วิจัยรักษาเชิงลึก ลดการสูญเสีย “มะเร็งท่อน้ำดี” สาเหตุหลักพรากชีวิตคนอีสาน
การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค จนลดการเป็นโรคได้ คาดต้องใช้เวลากว่า 30 ปี แต่ละปียังคงเกิดการสูญเสียต่อไป ดังนั้นแล้วประเทศไทยยังคงต้องการนักวิจัยมาช่วยกันทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งท่อน้ำดีอีกมาก เพื่อให้เกิดองค์ความรู้จากหลายแขนง เพิ่มความสำเร็จ ลดระยะเวลาในการศึกษา ลดการสูญเสียแก่พี่น้องชาวอีสาน และทรัพยากรของประเทศ
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรไทยคือ “มะเร็งตับและท่อน้ำดี” อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 14,000 รายต่อปี หรือ 1.6 – 2 รายต่อชั่วโมง
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ก่อให้เกิดโรค คือ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคปลาน้ำจืด (ปลาวงศ์ตะเพียนที่ปนเปื้อนตัวอ่อนระยะติดต่อพยาธิใบไม้ตับ) แบบปรุงไม่สุกของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปัจจุบันยังไม่มีการรักษามะเร็งท่อน้ำดีที่ได้ผลดี
หนึ่งในนักวิจัยที่มุ่งวิจัยการรักษาโรคนี้ในเชิงลึกเพื่อลดการสูญเสียแก่พี่น้องชาวอีสาน มีชื่อ ศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ อาจารย์ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ และสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิจัยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เดิม
ศ.ดร.โสพิศ อธิบายถึงสถานการณ์มะเร็งท่อน้ำดีที่เกิดในไทยว่า ปัญหาการป้องกันและรักษามะเร็งชนิดนี้คือ การขาดการติดตามและเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง ขาดวิธีการวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในระยะแรกซึ่งการผ่าตัดยังให้ผลดี ขาดการติดตามการเกิดซ้ำของมะเร็งในผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างการบำบัดรักษา รวมถึงขาดแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ ทำให้อุบัติการณ์และความสูญเสียที่เกิดจากมะเร็งชนิดนี้ยังเป็นปัญหาอันดับแรกของประเทศ
ในภาพรวมผู้ป่วยประมาณร้อยละ 90 ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นมะเร็งท่อน้ำดีไม่สามารถรับการรักษาให้หายด้วยการผ่าตัด เนื่องจากอยู่ในระยะท้ายของโรคที่มะเร็งได้แพร่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ขณะที่การให้ยาเคมีบำบัดไม่ได้ผลดี เนื่องจากมะเร็งดื้อยา
ที่สำคัญรูปแบบการเกิดของมะเร็งชนิดนี้และการรักษาผู้ป่วยไทยไม่สามารถนำหลักการของต่างชาติมาใช้ได้ เนื่องจากมีสาเหตุและพื้นฐานการพัฒนาของมะเร็งที่แตกต่างจากมะเร็งที่เกิดกับคนต่างชาติ ดังนั้นเราจึงต้องพัฒนาแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสม และตรงเป้าหมาย เพื่อช่วยรักษาหรือยืดชีวิตผู้ป่วยไทย
จากเหตุผลข้างต้น ศ.ดร.โสพิศ และคณะ ทำการวิจัย “การค้นหาเป้าหมายเพื่อการรักษามะเร็งท่อน้ำดีแนวใหม่โดยใช้แนวทางสหวิทยาโมเลกุล” โดยมุ่งเป้าที่กระบวนการสำคัญในการดำรงชีวิตของเซลล์มะเร็ง
แนวทางแรกในการวิจัยคือการ “ตัดแหล่งพลังงาน” ข้อค้นพบที่ได้จากการทำวิจัยคือ มะเร็งชนิดนี้จะโตไวและแพร่กระจายได้มากขึ้นเมื่อได้รับน้ำตาลปริมาณมาก มีการกระตุ้นกระบวนการและสัญญาณที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำตาลของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ดังนั้นการดูแลภาวะน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีที่เป็นเบาหวานร่วมกับการรักษามะเร็ง จะเป็นแนวทางที่ช่วยลดความรุนแรงของมะเร็งได้
ส่วนที่สองคือ “การตัดระบบนิเวศของมะเร็ง” ความสามารถพิเศษของเซลล์มะเร็งคือการเหนี่ยวนำให้เซลล์ต่าง ๆในระบบนิเวศ เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์สร้างเส้นใย (Fibroblast) ให้เป็นพวกเดียวกับมะเร็งและเกื้อหนุนให้เซลล์มะเร็งเติบโตโดยไม่ถูกทำลายจากเม็ดเลือดขาว ดังนั้นทางคณะจึงมีเป้าหมายที่จะวิจัยเพื่อให้ทราบกลไกเหล่านี้เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการจัดการระบบนิเวศของมะเร็ง อีกข้อค้นพบคือการที่เซลล์มะเร็งเหล่านี้เคลื่อนที่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย จะอาศัยโมเลกุลตรงผิวเซลล์ ซึ่งมีหมู่น้ำตาลพิเศษที่สามารถเกาะติดเซลล์ในอวัยวะอื่นอย่างจำเพาะ ดังนั้นหากสามารถตัดแขนขาของเซลล์มะเร็ง โดยทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ จะลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้
