ดีลจบ! พปชร.ควง 18 พรรคตั้ง รบ.-จับตา ปชป.‘ฟรีโหวต’เลือกนายกฯ ชี้ขาดอนาคต‘มาร์ค’?
“…มติกรรมการบริหารพรรคให้ ส.ส.ทุกคน ‘ฟรีโหวต’ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี มตินี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากจำนวนเสียงของพรรคร่วม + ส.ว. 250 ราย ยังไงก็หนุนส่งให้ ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน 100% อยู่แล้ว ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ‘ขั้วนายหัวชวน-อภิสิทธิ์’ อาจใช้สิทธิ ‘งดออกเสียง’ ตอนโหวตเลือกนายกฯ ปล่อยให้ ‘ปีก กปปส.’ อีก 27 รายโหวต ‘บิ๊กตู่’ แทน…”
ในที่สุดก็มีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลเสียที หลังผ่านพ้นการเลือกตั้งมาประมาณ 2 เดือนเศษ นับตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. 2562
รายงานข่าวแจ้งว่า เวลา 12.00 น. วันที่ 4 มิ.ย. 2562 พรรคพลังประชารัฐ ควงแขนพรรคพันธมิตร แถลงจัดตั้งรัฐบาลที่ห้องรัตนโกสินทร์ โรงแรมสุโกศล เบื้องต้นประกอบด้วย 18 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย พรรคประชาชนปฏิรูป และพรรคจิ๋วอื่น ๆ อีก 10 พรรค
และถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดพรรคสุดท้ายที่จะมาร่วมด้วยคือ พรรคประชาธิปัตย์
หากรูปการณ์ออกมาแบบนี้ เป็นอันว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างแน่นอนแล้ว
แม้ว่ากระแสข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือการเกลี่ยเก้าอี้รัฐมนตรีกัน ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ + พรรคภูมิใจไทย กับพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะเก้าอี้สำคัญ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคม
โดยพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการโควตา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กับ รมว.พาณิชย์ เพื่อผลักดันนโยบายประกันผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่หาเสียงไว้กับประชาชนในห้วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีแกนนำ ‘กลุ่มสามมิตร’ ในพรรคพลังประชารัฐ อย่างนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ออกโรงเปิดหน้าแถลงข่าวชัดว่า ต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันนโยบาย ‘โคบาลประชารัฐ’ ต่อยอดนโยบายประชารัฐจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ว่ากันว่า พรรคพลังประชารัฐ พร้อมแลกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงศึกษาธิการ เบอร์ 1 ด้านงบประมาณ ทั้ง ‘รัฐมนตรีว่าการ’ และ ‘รัฐมนตรีช่วย’ เลยทีเดียว ขณะที่บางกระแสบอกว่ามี 'ผู้มากบารมีนอกพรรค พปชร.' ทุบโต๊ะคายโควตากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้ดีลจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ ?
ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ยื้อยุดเก้าอี้กระทรวงคมนาคมมานาน แม้มีข่าวแว่วว่าช่วงแรกจะได้ไปอยู่ในอ้อมอกแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดเกิดการ ‘รื้อโผ-เกลี่ยโควตา’ กันใหม่ โดยพรรคพลังประชารัฐ จะให้โควตากระทรวงพลังงานแก่พรรคภูมิใจไทยแทน และเอากระทรวงคมนาคมกลับคืนมา เนื่องจากกังวลเรื่อง ‘ภาพลักษณ์-ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ในการทำงาน
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องการต่อรองเก้าอี้จะเป็นอย่างไร แต่ท้ายที่สุดทั้งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ก็ยอม ‘ล่มหัวจมท้าย’ จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐค่อนข้างชัวร์แล้ว
อย่างไรก็ดีสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ยังปรากฏภาพ ‘รอยแตกร้าว’ กันอยู่ ระหว่าง ‘ขั้วนายหัวชวน-อภิสิทธิ์’ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนล่าสุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรค เป็นหัวขบวนกับ ‘ปีก กปปส.’ ที่เปิดหน้านำชัดเจนโดยนายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค อดีตผู้สมัครชิงหัวหน้า ปชป. และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา
จำนวน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีทั้งหมด 52 ราย ว่ากันว่า ‘ขั้วนายหัวชวน-อภิสิทธิ์’ มี ส.ส. ในกำมือราว 25 ราย ส่วน ‘ปีก กปปส.’ มี ส.ส. สนับสนุนราว 27 ราย
ทั้งนี้ ในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 วันเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐประกาศจัดตั้งรัฐบาลนั้น พรรคประชาธิปัตย์เองมีการประชุมภายในโดยคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพื่อหารือแนวทางการร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐด้วย
แม้จะมีกระแสข่าวล่าสุดหลุดมาแล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ ‘เอาแน่’ ในการร่วมรัฐนาวา ‘บิ๊กตู่’ แต่ยังเหลือประเด็นเรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังคาราคาซังกันอยู่ ?
เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมา ‘ขั้วนายหัวชวน-อภิสิทธิ์’ คือฝ่ายประกาศ ‘กรวดน้ำคว่ำขัน’ ไม่ดัน พล.อ.ประยุทธ์-คสช. สืบทอดอำนาจต่อแน่นอน ขณะที่ ‘ปีก กปปส.’ พร้อมดัน ‘บิ๊กตู่’ นั่ง ‘ดับเบิ้ลเก้าอี้นายกฯ’
นั่นหมายความว่า ทางเลือกของพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะมีมติออกมา 2 แนวทางคือ
หนึ่ง มติกรรมการบริหารพรรคให้ ส.ส. ทุกคน โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตามธรรมเนียมที่ผ่านมาของพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนใหญ่ถ้ามติพรรคเป็นอย่างไร มักโหวตตามมตินั้น หาได้น้อยมากที่โหวตสวนมติดังกล่าว เช่น กรณีกลุ่ม 10 มกรา เป็นต้น
อย่างไรก็ดีแนวทางนี้ ประเมินเบื้องต้นแล้ว ไม่เป็นผลดีนักต่อพรรคในระยะยาว อาจยิ่ง ‘สุมไฟในทรวง’ บรรดา ส.ส. ที่ไม่ต้องการโหวต ‘บิ๊กตู่’ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองว่า ไม่สนับสนุนเผด็จการสืบทอดอำนาจก็เป็นไปได้
ท้ายที่สุดอาจถึงขั้นมี ส.ส. บางคน ‘น้อยใจ’ ขอไขก๊อกตำแหน่ง ส.ส. หรือถ้าร้ายแรงกว่านั้นอาจลาออกจาก ปชป. ก็มีโอกาส ?
สอง มติกรรมการบริหารพรรคให้ ส.ส.ทุกคน ‘ฟรีโหวต’ ในการเลือกนายกรัฐมนตรี มตินี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากจำนวนเสียงของพรรคร่วม + ส.ว. 250 ราย ยังไงก็หนุนส่งให้ ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน 100% อยู่แล้ว
ดังนั้นเป็นไปได้ว่า ‘ขั้วนายหัวชวน-อภิสิทธิ์’ อาจใช้สิทธิ ‘งดออกเสียง’ ตอนโหวตเลือกนายกฯ ปล่อยให้ ‘ปีก กปปส.’ อีก 27 รายโหวต ‘บิ๊กตู่’ แทน
แนวทางนี้ค่อนข้างดีกับทุกมุ้งในพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนทาง ‘ประนีประนอม’ มากขึ้น ลดอุณหภูมิการเมืองในพรรคได้เป็นอย่างดี แม้คนนอกอาจมองว่า พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เป็นเอกภาพก็ตาม แต่แค่ประเด็นโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมไปถึงเอกภาพในการทำงานร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคร่วม หรือมติอื่น ๆ ภายในสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจที่สุดในวันที่ 4 มิ.ย. 2562 ไม่ใช่การแถลงข่าวร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องดูท่าทีพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับมติการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ถ้าสุดท้ายเลือกแนวทาง ‘ฟรีโหวต’ นายอภิสิทธิ์ อาจยอมไปต่อในสภา แม้จะถูกลดบทบาทลงก็ตาม แต่ถ้า ‘บังคับโหวต’ อาจไม่ได้เห็นนายอภิสิทธิ์อยู่ในพรรคอีกต่อไป ก็เป็นไปได้ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/