แอมเนสตี้เปิดรายงานล่าสุดพบกองทัพเมียนมากำลังก่ออาชญากรรมสงครามในรัฐยะไข่
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่รายงานล่าสุดเรื่อง “ไม่มีใครคุ้มครองเรา”: อาชญากรรมสงครามและการปฏิบัติมิชอบที่รัฐยะไข่ในเมียนมา หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “No one can protect us”: War crimes and abuses in Myanmar’s Rakhine State พบว่า กองทัพเมียนมากำลังก่ออาชญากรรมสงครามและละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ ยังมีปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจเสี่ยงที่จะเกิดการก่ออาชญากรรมเพิ่มเติมขึ้นอีก เรียกร้องยูเอ็นส่งเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยเร็ว และประเทศอาเซียนต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อร่วมแก้ไขปัญหานี้
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำการสัมภาษณ์ 81 ครั้ง มีการสัมภาษณ 54 ครั้งในพื้นที่รัฐยะไข่ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 และอีก 27 ครั้งเป็นการสัมภาษณ์ในที่ห่างไกล ซึ่งประชาชนอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามความขัดแย้ง ทั้งนี้รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ยะไข่ โมร โรฮิงญา และคามี ซึ่งเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ทางหน่วยงานยังได้ตรวจสอบภาพถ่าย วีดิโอ และภาพถ่ายดาวเทียม และได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม นักสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ด้วย
นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการแผนกเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า กองทัพเมียนมาได้สังหารและทำให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บ จากการโจมตีอย่างไม่เลือกเป้าหมายตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นมา กองทัพเมียนมาทำการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การจับกุมคุมขังโดยพลการ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ปฏิบัติการครั้งใหม่เป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาลให้ “จัดการ” กองทัพชาวอาระกันหรือกลุ่มติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในยะไข่ ภายหลังมีการโจมตีป้อมตำรวจโดยกองทัพชาวอาระกัน
“ไม่ถึงสองปีที่กองทัพเมียนมากระทำต่อประชากรชาวโรฮิงญาที่ทำให้ทั่วโลกต้องขุ่นเคือง กองทัพเมียนมาก็ปฏิบัติมิชอบอย่างโหดร้ายอีกครั้งต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่า กองทัพเมียนมาไม่มีสำนึก ไม่มีการปฏิรูป และยังไม่มีการรับผิดต่อการกระทำที่ป่าเถื่อนต่อพลเรือน และการละเมิดอย่างกว้างขวางซึ่งถือว่าเป็นยุทธวิธีอย่างจงใจของทางทหาร”
ชุมชนชาติพันธุ์ยะไข่มีปัญหาทางการเมืองรัฐบาลของเมียนมามายาวนาน ส่วนกองทัพชาวอาระกันมีแกนนำเป็นชาวยะไข่แนวชาตินิยมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ในปัจจุบันคาดว่ากองทัพชาวอาระกันมีกำลังพลประมาณ 7,000 นาย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2552 ได้ต่อสู้ร่วมกับองค์กรติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ทางตอนเหนือของเมียนมา และในหลายปีที่ผ่านมายังมีการปะทะกับกองทัพเมียนมาในยะไข่และในรัฐชินที่อยู่ข้างเคียง โดยมีการสู้รบอย่างเข้มข้นช่วงปลายปี 2561
หลักฐานใหม่ครั้งนี้ยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นที่องค์การสหประชาชาติจะต้องหาทางจัดการกับอาชญากรรมที่ทารุณโหดร้ายของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ และในรัฐคะฉิ่น และรัฐฉานในตอนเหนือของเมียนมาอย่างเร่งด่วน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ เสนอให้มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง และให้นำตัวพวกเขาเข้ารับการไต่สวนในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เนื่องจากไม่มีการรับผิดตามกฎหมายในประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ นำกรณีของเมียนมาเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศโดยเร่งด่วน และให้มีการสั่งห้ามขายอาวุธอย่างเบ็ดเสร็จต่อเมียนมา ประเทศที่เป็นพันธมิตรกับเมียนมายังควรทบทวนความสัมพันธ์กับผู้นำในกองทัพเมียนมา และใช้มาตรการแทรกแซงอย่างมีเป้าหมายต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง โดยเป็นการแทรกแซงผ่านหน่วยงานพหุภาคี อย่างสหภาพยุโรป และสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ในขณะที่กองทัพเมียนมากระทำการที่โหดร้ายอย่างชัดเจนเช่นนี้ จึงจำเป็นที่ต้องมีแรงกดดันระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประชาคมโลกไม่สามารถขัดขวางกองทัพเมียนมาจากการก่ออาชญากรรม และคุ้มครองประชากรพลเรือนได้ คณะมนตรีความมั่นคงก่อตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขสถานการณ์เช่นนี้ จึงถึงเวลาที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบของตนอย่างจริงจัง” นิโคลัสกล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก ฟาตอนีออนไลน์