ส่วนสุดท้ายของการวิจัย คือ “การค้นหายาทดแทน” เพราะยารักษามะเร็งชนิดหนึ่งใช้เวลาในการพัฒนามากกว่า 10 ปี และมีราคาสูงมาก ในขณะที่คนไข้ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้นำยาที่ใช้อยู่ทั่วไปในท้องตลาดที่ใช้รักษาโรคอื่น มีความปลอดภัย และราคาถูก มาทดสอบการออกฤทธิ์รักษาโรคมะเร็งชนิดนี้ ซึ่งจากการทดสอบในระดับห้องทดลองได้ค้นพบตัวยาหลายชนิดที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีได้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบการใช้งานในระดับต่าง ๆในห้องทดลอง ก่อนนำมาใช้รักษามนุษย์
นอกจากการวิจัยลงลึกจากต้นน้ำเพื่อพัฒนาไปสู่นวัตกรรมการรักษาจริงในอนาคต โดยทุนสนับสนุนจาก สกว. แล้ว นักวิจัยยังได้ทำงานวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการตรวจและรักษาโดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรอื่น เช่น การพัฒนาตัวตรวจชีวภาพในเลือดเพื่อตรวจวัดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อประเมินภาวะและการดำเนินโรคของมะเร็ง ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นตัวบ่งชี้ภาวะมะเร็งในผู้ป่วย สร้างความตระหนัก และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โดย ศ.ดร.โสพิศ เผยว่านักวิจัยจาก ม.ขอนแก่น อีกหลายกลุ่มได้ช่วยกันระดมสมองวิจัยเพื่อแก้ปัญหามะเร็งชนิดนี้ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาค เช่น ศ.สพ.ญ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ได้ศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยาของพยาธิใบไม้ตับเพื่อสร้างความตระหนักและลดปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยการลดความเสี่ยงในการติดพยาธิใบไม้ตับจากการบริโภคปลาน้ำจืดดิบ เช่น แช่แข็งปลาดิบหรือปลาส้มที่อุณหภูมิ –20 องศา (ตู้แช่ไอศกรีม) ก่อนบริโภคเป็นเวลา 3 วัน หรือการหมักปลาส้มมากกว่า 3 วัน และหมักปลาร้ามากกว่า 1 เดือน เพื่อให้พยาธิใบไม้ตับตายก่อนนำไปบริโภค
อย่างไรก็ตามการปรุงสุกก่อนรับประทานโดยไม่เสียรสชาติก็ควรทำเพื่อความปลอดภัย เช่น การนำปลาร้ามาต้มสุกก่อนนำไปปรุงอาหาร การต้มสุกหรือใช้ไมโครเวฟความร้อนสูงอย่างน้อย 5 นาที สามารถฆ่าตัวอ่อนพยาธิในปลาได้
อีกตัวอย่างข้อมูลสำคัญที่ได้จากการวิจัยคือการบริโภคปลาน้ำจืดดิบที่มีพยาธิใบไม้ตับคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีขายอยู่ตามท้องตลาด จะทำให้พยาธิใบไม้ตับออกจากถุงหุ้ม (Cyst) มาชอนไชในร่างกายได้มากขึ้นและเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิงถึงสามเท่าจากรสนิยมในการบริโภคปลาดิบร่วมกับการดื่มเหล้า
ศ.ดร.โสพิศ ทิ้งท้ายว่า เพื่อสร้างความตระหนักถึงอันตรายจากโรคนี้ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้มีการพยายามสื่อสารสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ความรู้ผ่านโรงพยาบาลส่วนตำบล และสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปในบทเรียนของนักเรียนในภูมิภาค รวมทั้งการทำเพลงที่เนื้อหาอธิบายถึงสาเหตุและอันตรายของโรคนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จดจำ และเผยแพร่
"การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจนลดการเป็นโรคได้นั้นคาดว่าต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ซึ่งแต่ละปียังคงเกิดการสูญเสียต่อไปจำนวนมาก ดังนั้นแล้วประเทศไทยยังคงต้องการนักวิจัยมาช่วยกันทำวิจัยเกี่ยวกับมะเร็งท่อน้ำดีอีกมาก เพื่อให้เกิดองค์ความรู้จากหลายแขนง เพิ่มความสำเร็จและลดระยะเวลาในการศึกษา ลดการสูญเสียแก่พี่น้องชาวอีสานและทรัพยากรของประเทศ รวมถึงเป็นความหวังในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อไป"