แนะนิยามสื่อมวลชนให้ชัดท่ามกลางสื่อเกิดใหม่ – วิทยุชุมชนต้องสนองปัญหาคนรากหญ้า
เทพชัย แนะสร้างนิยามสื่อมวลชนให้ชัดท่ามกลางสื่อเกิดใหม่หลากหลาย วิทยุชุมชนต้องเกิดจากความต้องการ-สนองปัญหาชาวบ้าน เลขา คปส.บอกรายการ-คอลัมน์ไหนมีปัญหาก็ปิดไปอย่าเหมารวมทั้งเว็บหรือคลื่น มอส.ชี้วิทยุชุมชนส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนชายขอบ
เมือวันที่ 10 กรกฎาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) และสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) จัดงาน“ปฏิรูปสื่อประชาชนสู่ปฏิรูปประเทศ” โดย นายเทพชัย หย่อง องค์การกระจายเสียงแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อเกิดขึ้นจำนวนมาก เป็นโจทย์ที่ต้องนิยามคำว่าสื่อมวลชนให้ชัด ไม่ใช่เพียงมีช่องทีวีแล้วบอกว่าเป็นสื่อ ต้องคิดต่อว่าทีวีช่องนั้นมีความเป็นสื่อไหม และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำลังเกิดขึ้นจะรองรับอย่างไร เสนอว่าหากสื่อตรวจสอบกันเองไม่พอ สร้างจิตสำนึกอัตโนมัติไม่ได้ อาจต้องมีองค์กรภาคประชาสังคมและกฎหมายระดับหนึ่งเป็นกลไกด้วย
นายเทพชัย กล่าวว่า ไม่ควรนำสื่อมาเหมารวมเป็นเรื่องเดียวกับปฏิรูปสังคม เพราะที่ผ่านมารัฐจะเข้ามาก็ต่อเมื่อต้องการควบคุมสื่อ ไม่ได้ส่งเสริม หากจะปฏิรูปรัฐต้องให้ชัดว่าเพื่อนำไปสู่อะไร โดยรัฐมีบทบาทน้อยที่สุด และต้องมอง 2 ส่วนคือกลไกกำกับสื่อให้ปฏิบัติตามจริยธรรม สำคัญกว่านั้นคือสื่อต้องกำกับกันเองให้ได้ แต่ที่ผ่านมักทำไม่ได้ สถานการณ์ปัจจุบันสื่อต้องมองตัวเองและคิดว่าจะทำอะไร
“สื่อมีอำนาจมาก ความรับผิดชอบต้องมากตาม เช่น สื่อในเยอรมันไม่เสนอข่าวคนฆ่าตัวตายโดยกระโดดตัดหน้าทางรถไฟ แม้ว่าจะมีมาก เพราะอาจทำให้คนทำตาม.. วิทยุชุมชนเราเดิมเกิดจากความต้องการและสนองตอบพื้นที่ หากบ้านไหนควายหายก็มาประกาศ ไม่นานก็เจอ อยากให้กลับไปเป็นแบบเดิมไม่ใช่เกิดเพราะคนอื่นอยากให้เกิด”
นายวิชาญ อุ่นอก เลขาสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า คนทำสื่อควรแยกทัศนคติออกจากการทำงาน การนำเสนอผ่านอคติทำให้เกิดข้อมูลข่าวสารด้านเดียวและสังคมขัดแย้ง ทีวีดาวเทียมและวิทยุชุมชนปัจจุบันส่วนมากนำเสนอข้อมูลภายใต้อคติ จึงควรคิดว่าจะจัดระเบียบอย่างไรให้มีขอบเขต นอกจากนี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่ควรใช้วิทยุท้องถิ่นที่มีกว่า 6,000 แห่ง มากำหนดทิศทางวิทยุชุมชน เพราะเป้าหมายต่างกัน และไม่เห็นด้วยที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)สั่งปิดวิทยุชุมชนโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
“เช่น ศอฉ.ปิดวิทยุชุมชน อ.แปลงยาว ฉะเชิงเทรา ตรวจสอบไม่พบการกระทำความผิดด้านเนื้อหา จึงยัดเยียดข้อหาว่าครอบครองเครื่องส่งผิดกฎหมาย ถ้าเป็นเช่นนี้วิทยุชุมชนทั่วประเทศก็โดนหมด”
นายฐากร ตัณฐสิทธ์ รักษาการเลขาธิการ กทช. กล่าวว่ากฎหมายเพิ่งให้อำนาจการควบคุมดูแลกิจการโทรคมนาคมปี 2551 ปัจจุบันสามารถให้ใบอนุญาตชั่วคราววิทยุชุมชนแล้ว 6 สถานี เคเบิ้ลทีวี 32 สถานี ขณะเดียวกันสื่อที่มีปัญหาก็ทำให้คนเริ่มแสวงหาความจริง และหาสื่อที่นำเสนอหลากหลายขึ้น
“เมื่อก่อนคนดูทีวีไทยน้อยมาก เดี๋ยวนี้เยอะมาก แสดงว่าคนพยายามจะหาสื่อที่หลากหลายและเป็นกลาง พอเกิดวิกฤติทำให้ต้องปฏิบัติใหม่ ที่สำคัญคือต้องกำกับตัวเองก่อน ต้องมีความรับผิดชอบ”
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กล่าวว่า ปัจจุบันคลื่นถูกใช้อย่างเต็มที่ แต่สื่ออินเตอร์เน็ตแม้ว่าจะเกิดขึ้นมากมาย แต่คนเข้าน้อยมากเพราะยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง ปีที่ผ่านมา ศอฉ.สั่งปิดเว็บกว่า 10,000 แห่ง ซึ่งยิ่งปิดยิ่งเพิ่มขึ้น การปฏิรูปสื่อต้องสร้างข้อกำหนดขึ้นมาเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความคิดที่หลากหลาย
“จะอยู่ด้วยกันได้ ต้องมีข้อจำกัดบางอย่าง ในเมื่อเราอยากมีสิทธิเสรีภาพในการด่ากัน ก็ต้องยอมรับจะถูกคนอื่นด่าด้วย ด่ากันได้แต่ไม่ตบกันไม่ทำร้ายกัน ต่างฝ่ายต่างมีความอดทนอดกลั้น ก็คงไม่มีปัญหา”
