เจาะเส้นทาง"จยย.มรณะ"ก่อนบอมบ์ตลาด - ส่ง 735 ชป.หยุดไฟใต้กระพือ?
สถานการณ์ไฟใต้กลับมาคุโชนอีกครั้ง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 27 พ.ค.62 เกิดเหตุ "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ที่ตลาดบ้านบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างรุนแรง
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีเหตุระเบิดโจมตีจุดตรวจของตำรวจ สภ.จะนะ จังหวัดสงขลา ด้านหลังสถานีรถไฟจะนะเพียง 1 วันเท่านั้น
เหตุระเบิดหน้าป้อม ชรบ. หรือชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หลังสถานีรถไฟจะนะ อำเภอจะนะ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 อำเภอรอยต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงนั้น ระเบิดที่เกิดขึ้นทำให้มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 3 นาย และมีผู้หญิงบาดเจ็บอีก 2 คน
ส่วน "มอเตอร์ไซค์บอมบ์" ที่ตลาดบ้านบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีชาวบ้านเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กชายอายุเพียง 14 ปี และอีกคนเป็นผู้หญิง มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 22 ราย (ข้อมูลจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุตัวเลขคนเจ็บ 23 ราย) มีทั้งทหาร และประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมุสลิม เนื่องจากต้องไปจ่ายกับข้าวหรือซื้ออาหารเพื่อเตรียมละศีลอดหลังพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยในจำนวนนี้มีเด็กอายุเพียง 2 ขวบ 5 เดือนรวมอยู่ด้วย
การที่คนร้ายสบโอกาสลอบวางระเบิดได้ในที่ชุมชน และบริเวณที่ตั้งจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีการตั้งคำถามถึงช่องโหว่ของมาตรการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ทั้งๆ ที่ช่วงนี้เป็นช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด ซึ่งมักเป็นช่วงที่มีสถิติเหตุรุนแรงสูงขึ้นแทบทุกปี
เริ่มจากเหตุระเบิดหลังสถานีรถไฟจะนะ จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า คนร้ายฝังระเบิดไว้ในดินบริเวณหน้าป้อม ชรบ. ซึ่งโดยปกติควรจะมี ชรบ.เข้าเวรยามอยู่ตลอดเวลา และป้อมก็มีลักษณะคล้ายบังเกอร์ นอกจากนั้นพื้นที่บริเวณนี้ยังเป็นจุดที่ตำรวจ สภ.จะนะ นำกำลังมาตั้งจุดตรวจเพื่อป้องปรามเหตุร้ายอยู่เป็นประจำด้วย ทำให้มีกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ว่า คนร้ายนำระเบิดไปฝังไว้ได้อย่างไร ฝังเวลาไหน และเหตุใดจึงไม่มีผู้ใดพบเห็น
ส่วนเหตุการณ์ที่ตลาดบ้านบ่อทองนั้น ระเบิดที่คนร้ายใช้เป็นชนิดแสวงเครื่อง ซุกไว้ในรถจักรยานยนต์ ขณะนี้ยังไม่พบแผ่นป้ายทะเบียน จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นรถที่ไม่ติดป้ายทะเบียน ทำให้น่าสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริเวณตลาด ปล่อยให้รถที่ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเข้ามาจอดโดยไม่ตรวจสอบได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงกำลังสั่งการให้มีการสอบสวน
นอกจากนั้นตลาดที่เกิดเหตุยังอยู่ไม่ห่างจากค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ค่ายทหารที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอยู่ใกล้กับท่าอากาศยานปัตตานีด้วย
คนร้ายจอด จยย.บอมบ์ก่อน จนท.มา 10 นาที
ข้อมูลจากชุดสืบสวน และจากคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.ปิยวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ระบุว่า คนร้ายขี่รถจักรยานยนต์ที่ประกอบระเบิดมาจอดไว้ก่อนที่ทหารพรานจะมาทำหน้าที่ รปภ.ตลาดเพียง 10 นาที เมื่อเจ้าหน้าที่มาถึงก็เกิดระเบิดขึ้น เบื้องต้นเชื่อว่าเป็นการกระทำของกลุ่ม นายเมาลานา สาเมาะ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่มีหมายจับหลายคดี และเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ก่อเหตุกราดยิงร้านอาหารในพื้นที่อำเภอหนองจิกเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้ลอบวางระเบิดตลาดบ้านบ่อทอง เป็นคันเดียวที่ก่อเหตุยิงร้านอาหาร และเคยนำมาก่อเหตุรุนแรงอื่นๆ หลายเหตุการณ์
