“เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน”
“ผมมั่นใจว่า คนไทยทุกคนเข้าใจคำว่า บุญคุณ และประสงค์จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยกันทุกคน แต่ทำในระดับต่างกัน ขนาดต่างกัน ด้วยความแน่วแน่ต่างกัน ฉะนั้นบางคนก็เป็นคนดีมาก บางคนก็เป็นคนดีน้อย บางคนก็เป็นคนไม่ดี"
“เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” บทความพิเศษ เขียนโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จัดพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้เป็นหนังอ่านนอกเวลา
สำนักข่าวอิศรา (ww.isranews.org) คัดบางช่วงมานำเสนอ
“เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” พลเอกเปรม ระบุว่า ได้พยายามพูดถึงข้อความนี้มาเป็นเวลานานนับสิบปีทีเดียว เพื่อให้แพร่หลายออกไปยังคนไทยให้มากและกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนไทยจักได้สำนึกว่า เราทุกคนมีหน้าที่ และความรับผิดชอบที่จะต้องตอบแทนคุณแผ่นดินที่เราอาศัยเกิดมาและเติบโตจนเป็นตัวเราขณะนี้ ด้วยความสำนึกที่แน่วแน่ว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่รู้สึกว่าไม่ติดตลาดเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะทำการเผยแพร่ไม่ดีพอ ไม่กว้างขวางพอ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ อาจเป็นเพราะเข้าใจยาก ไม่ทราบว่าพูดเรื่องอะไร และอาจจะเป็นเพราะบางท่านคิดว่า เป็นเรื่องที่ไม่ได้เรื่องก็ได้
การตอบแทนคุณแผ่นดิน คือ การทำอย่างไร
พลเอกเปรม นิยามไว้ว่า “การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นสถาบันที่ดี เป็นองค์กรที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี มุ่งกระทำแต่ความดี เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน”
และถ้าคำนิยามนี้เป็นที่ยอมรับ ก็จะเห็นได้ว่า คนไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกสาขาอาชีพ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอง หรือองค์กรของรัฐ ของภาคเอกชน และสถาบันของรัฐของภาคเอกชนย่อมรวมอยู่ในคำนิยามนี้ทั้งสิ้น
ฉะนั้น การตอบแทนคุณแผ่นดิน จึงมีความหมายกว้างขวาง ลึกซึ้ง ยิ่งใหญ่ไพศาล และครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่คน และหรือสถาบันองค์กรได้กระทำและยังประโยชน์ต่อแผ่นดิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ทำให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มีความก้าวหน้า มีความสงบสุข คนในชาติมีความสามัคคี มีสุขภาพแข็งแรง มีการศึกษาที่ดีพอที่จะประกอบอาชีพได้ มีความยั่งยืน และมีคนไม่ดีน้อยมาก
จะเห็นว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ในชาติบ้านเมืองของเรา เข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและปฏิบัติตามที่เข้าใจ ชาติบ้านเมืองของเราก็จะมีคนดีมาก คนไม่ดีน้อย ชาติบ้านเมืองก็จะมีความปรกติสุขเรียบร้อย
ตอนหนึ่งในบทความ “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” มีข้อสังเกตถึงการทำดี ทำไม่ดีในสังคมไทย มีผลหรือให้ผลแตกต่างกันไปค่อนข้างจะไม่เหมือนใคร
“สังคมของเรามักยกย่องเคารพนับถือคนมีเงิน คนมีอำนาจ โดยไม่สนว่าภูมิหลังเป็นอย่างไร ร่ำรวยมาโดยวิธีใด ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเครือญาติอย่างไร ประกอบอาชีพสุจริตหรือผิดกฎหมาย เสียภาษีถูกต้องหรือหลบเลี่ยง เป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือไม่
