สปสช.จัดเวทีเพิ่มศักยภาพภาคประชาชน “จัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์บัตรทอง”
สปสช.จัดเวที “พัฒนาศักยภาพการจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์บัตรทอง” หนุนสร้างความรู้ความเข้าใจภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ป่วยและผู้พิการ จัดทำข้อเสนอฉลุย ผ่านพิจารณาบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ ชี้เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างการส่วนร่วม พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ที่โรงแรมทีเค พาเลชแอนด์คอนเวนชั่น กทม. – เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดทำข้อเสนอหัวข้อปัญหาและเทคโนโลยีสุขภาพ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2562 จัดโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีผู้แทนกลุ่มภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้ป่วย และคนพิการเข้าร่วมการประชุมเข้าร่วม โดยมีคณาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิประโยชน์ กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และการประเมินโทคโนโลยีสุขภาพ (Health technology assessment : HTA) นำไปสู่การพัฒนาการจัดทำข้อเสนอที่เข้มแข็งเพื่อบรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในแต่ละปี สปสช.จะมีการทบทวนสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงและพัฒนาให้ประชาชนผู้มีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยพิจารณาจากข้อเสนอของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 9 ด้าน แต่ที่ผ่านมาพบว่าข้อเสนอจากกลุ่มภาคประชาสังคมและเครือข่ายผู้ป่วยแม้ว่าจะเป็นข้อเสนอที่ดี แต่ด้วยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลอ้างอิงและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนและผลักดัน อาทิ ความจำเป็นของสิทธิประโยชน์ จำนวนผู้ป่วยหรือผู้ได้รับผลกระทบ ประสิทธิผล ความคุ้มค่า และความเป็นธรรม เป็นต้น ทำให้ข้อเสนอเหล่านั้นได้รับการตอบรับเพื่อนำไปสู่ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ไม่มาก จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในวันนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์จากประชาชนให้มีพลังมากขึ้น
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหลักการสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ความยั่งยืน การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ในครั้งนี้ นับเป็นหนึ่งในกระบวนการของสร้างการมีส่วนร่วม มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาการสร้างการมีส่วนร่วมในระบบให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศไทยถูกพูดถึงมากที่สุดใน “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 72” ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ที่ผ่านมา และการประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมประชุมยังสามารถถ่ายทอดและส่งต่อความรู้ภายในกลุ่ม เพื่อให้การจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์จากภาคประชาชนมีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น
“ในวันนี้เป็นกระบวนการเพื่อลดช่องว่างในการจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชนให้กับกลุ่มภาคประชาชนที่เป็นผู้ใช้สิทธิในระบบโดยตรง ให้มีความเข้าใจกระบวนการและหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกการบรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์การจัดทำข้อเสนอต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
นางอรนุช เลิศกุลดิลก เครือข่ายผู้สูงอายุ และผู้ก่อตั้งโครงการ ForOldy กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมผลักดันข้อเสนอจัดทำรากฟันเทียมในผู้สูงอายุ เพราะจากการทำงานกับผู้สูงอายุได้เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ เนื่องจากมีผู้สูงอายุบางคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยว ทำให้กินอาหารไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แต่ด้วยขาดข้อมูลสนับสนุนทำให้ไม่ได้รับการตอบรับ ซึ่งจากการเข้าร่วมประชุมในวันนี้ทำให้เข้าใจ ทราบขั้นตอนและหลักเกณฑ์การพิจารณาสิทธิประโยชน์ รวมถึงวิธีการจัดทำข้อเสนอเพื่อให้ได้รับการตอบรับ ที่เป็นประโยขน์ต่อการจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ต่อไป
ด้าน นายเอกวัฒน์ สุวันทโรจน์ รองประธานชมรมผู้ป่วยโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลียแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ในระบบส่วนใหญ่จัดทำโดยแพทย์ที่มองเห็นถึงความจำเป็นของผู้ป่วยในการเข้าถึงการรักษา เช่นกรณีของผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียที่การจัดทำข้อเสนอค่อนข้างเข้มแข็ง เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยและแพทย์ที่สนับสนุน ร่วมกับการทำงานของเครือข่ายผู้ป่วย แต่ยังมีผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สิทธิประโยชน์ยังไม่ครอบคลุม อาทิ กลุ่มโรคหายาก แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยมีไม่มากแต่มีความจำเป็นต้องเข้าถึงการรักษา ทั้งบางโรคยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งความรู้เกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอสิทธิประโยชน์ในวันนี้ จะนำเข้าสู่เวทีเครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) เพื่อเป็นกลไกในการร่วมผลักดันสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยในโรคอื่นต่อไป