คาดโยงแก๊งยิงร้านข้าวแกง - บึ้มรถตำรวจ
สำหรับเหตุยิงกราดยิงร้านอาหารในพื้นที่อำเภอหนองจิก เกิดขึ้นเมื่อราวๆ วันี่ 23-24 เม.ย.62 เป็นร้านอาหารใต้ชื่อ "ข้าวแกงปลาดุก" ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 ซึ่งเป็นถนนสายหลักเชื่อมระหว่างอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กับตัวเมืองปัตตานี โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บ 1 ราย เจ้าหน้าที่ได้หลักฐานเป็นภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด คนร้าย 2 คนกำลังขี่รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนหลบหนี โดยขี่สวนเลน ก่อนเลี้ยวเข้าถนนสายรองหายไป
รถจักรยานยนต์คันนี้ ตำรวจมีหลักฐานว่าเป็นรถที่คนร้ายใช้เป็นพาหนะในการลอบวางระเบิดรถตำรวจ สภ.นาประดู่ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วย (อ่านประกอบ : เปิดภาพผู้ต้องสงสัยกราดยิงร้านอาหารหนองจิกควบ จยย.สวนเลน)
ปฏิบัติการตอบโต้วิสามัญฯ 1 ศพที่ยะหา?
สำหรับชนวนเหตุบึ้มตลาดบ้านบ่อทอง ผู้การปัตตานี บอกว่า น่าจะเป็นการตอบโต้เหตุปะทะที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ในวันเดียวกัน ซึ่งมีการวิสามัญฆาตกรรม นายอับดุลเลาะ ลาเต๊ะ ผู้ต้องหาที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงหลายคดีด้วย โดย นายอับดุลเลาะ มีภรรยาอยู่ที่อำเภอหนองจิก และเป็นเพื่อนสนิทของนายเมาลานา ทำให้การเสียชีวิตของนายอับดุลเลาะ สร้างความโกรธแค้นให้กับกลุ่มของนายเมาลานา
เหตุวิสามัญฆาตกรรมนายอับดุลเลาะ ตามที่ผู้การปัตตานีอ้างถึง ก็คือเหตุการณ์ที่กองกำลังผสม 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ และปกครอง เปิดฉากยิงปะทะกับกลุ่มคนร้ายในพื้นที่ตำบลกาตอง อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ทำให้นายอับดุลเลาะเสียชีวิต ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 1 นาย เป็นทหารยศสิบตรี
เหตุการณ์ในครั้งนี้มีเพลิงไหม้บ้านเรือนประชาชนด้วย ทำให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนำไปสร้างข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่เผาบ้านชาวบ้านเพื่อทำลายหลักฐานบางอย่าง และยังอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 5 คน แต่ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่ามีผู้ต้องหาคดีความมั่นคงเสียชีวิตเพียง 1 คน และสาเหตุที่มีบ้านถูกเพลิงไหม้ น่าจะมาจากไฟฟ้าลัดวงจร
ข้อสังเกตเรื่องการระเบิดตลาดเพื่อตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมนายอับดุลเลาะ ถฺูกตั้งคำถามจากบางฝ่ายว่า เป็นข้อสันนิษฐานที่มีน้ำหนักมากพอหรือไม่ เพราะทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และกว่าที่เจ้าหน้าที่จะยืนยันตัวบุคคลที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมได้ว่าเป็นใคร ก็เป็นช่วงบ่ายแล้ว ใกล้เคียงกับเวลาที่คนร้ายลอบวางระเบิดตลาดบ้านบ่อทอง
ขณะที่ข้อมูลจากฝ่ายทหารระบุว่า จุดเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ทหารพรานสังกัดกรมทหารพรานที่ 43 เข้าไปวางกำลังดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาจับจ่ายซื้อของเป็นประจำทุกวัน ทำให้คนร้ายเฝ้าดูพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ได้ และฉวยโอกาสนำรถจักรยานยนต์ประกอบระเบิดแสวงเครื่องเข้าไปจอดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะไปถึง และใช้วิทยุสื่อสารกดจุดชนวนระเบิดในเวลาต่อมา ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับข้อมูลกลยุทธ์การก่อเหตุรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบว่าจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เฝ้าสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ก่อนปฏิบัติการจริงนานนับเดือน
ตลาดสด ตลาดนัด สมรภูมิความรุนแรง?
