เครือข่ายผู้หญิงดันแผนจัดการชุมชนรับมือภัยพิบัติ
เวทีชุมชนชูพลังหญิงสู้ภัยพิบัติ ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติรับสื่อสารพลาด ชงตั้งศูนย์พักพิง ช่วยแรงงานข้ามชาติ
วันที่ 16 ก.ค. 55 มูลนิธิเพื่อนหญิง ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อคุณภาพชีวิตแรงงาน มูลนิธิรักษ์ไทย มูลนิธิชุมชนไท และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนานำเสนอบทเรียน “ผู้หญิง รู้ สู้ น้ำท่วม” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ
น.ส.ภัณฑิลา อรุณรัตน์ เครือข่ายสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี กล่าวว่า บทเรียนจากปัญหาอุทกภัยปลายปี 54 ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงภัยที่ตามมาจากระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าปี 38 เพราะชาวบ้านต่างคนต่างกั้นทางน้ำไหล ทำให้เกิดการบีบตัวของเส้นทางน้ำ ดังนั้นจึงเกิดกระแสไหลเชี่ยวสร้างความเสียหายมาก ทั้งที่ควรปล่อยให้ไหลไปตามธรรมชาติ
ทุกคนจึงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโดยใช้ความสามัคคี พร้อมกำหนดแผนระดับชุมชน โดยรวบรวมรายชื่อครัวเรือน กำหนดอายุ เพศ สัญชาติ และแยกผู้ป่วย เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ พร้อมตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวที่อยู่ใกล้และสะดวกต่อการมาดูแลบ้านเป็นระลอก จัดทำอาหาร เวรยาม โดยมีผู้หญิงเป็นแกนนำในการเจรจาขอความช่วยเหลือกับภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ เพราะมีความนุ่มนวลและละเอียดกว่าผู้ชาย
น.ส.ศิริวรรณ หว่างรักษาวงศ์ เครือข่ายศูนย์พักพิงของรัฐและของชุมชน กล่าวว่า ชุมชนกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาก เนื่องจากมีคลองไหลพาดผ่านเยอะ น้ำเหนือจึงไหลลงมาตามคลอง ประกอบกับมีการปลูกบ้านนอกแนวสันเขื่อนทำให้ขวางทางน้ำ พื้นที่ภาษีเจริญ หนองแขม ทวีวัฒนา และใกล้เคียงจึงจมน้ำ นอกจากนี้การสื่อสารศัพท์ทางเทคนิคที่ยากของภาครัฐ ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจ
น.ส.ศิริวรรณ กล่าวต่อว่า เนื่องจากเครือข่ายมีประสบการณ์ช่วยเหลือพี่น้องอยุธยากับปทุมธานีมาก่อน จึงนำวิธีมาประยุกต์ใช้โดยตั้งศูนย์พักพิงในพื้นที่ใกล้ท้องถิ่นมากที่สุด มิใช่ตั้งไกล 20 กว่ากิโลเหมือนศูนย์พักพิงของรัฐ โดยผู้หญิงจะเป็นคนรวบรวมข้อมูลของครัวเรือนทั้งหมด ทำอาหาร และเก็บรวบรวมขวดน้ำพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นเสื้อชูชีพแจกจ่ายในท้องถิ่นและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนการช่วยเหลือจากภาครัฐแทบไม่มีเลย
“คนในศูนย์พักพิงมี 231 คน ภาครัฐนำคะน้ามาให้ 2 กิโล น้ำตาล 3 กิโล พร้อมบอกว่าอยู่ให้ได้ 7 วัน อยากจะบอกตอนนั้นว่ากินคนละก้านยังไม่พอเลย” ตัวแทนเครือข่ายศูนย์พักพิงกล่าว
ด้านนายทอง ตัวแทนเครือข่ายแรงงานข้ามชาติเชื้อชาติพม่า จ.ปทุมธานี กล่าวถึงชะตากรรมว่า ปี 54 น้ำมาเร็วมากจนตั้งตัวไม่ทัน ประกอบกับแรงงานข้ามชาติบางคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ทำให้ไม่มีช่องทางติดต่อกับหน่วยงานภายนอก อีกทั้งไม่มีเงินยังชีพจนต้องกู้หนี้ยืมสิน ส่วนเอกสารสำคัญสูญหายหมด นอกจากนั้นบางคนยังว่ายน้ำไม่เป็น เกิดความเครียด เจ็บไข้ไม่มีหน่วยพยาบาลรักษา ที่สำคัญถูกภาครัฐกีดกันไม่แจกของยังชีพให้ โดยอ้างว่าไม่ใช่คนไทย แต่ในทางกลับกันแรงงานข้ามชาติทั้งหมดได้เรียนรู้การปรับตัวอยู่ในสังคม เกิดแกนนำผู้หญิงขึ้นถึง 5 คนในการอาสาขอถุงยังชีพจากองค์กรเอกชน แจ้งข่าวสารแก่ชุมชน กำหนดแผนระดับท้องถิ่น กำหนดจุดพักพิง การทำอาหาร ผนวกกับความแข็งแกร่งของผู้ชายทำให้ชุมชนมั่นคงมากขึ้น แม้การเป็นผู้นำหญิงในพม่าจะน้อยกว่าไทย แต่ออง ซาน ซูจีก็เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า
