เองอยู่ระหว่างการศึกษาเชิงนโยบายเพื่อกำหนดประเด็นการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม ตลอดจนข้อเสนอแนะการพัฒนาระบบนิเวศน์เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
ดร. กิติพงค์ กล่าวอีกว่า เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย BCG เห็นผลเป็นรูปธรรม สอวช. ได้มีแผนการดำเนินงานจัดทำกลุ่มมาตรการ (Policy Package) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ในลักษณะเดียวกันกับมาตรการ EEC ที่บูรณาการเครื่องมือและมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐมาส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหรือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม โดยชุมชนและท้องถิ่นจะต้องได้รับประโยชน์โดยตรง ซึ่งจะเริ่มจากกลุ่มเกษตรและท่องเที่ยวก่อน และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการระดับชาติ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
“ที่ผ่านมาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือมูลนิธิต่าง ๆ มีรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ประสบความสำเร็จ (success model) สามารถนำเทคโนโลยีไปช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกรอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางในการออกแบบมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนหรือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม สอวช. จึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรที่ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากมานำเสนอโมเดลที่ประสบความสำเร็จ เช่น เกษตรแปลงใหญ่และสินเชื่อ XYZ ปุ๋ยสั่งตัดและคลินิกดิน ระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำแก่เกษตรกรรายย่อย ทุนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาพื้นที่ งานวิจัยพื้นที่อ่าวปัตตานี การพัฒนาพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวบ้านแม่กำปอง สามพรานโมเดล รวมถึง 1 ตำบล 1 อาชีพ มาร่วมหารือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนให้ข้อคิดเห็นต่อการออกแบบนโยบาย BCG เพื่อที่จะได้ถอดบทเรียนและหาแนวทางการขยายผล ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบกลุ่มมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับความเห็นของที่ประชุม ได้เสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่น่าสนใจหลายประเด็น โดยล้วนถอดมาจากบทเรียนและอุปสรรคที่เจอระหว่างการทำงาน และเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไข อาทิ ควรส่งเสริมให้เกิดการทำงานในรูปแบบสหกรณ์ที่ทำหน้าที่มากกว่าการให้สินเชื่อ แต่ต้องมีการบริหารจัดการเชิงระบบตลอดห่วงโซ่อุปทานและมีการจัดการที่มีธรรมาภิบาล อีกทั้งต้องทำให้เครือข่ายหรือสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมีความรับผิดชอบในเรื่องที่ทำร่วมกัน โดยรายได้บางส่วนของกลุ่มต้องกลับคืนไปเป็นสวัสดิการชุมชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในด้านของการออกแบบนโยบาย สอวช. จะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาวิเคราะห์ ก่อนขยายผลต่อในเชิงนโยบาย ซึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คือ การสร้างความเข้มแข็ง (empowerment) ให้คนในชุมชนสามารถคิดต่อยอดได้เองจากทุนหรือจุดแข็งที่แต่ละพื้นที่มี และทั้งหมดต้องอยู่บนฐานความต้องการของคนภายในชุมชนเอง ซึ่งเป็นวิธีการตามแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 คือ “การระเบิดจากข้างใน” ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์มากกว่าการให้เปล่าหรือการสนับสนุนตามความต้องการของหน่วยงานสนับสนุน ดังนั้น ในส่วนของมาตรการหรือการลงทุนของภาครัฐเองจะต้องไม่ใช่การกำหนดจากบนลงล่าง แต่ควรสนับสนุนให้เกิดกระบวนการสร้างความเข้มแข็งตามนิยามที่คนในชุมชนกำหนดเอง และเปิดกว้างให้กับรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ โดยอาจพัฒนาระบบแรงจูงใจ เช่น การตั้งเป็นเกณฑ์สำหรับการของบประมาณหรือโครงการ เกณฑ์การขอรับทุนวิจัย หรือเกณฑ์ในการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ อาจต้องพัฒนาระบบ “ผู้ช่วย (facilitator)” ที่คอยติดตามถอดบทเรียนและสนับสนุนองค์ความรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยท้องถิ่นจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญที่จะเร่งให้กระบวนการนี้เกิดขึ้นและขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้