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมศานต์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สื่อมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของประชาชนโดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก ภาวะอารมณ์ช่วงสถานการณ์ความรุนแรงเกี่ยวโยงกับความเครียดถึง 37% ซึ่งรุนแรงมาก และภายหลังเหตุการณ์ประชาชนโหยหาสื่อที่หลากหลายขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการรับข้อมูลข่าวสารด้านเดียว ทั้งนี้การควบคุมสื่อต้องเชื่อมกันระหว่างตัวสื่อเองที่ต้องมีกระบวนการควบคุมจริยธรรมและความรับผิดชอบ, องค์กรวิชาชีพที่มาดูแลระดับปัญหาที่เกินกว่าการควบคุมตัวเองของสื่อ และองค์กรกลางหรือ กสทช.ทำหน้าที่ควบคุมขั้นสุดท้าย เช่น ถอนใบอนุญาต
“ไม่มีเวลาไหนที่เหมาะสมในการปฏิรูปสื่อมากเท่าตอนนี้ ที่ต้องทำคู่ไปคือการจับตาดูกลไกอย่าง กสทช. ตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกกรรมการ การบังคับใช้ เพื่อจะไม่กลับมาย่ำอยู่กับที่”
นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) กล่าวว่า การสร้างกติกาหรือจรรยาบรรณควบคุมกันเองของสื่อต้องลงถึงหน่วยย่อย เช่น วิทยุชุมชนด้วย ซึ่งอาจใช้กติกาเดียวกันในทุกพื้นที่ซึ่งมีบริบทต่างกันไม่ได้ แต่ละพื้นที่อาจต้องหาจุดร่วมกันเอง และต้องไม่ลืมเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น จะปิดกั้นไม่ให้นำเสนอเรื่องการเมืองไม่ได้ แต่ต้องดูว่าพูดแบบไหนแล้วไม่ยั่วยุแตกแยก ส่วนการออกใบอนุญาตวิทยุชุมชนมีลักษณะสั่งการจากบนลงล่างคือรัฐกำหนดทุกอย่างโดยไม่ดูความสอดคล้องกับชุมชน เสนอว่า กทช.ควรเป็นเจ้าภาพทำหน้าที่เตรียมการก่อน กสทช.คลอด สร้างกติกาที่เหมาะสมในการควบคุม เช่น คอลัมน์หรือรายการไหนมีปัญหาก็จัดการไป ไม่เหมารวมปิดไปทั้งเว็บไซต์หรือคลื่นวิทยุ
นางสาววัฒนา นาคประดิษฐ์ ตัวแทน มอส. กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐมักใช้ข้ออ้างเดียวปิดสื่อทั้งหมด เช่น อ้างความมั่นคงซึ่งกว้างมาก และไม่เคยบอกข้อหาแท้จริง ทำให้บางพื้นที่ในสื่อซึ่งสะท้อนปัญหาชาวบ้านก็ถูกปิดไปด้วย นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความสำคัญของบทบาทส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของสื่อ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนว่า มีตัวอย่างความสำเร็จในหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกันเอง
“อย่างพี่น้องกะเหรี่ยงที่คนทั่วไปมองเขาไม่มีตัวตน เป็นกลุ่มคนที่สังคมลืม แต่การมีวิทยุชุมชนทำให้เขาได้เรียนรู้ เกิดตัวตนและพื้นที่ในสังคม นี่คือภาพชัดๆที่ทำให้เห็นว่าการเรียนรู้สำคัญ”
ทั้งนี้เวทีได้สรุปปัญหาหลักได้แก่ 1.รัฐปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นประชาชน สั่งปิด จับกุมผู้ผลิตสื่อ ด้วยกฎหมายที่คลุมเครือ 2.การบัญญัติกฎหมายมีฐานความคิดจากส่วนกลางไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม จารีตประเพณี 3.ความล่าช้าของหน่วยงานรับผิดชอบในการให้ใบอนุญาตวิทยุชุมชน 4.การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงก่อให้เกิดความสับสน หวาดระแวง ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง
ส่วนข้อเสนอ ได้แก่ ต้องกระจายอำนาจความเป็นเจ้าของสื่อให้ภาคประชาชนและมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพ, กฎหมายต้องรัดกุมและไม่แทรกแซงสื่อ, รัฐต้องปฏิรูปตัวเองให้โปร่งใส ตรวจสอบได้, สื่อต้องปฏิรูปตัวเองโดยมีจรรยาบรรณ รับผิดชอบ เป็นกลาง รวมตัวกันป้องกันการแทรกแซง, ประชาชนต้องรับสื่อที่มีความหลากหลาย, รัฐบาลไม่ใช่ผู้กำกับ แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดองค์กรอิสระมากำกับดูแลสื่อ ส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างหรือกลไกกำกับดูแลกันเองและควบคุมการใช้อำนาจของสื่อสารมวลชน, ประชาชนต้องเข้ามาตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระและสื่อมวลชนได้ .
--