ขณะที่น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวยืนยันว่าการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐปีนี้จะไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมแน่นอน เพราะได้วางแผนรองรับน้ำเต็มเขื่อนช่วงม.ค. และลดลงประมาณ 50% ช่วงพ.ค. ส่วนปัญหาแรกของอุทกภัยปีที่ผ่านมาคือ คนไทยไม่สามัคคีกัน ฉะนั้นหากเรามีการบริหารจัดการกันอย่างสามัคคีปัญหาจะไม่เกิด บทเรียนต่าง ๆ ที่เตรียมมาจะแก้ไขได้อย่างดี
“ต้องยอมรับว่าการสื่อสารเรื่องน้ำท่วมของรัฐบาลล้มเหลว ทำให้ปีนี้หากเกิดปัญหาอีกจะใช้ภาษาในการสื่อสารถึงราชการ สื่อมวลชน และชุมชน แตกต่างกันภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกัน โดยเฉพาะระดับน้ำ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ง่ายขึ้น”
ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ชุมชนจะต้องมีแผนจัดการภัยพิบัติตนเอง ให้ความสำคัญกับศูนย์พักพิงและการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ โดยมีภาครัฐสนับสนุน เพราะรัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึง จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยดูแลและประสานกับภาครัฐ ทั้งปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันผู้หญิงเริ่มเข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำแก้ไขปัญหาร้ายแรงเหล่านี้ดีกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงมีความอ่อนโยนและแข็งแกร่งพร้อมกัน ซึ่งความอ่อนโยนผู้ชายไม่มี
........................................................................................
ล้อมกรอบ
เครือข่ายผู้หญิงกับการจัดการภัยพิบัติ เกิดขึ้นจากโครงการ “การจัดการภัยพิบัติด้วยพลังผู้หญิง ครอบครัวและชุมชน” เพื่อเป็นการนำร่องและเสนอรูปแบบการจัดการกับภัยพิบัติที่ผู้หญิงและกลุ่มเปราะบางในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการ ซึ่งได้ดำเนินการในการฝึกอบรม ทำแผนชุมชน การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ทั้งชุมชนไทยและแรงงานข้ามชาติ และจากผลการดำเนินการข้อเสนอต่อสังคม สาธารณะ และนโยบาย ดังนี้
1.ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติควรบูรณาการทั้งด้านสังคม โครงสร้างพื้นฐานและเศรษฐกิจ เข้าด้วยกัน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน
2.รัฐบาลควรจัดตั้ง องค์กรอิสระในการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ที่มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย และมีการบูรณาการหลากมิติ ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา หญิงชาย กลุ่มเปราะบาง และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
3.สนับสนุนให้ชุมชนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ประกอบด้วย
-ให้มีทีมทั้งหญิงและชาย/มีแผนเตรียมรับมือภัยพิบัติ และให้มีการฝึกซ้อมอย่างจริงจัง
-มีอุปกรณ์ เครื่องมือในการกู้ชีพกู้ภัย
