คนไทยสูบบุหรี่ 10.7 ล้านราย กว่าครึ่งมวนเอง -ราคาถูกมาก
หน่วยงานองค์การสหประชาชาติในไทยผนึกกำลังร่วมต้านการสูบบุหรี่ วันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม
วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ประเทศไทยและทั่วโลกร่วมกันรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี
ในปี 2562 นี้ มีคำขวัญในวันงดสูบบุหรี่โลก ว่า
"บุหรี่เผาปอด : Tobacco burns your lungs"
ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่เกือบ 200 รายต่อวัน และคร่าชีวิตผู้ป่วยกว่า 72,000 รายในแต่ละปี อีกทั้งเป็นสาเหตุของความสูญเสียทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 0.8 ของ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการสูบบุหรี่ส่งผลให้มีผู้ป่วยเกือบ 1.5 ล้านรายที่เจ็บป่วยจากจากการสูบบุหรี่ เช่น โรคปอด วัณโรค มะเร็ง และโรคหัวใจ ซึ่งต้องใช้งบประมาณของประเทศเป็นจำนวนมาก
สำหรับการดูแลสุขภาพของประชาชน การควบคุมการบริโภคยาสูบเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงฯ ซึ่งเราได้ดำเนินงานร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อรณรงค์และให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากการสูบบุหรี่และช่วยเหลือผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่
รมว.สธ.กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำระดับโลกในด้านการปรับปรุงนโยบายและเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมและลดการบริโภคยาสูบอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการให้บริษัทผู้ผลิตบุหรี่แสดงภาพเตือนบนซองบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย พื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างเข้มงวด และมาตรการห้ามโฆษณาบุหรี่ และเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบและการปรับขึ้นภาษียาเส้น ซึ่งเป็นนโยบายที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
รมว.สธ.กล่าวถึงสงครามการต่อต้านบุหรี่ คาดการณ์ว่าประเทศ ไทยมีผู้สูบบุหรี่จำนวนกว่า 10.7 ล้านราย และกว่าครึ่งหนึ่งสูบบุหรี่ชนิดมวนเอง ซึ่งมีราคาถูกมาก
ด้านนางสาวเดียร์ดรา บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ทำให้เกิดผลเสียต่อครอบครัว เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ดังนั้นการเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมการบริโภคยาสูบจะช่วยให้ประเทศ ไทยเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค มีสุขภาพที่ดี และมีความยั่งยืน หน่วยงานต่างๆ ขององค์การสหประชาชาติ พร้อมให้การสนับสนุนประเทศไทยในการเร่งผลักดันมาตรการในควบคุมการสูบบุหรี่ต่อไป
“การขึ้นราคาบุหรี่ผ่านการจัดเก็บภาษีเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุดในการต่อต้านการบริโภคยาสูบ ดังนั้นการเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายภาษีบุหรี่โดยใช้พิกัดอัตราภาษีเดียว และการเร่งเพิ่มภาษียาเส้นสำหรับบุหรี่มวนเองจะมีส่วนช่วยในการลดปริมาณการบริโภคยาสูบและสามารถเพิ่มรายได้ของภาครัฐเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาต่างๆต่อไป”
นายแพทย์แดเนียล เคอร์เทสซ์ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยาสูบส่งผลเสียต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
“มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่ที่เข้มงวดเป็นไปตามพันธสัญญาของประเทศไทยในด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักการที่ว่า ‘เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ และ ‘ช่วยเหลือคนที่ถูกทอดทิ้งและอยู่ไกลที่สุดก่อน’”
นายเรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศ ไทย กล่าว “การสูบบุหรี่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาหลายด้าน ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ‘หน่วยงานรัฐทุกภาคส่วน’ และ ‘สังคมทุกภาคส่วน’ เพื่อผลักดันให้การรณรงค์ในด้านนี้ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ทีมองค์การสหประชาติประจำประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะทำงานจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยตัวแทนจาก 10 หน่วยงานสหประชาชาติรวมถึงผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ ของไทย และผู้แทนจากภาคประชาสังคมเพื่อสนับสนุนงานด้านต่อต้านการบริโภคยาสูบและสาเหตุอื่นที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื่อรัง