ดร.อาจอง แนะระบบการศึกษาต้องไม่สร้างแต่คนเก่ง แต่สร้างสำนึกรักบ้านเกิด
ดร.อาจอง ติงต้องเปลี่ยนระบบคิดการศึกษาไทยที่สร้างคนเก่ง-ไม่สร้างคนดี ผลักเด็กชนบททิ้งบ้านเกิด รมว.มท.ชี้กระตุ้นบทบาท อปท.ให้สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โรงเรียนต้นแบบ“เทศบาล 5” สร้างแผนที่ลดพื้นที่เสี่ยง-เพิ่มพื้นที่ดีในชุมชน “ขุนหาญวิทยาสรรค์” คิดนวัตกรรมช่วยชาวบ้านเก็บไข่มดแดง
เมื่อเร็วๆนี้ ที่อิมแพค เมืองทองธานี กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับ เทศบาลนครปากเกร็ด และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมการจัดการศึกษาท้องถิ่น 2553” โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผอ.โรงเรียนวิถีพุทธสัตยาสัย จ.ลพบุรี กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยพยายามสร้างแต่คนเก่ง มุ่งเน้นหลักสูตรวิชาการเพื่อสอบแข่งขัน ปัญหาคือสังคมจะมีแต่คนเก่งที่คิดถึงตัวเองและเอาเปรียบผู้อื่น แก่งแย่งอำนาจ เงินทอง ขัดแย้งอย่างที่เป็นอยู่
“เกี่ยวโยงไปถึงชนบท เพราะเมื่อสังคมต้องการคนเก่ง ระบบการศึกษาสอนให้เอาชนะกัน เด็กในชนบทเปลี่ยนความคิดขวนขวายเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัย มีงานทำดีๆ ไม่กลับไปพัฒนาท้องถิ่น ต้องหาทางเปลี่ยนให้การศึกษาเน้นสร้างคุณงามความดีให้มากขึ้น”
ดร.อาจอง กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ควรปลูกฝังคือจิตสาธารณะที่รักและต้องการพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง เพราะหากท้องถิ่นดีประเทศก็พัฒนา โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ไปสู่จิตสำนึกที่ดี ครูและครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการใส่ข้อมูลใหม่ไปแทนที่ความคิดเดิม บูรณาการนำคุณธรรมสอดแทรกเข้าไปในทุกวิชา
“หลักสูตรจะกำหนดมาอย่างไรไม่ต้องสนใจ เพราะเราเน้นสร้างคุณธรรมไม่ใช่วิชาการ ค่อยๆทำไปตลอดเวลา มันจะลงสู่จิตสำนึกเอง” ผอ.โรงเรียนสัตยาสัย กล่าว
นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 อปท.มีอำนาจหน้าที่จัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ รองรับความต้องการของท้องถิ่นตามความเหมาะสม จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้ อปท. เห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นเป้าหมายสูงสุด
“ภารกิจของ อปท. คือพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และจัดหาแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ใช้สถานศึกษาที่มีอยู่เป็นฐานสร้างชุมชนท้องถิ่นให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ทั้งนี้มีการแสดงผลงานโรงเรียนต้นแบบพัฒนาชุมชน โดย ด.ญ.บุษราภรณ์ พรรณนา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) จ.กาญจนบุรี กล่าวถึง “โครงการแผนที่สุขภาพเพื่อเพิ่มพื้นที่ดี-ลดพื้นที่เสี่ยงรอบโรงเรียน” ว่าชุมชนรอบโรงเรียนมีพื้นที่เสี่ยง เช่น ป่าละเมาะ แหล่งซ่องสุมต่างๆจำนวนมาก หากปล่อยไว้เกรงว่าจะเป็นอันตรายทั้งนักเรียนและคนในชุมชน
“สมาชิกเข้าร่วมโดยสมัครใจ เริ่มจากแกนนำ 4 คนไปอบรมในจังหวัดกลับมาประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนๆทราบ ตอนนี้มีสมาชิก 30 คน แบ่งกลุ่มย่อยๆไปสำรวจเส้นทางรอบๆโรงเรียน 4 สาย เพื่อดูว่าตรงไหนเป็นพื้นที่เสี่ยงเด็กไม่ควรเข้าไป และตรงไหนเป็นพื้นที่ดีควรส่งเสริม”
ส่วน ด.ญ.สุจิรา ไชยมะงั่ว กล่าวว่า แผนที่สุขภาพเป็นความร่วมมือระหว่างเด็กและชาวบ้านในชุมชน ทั้งการร่วมสำรวจ โดยเฉพาะผู้ใหญ่จะอำนวยความสะดวกให้การทำงานราบรื่นและปลอดภัย โดยแผนที่ที่ได้นี้ หน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนจะนำไปวางแผนร่วมกันเพื่อหาแนวทางป้องกันแก้ไข ซึ่งที่ผ่านมาสามารถลดพื้นที่เสี่ยงได้เกินครึ่ง เช่น พื้นที่ซ่องสุมต่างๆ ทางราชการจะเข้ามาดูแลและจัดการอย่างจริงจัง ทำให้บริเวณโรงเรียนและชุมชนมีสภาพแวดล้อมดีขึ้น มีความปลอดภัยมากขึ้น
นายอดิเรก บุญนาม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงผลงานอุปกรณ์แหย่และคัดแยกไข่มดแดง ที่ชนะเลิศการประกวดวิทยาศาสตร์ประยุกต์ระดับประเทศว่า ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเก็บไข่มดแดงเป็นอาชีพเสริมเป็นรายได้ให้ชุมชนจำนวนมาก จึงคิดเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาการคัดแยกผลผลิตและการถูกมดแดงกัด
นายอดิเรก กล่าวต่อไปว่า อุปกรณ์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นจากภูมิปัญหาดั้งเดิมของชุมชน โดยด้ามจับจะเปลี่ยนจากไม้ไผ่ที่มีน้ำหนักมากมาเป็นอลูมิเนียม 3 ท่อนปรับขนาดได้ตามความสูงต่ำของต้นไม้ ปลายไม้จะใช้ผ้าเคลือบด้วยแป้งมันผสมกาวลาเท็กซ์ป้องกันไม่ให้มดไต่มากัดมือ ถุงเก็บไข่มดแดงเปลี่ยนจากกระสอบปุ๋ยที่มีสารเคมีมาเป็นพลาสติกใสแทน ส่วนตะแกรง 3 ชั้นที่อยู่ภายในคือตัวคัดแยกเศษใบไม้และตัวมด
“คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่าแป้งมันป้องกันมดแดงได้ เมื่อก่อนชาวบ้านใช้ทาตามมือตามตัว เราจึงนำความคิดมาประยุกต์และพัฒนาให้ใช้งานง่าย เป็นการเรียนรู้จากชุมชนสู่ชุมชน”
เจ้าของผลงานอุปกรณ์คัดแยกไข่มดแดง กล่าวอีกว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้มีประสิทธิภาพ และต้นทุนเพียง 200 บาท ผลจากการสุ่มตัวอย่างพบว่าเกษตรกรพึงพอใจ ในอนาคตจะนำความรู้นี้ถ่ายทอดให้ชาวบ้านสามารถผลิตได้เอง ไม่คิดทำขายด้วยเหตุผลว่าภูมิปัญญาได้มาจากชุมชน จึงอยากให้ชุมชนเป็นผู้ต่อยอดเอง.