-มีการสร้างพื้นที่เสบียงอาหาร พันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์
-มีการจัดทำพื้นที่กลางเพื่อรองรับการอพยพเมื่อเกิดภัยในทุกระดับ
-การศึกษาวิจัย/นวัตกรรมและฟื้นฟูภูมิปัญญา เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วม
-กองทุนจัดการภัยพิบัติ ทั้งที่เป็นตัวเงินและทุนทางสังคมให้เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน
4.สนับสนุนการศึกษาปริมาณและระบบทางน้ำที่เชื่อมโยงกันทั้งภูมินิเวศน์
5.สนับสนุนการแก้ปัญหาภัยพิบัติ ในลักษณะจับคู่ เพื่อให้เกิดการกระจายการช่วยเหลือ
6.จัดหาผู้เชี่ยวชาญจัดการศูนย์พักพิงแบบมีส่วนร่วมของผู้ประสบภัย
7.สนับสนุนกระบวนการจิตอาสาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
8.กระจายบทบาทการให้ความช่วยเหลือ ทั้งการเงิน ของบริจาคให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม
9.การจ่ายเงินชดเชยเยียวยา มีมาตรฐานมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และต้องมีนโยบายเยียวยาพื้นที่รับน้ำ
10.ให้มีระบบเตือนภัยในแต่ละภูมิภาคและทำระบบสื่อสารเพื่อเตือนภัยทุกรูปแบบ
ข้อเสนอต่อการจัดการศูนย์พักพิง
ศูนย์พักพักชุมชน
1.ควรสนับสนุนศูนย์พักพิงขนาดเล็กใกล้ชุมชน และชุมชนประสงค์จัดการตนเอง
2.รัฐควรมีการสำรวจ ทำแผนที่ศูนย์พักพิงขนาดเล็ก รวมทั้งประสานงานกับชุมชน
ศูนย์พักพิงขนาดใหญ่ของรัฐ
1.ไม่ควรเปิดศูนย์พักพิงในบริเวณพื้นที่เสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติทุกประเภท
2.ควรกระจายจำนวนผู้พักพิง ไม่ควรให้ศูนย์พักพิงใหญ่เกิน 1 พันคน
3.ควรมีโซนพักสำหรับผู้หญิงที่ต้องการพักเฉพาะ แยกออกจากโซนครอบครัว
4.ควรมีการฝึกอาชีพเพื่อช่วยคลายเครียดและสร้างรายได้
5.ควรจัดหากิจกรรมสำหรับผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกีฬาสำหรับเยาวชน
6.ควรมีหลักสูตรให้ความรู้ผู้ประสบภัยชัดเจน ดังนี้
-ความรู้เกี่ยวกับการทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับครัวเรือน และชุมชน
-ความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้าน รถ อุปกรณ์สิ่งของ
-ความรู้เกี่ยวกับสิทธิของผู้ประสบภัย ทั้งสิทธิตามนโยบาย สิทธิตามกฎหมาย
-ความรู้เกี่ยวกับสิทธิแรงงาน สิทธิผู้ป่วย
ข้อเสนอเชิงนโยบายเร่งด่วน : กรณีแรงงานข้ามชาติที่ประสบภัยน้ำท่วม
1.ผ่อนผันการจับกุมส่งกลับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีหรือไม่สามารถแสดงเอกสารได้เพื่อให้แรงงานจำนวนมากที่ไม่สามารถแสดงเอกสารตนเข้าถึงการช่วยเหลือให้มากยิ่งขึ้น
2.ประสานงานกับสถานฑูตของประเทศต้นทางในการดำเนินการออกเอกสารและจัดทำเอกสารพิสูจน์ตนของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยทั้งในกลุ่มที่เอกสารสูญหาย และไม่มีเอกสารแสดงตน
3.จัดทำมาตรการในการผ่อนผันสามารถออกเอกสารแสดงตนและใบอนุญาตทำงานนอกพื้นที่ของอนุญาตทำงาน เพื่อทดแทนเอกสารที่สูญหายและถูกยึดเก็บไว้โดยนายจ้าง รวมทั้งผ่อนผันให้มีการเปลี่ยนย้ายนายจ้าง กิจกรรม และพื้นที่ เพื่อเอื้อต่อการจัดจ้างงานในช่วงภัยพิบัติ
4.กระทรวงแรงงานจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือแก่แรงงานและแรงงานข้ามชาติที่ประสบภัยพิบัติและยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งค่าจ้างค้างจ่ายเร่งด่วน เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถดูแลตนเองได้ระหว่างรอการฟื้นฟู