กสม. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ ก.ล.ต. หนุนบริษัทในหลักทรัพย์ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “สิทธิมนุษยชน: ปัจจัยขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของบริษัทจดทะเบียนไทยสู่ความยั่งยืนตามหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UNGPs)” และจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วยการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติระหว่าง สำนักงาน กสม. และ ก.ล.ต. ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” สรุปว่า ภาคธุรกิจเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ แต่การประกอบธุรกิจยังมีผลกระทบด้านลบต่อผู้คน สิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนที่ซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการประกอบการของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานจำนวนมาก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้แสดงให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิและผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย และในที่สุดปัญหาดังกล่าวจะย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอง ทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจทั้งในแง่การเงินและภาพลักษณ์ทั้งอาจส่งผลเสียต่อประเทศในภาพรวมด้วย ซึ่งไม่อาจนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ในปี 2554 สหประชาชาติได้รับรอง “หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” (The United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights : UNGPs) อันเป็นการวางกรอบของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการประกอบธุรกิจไว้ 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) เสาหลักในการคุ้มครอง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ (2) เสาหลักในการเคารพ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคธุรกิจ เช่น การเคารพต่อสิทธิแรงงาน และสิทธิของชุมชนในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินธุรกิจ และ (3) เสาหลักในการเยียวยา ซึ่งเป็นความรับผิดชอบทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจร่วมกัน
สำหรับการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ในประเทศไทย กสม. ได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 โดยจัดให้มีการลงนามในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ระหว่าง กสม. หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ และองค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็คประเทศไทย โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นับจากนั้น กสม. ได้จัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการชี้แนะฯ มาอย่างต่อเนื่อง และได้จัดทำคู่มือประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สำหรับธุรกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปปรับใช้กับสถานประกอบการของตนเอง ตลอดจนได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อส่งเสริมความรู้ในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการชี้แนะฯ ให้กับภาครัฐวิสาหกิจด้วย
“การสัมมนาในวันนี้ ได้ก้าวสู่การดำเนินการเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯ ของสหประชาชาติให้แก่บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลดีทั้งต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทและการพัฒนาประเทศ” นายวัส กล่าว
หลังจากนั้น ได้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วยการนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติ ระหว่าง สำนักงาน กสม. กับ ก.ล.ต. โดย นายโสพล จริงจิตร เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในนามสำนักงาน กสม. และ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นผู้ลงนามในนาม ก.ล.ต. และ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมเป็นสักขีพยาน
นางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “แนวโน้มและทิศทางการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในภาคตลาดทุนไทย” สรุปว่า รูปแบบธุรกิจที่มักมีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ได้แก่ (1) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ พลังงาน เหมืองแร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ การลงทุนของบริษัทไทยในต่างประเทศ และ (2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน ซึ่งมักประสบปัญหาในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
สำหรับแนวโน้มในอนาคต การประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนจะได้รับความสำคัญมากขึ้นจากประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกติกาของการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในอนาคต ขณะนี้สหประชาชาติกำลังพิจารณายกร่างสนธิสัญญาที่จะสร้างพันธกรณีทางกฎหมายสำหรับการประกอบการหรือการลงทุนของธุรกิจในต่างประเทศด้วย
“ในยุคโลกาภิวัฒน์การประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมุ่งผลกำไรเพียงอย่างเดียว กลายเป็นมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้าหรือร่วมลงทุนกับไทยคาดหวังภาคธุรกิจจึงควรรู้จัก เข้าใจ และนำหลักการชี้แนะฯ ไปปฏิบัติให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนเพื่อความยั่งยืนขององค์กรและสังคม” นางประกายรัตน์ กล่าว