พื้นที่ตลาดสด ตลาดนัด มีอยู่มากมายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะช่วงเดือนรอมฎอนจะมีตลาดนัดใหม่ๆ ผุดขึ้นจำนวนมาก เพราะจะมีประชาชนไปจับจ่ายหาซื้ออาหารมากเป็นพิเศษ เพื่อละศีลอดในแต่ละวัน
ที่ผ่านมาพื้นที่ตลาดเคยตกเป็นเป้าการก่อเหตุรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง มีการสั่งเพิ่มมาตรการเข้มมาตลอด ถึงขั้นห้ามเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบหรือ "สัญลักษณ์บอกฝ่าย" เข้าไปจ่ายตลาดกันเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็ยังเกิดเหตุรุนแรงขึ้นอยู่ดี
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เหตุการณ์ประกบยิงทหารพรานเสียชีวิต 2 นายที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส วันเดียวกับที่เกิดเหตุระเบิดหลังสถานีรถไฟจะนะ คนร้ายได้สะกดรอยตามทหารพรานมาจากตลาดต้นไทร อำเภอบาเจาะ เพราะทหารพรานทั้ง 2 นายไปซื้อกับข้าว และกำลังขี่รถจักรยานยนต์ไปอีกตลาดหนึ่ง จึงถูกคนร้ายที่วางแผนดักรออยู่แล้ว จ่อยิงอย่างง่ายดาย โดยคนร้ายมี 4 คน ใช้รถจักรยานยนต์ 2 คันเป็นพาหนะ คันสะกดรอยตามเหยื่อ อีกคันหนึ่งจอดรถอยู่ริมถนน เมื่อคนร้ายบนรถคันแรกส่งสัญญาณ คนร้ายที่ดักรออยู่ก็ลงมือสังหารทันที โดยชักปืนยิงใส่ถึง 7 นัด ทำให้รถล้มคว่ำ เสียชีวิตทั้งคู่
ล่าสุดฝ่ายทหารสรุปแล้วว่า ผู้ก่อเหตุยิงทหารพรานเป็นกลุ่มเดียวกับที่ประกบยิงสองแม่ลูกตระกูล "แก่นเรือง" เสียชีวิตในพื้นที่เดียวกันนี้ เมื่อช่วงวันแม่ปี 61 (11 ส.ค.) โดยเด็กที่เสียชีวิต เป็นเด็กหญิงอายุแค่ 13 ปี (อ่านประกอบ : ตำรวจเหยื่อบึ้มจะนะมีภรรยาเป็นครู - แฉฝังระเบิดหน้าป้อม ชรบ.)
ส่ง 735 ชุดปฏิบัติการอุดช่องโหว่ระดับหมู่บ้าน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือช่องโหว่ของมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงพุ่งสูงทุกปี และมีการแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ปีนี้ก็ยังมีเหตุเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก หนำซ้ำยังเป็นกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุซ้ำๆ แต่เจ้าหน้าที่ยังจับกุมไม่ได้เกือบทั้งสิ้น
ล่าสุด พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ หรือ "บิ๊กเดฟ" แม่ทัพภาคที่ 4 ได้สั่งการให้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเชิงรุกทั้ง 735 ชุดปฏิบัติการ ให้กระจายลงไปในหมู่บ้านและชุมชนเป้าหมาย ให้ดูแลพี่น้องประชาชนให้ได้รบัความปลอดภัยสูงสุด โดยเฉพาะช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนที่คาดว่าจะสิ้นสุดในราววันที่ 3 มิถุนายนนี้
ชุดปฏิบัติการ หรือ ชป.735 ชุด เคยปูพรมปฏิบัติการเชิงรุกปิดล้อมตรวจสอบและยิงปะทะผู้ก่อความไม่สงบที่ซ่อนตัวในป่าเขาช่วงก่อนเข้าสู่เดือนรอมฎอนมาแล้ว ทำให้เกิดการยิงปะทะและป้องปรามกลุ่มก่อความไม่สงบไม่ให้ก่อเหตุ โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่สูญเสียเลย (อ่านประกอบ : ปฏิบัติการเชิงรุก 735 ชป. 4 วัน 3 ปะทะ ไร้สูญเสีย)
ก็ต้องรอดูว่าปฏิบัติการเชิงรัก 735 ชป.จะพลิกสถานการณ์ชายแดนใต้ให้กลับมาสงบเรียบร้อยและปลอดภัยได้มากขึ้นหรือไม่