ส่วนคนธรรมดาๆ ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงินมากหรือเป็นคนจน เป็นคนบ้านนอก จะประพฤติปฏิบัติตนดีอย่างไร ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากสักแค่ไหน สังคมก็ไม่เอ่ยถึง ไม่ยกย่อง ไม่กราบไหว้ หากสังคมเรายังยึดถืออย่างนี้ สังคมจะบิดเบี้ยว การบังคับใช้กฎหมายก็จะหย่อนยานและจะมีผลกระทบให้ระเบียบของสังคมเพี้ยนไป”
พลเอกเปรม ได้เชิญชวนให้ช่วยกันคิดว่า เราควรจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินโดยการยกย่องคนดี แทนการยกย่องคนมีเงิน มีอำนาจแต่ไม่ดีกันหรือยัง เลิกกราบไหว้เลิกคบค้าสมาคมกับคนไม่ดีโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล ไม่หวั่นต่ออันตราย สังคมควรจะพร้อมใจกันลงโทษคนจำพวกนี้ และยกย่องส่งเสริมคนดีให้มีกำลังใจให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกหลานของเราต่อไป
ส่วนประเด็นที่มีคนพูดกันมากว่า บ้านเมืองเราอับจนคนเก่ง หมายความว่า มีคนเก่งน้อย บ้านเมืองจึงพัฒนาช้านั้น ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ระบุว่า
“ผมไม่มีข้อโต้แย้งหรือสนับสนุน เพราะไม่มีข้อมูลพิสูจน์ เมื่อผมได้รับเชิญไปพูดที่สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2542 ผมพูดว่า การอับจนคนเก่งไม่น่าวิตกเท่ากับการอับจนคนกล้า ผมคิดว่าปัจจุบันนี้บ้านเมืองของเราต้องการคนกล้า กล้าที่จะไม่นับถือและตำหนิคนไม่ดี หน่วยงานที่ไม่ดี ผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ดี บางทีสักวันหนึ่งเราอาจจะโชคดี ทำให้เขาเหล่านั้นและองค์กรนั้นๆ สำนึกบาป แล้วหันกลับมาประกอบคุณงามความดีให้แก่ชาติบ้านเมือง
การทำตน การบริหารองค์กร ให้ “ประหยัด เรียบ ง่าย” ซึ่งตรงข้ามกับ “สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ ยุ่งยาก” ก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความสำนึกที่ดีในการปฏิบัติตน การบริหารองค์กร และจะยังประโยชน์ต่อตนเองและต่อองค์กรนั้นๆ มาก”...
เรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
การสร้างความสามัคคีในชาติ กระทำได้โดยการยึดถือเอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งไม่แบ่งฝ่าย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของพรรคพวก เหนือกว่าประโยชน์ของส่วนรวม การดำรงความสามัคคีในชาติ จึงเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่มาก ทุกคนพึงร่วมมือกันด้วยความสำนึกโดยตลอดเวลา
รัฐบาลที่ดีจะใช้การปกครองที่ดี เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความสุขในแผ่นดิน
ผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการประจำทุกฝ่าย พนักงานรัฐวิสาหกิจ ล้วนแต่เป็นกุญแจสำคัญในการบริหาร และพัฒนาชาติบ้านเมือง ท่านเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชน
ผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ก็ต้องเข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเช่นกัน การดำเนินธุรกิจจึงจะมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้บริหารภาคเอกชนควรจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยการไม่เอาเปรียบผู้บริโภค แข่งขันกันอย่างเสรีและฉันมิตร ไม่ติดสินบนข้าราชการ และไม่หวั่นเกรงอิทธิพล กล้าหาญที่จะปฏิเสธคำขอที่จะนำไปสู่การทำลายระบบต่างๆ ของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง
“ผมใคร่ขอร้องนักธุรกิจที่ร่ำรวย มีฐานะดีมากๆ ได้โปรดเข้าใจและเห็นใจความลำบากยากแค้นของคนจน ควรจะยอมรับกันว่า คนจนคือผู้บริโภครายใหญ่ คนจนมีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด จึงกล่าวได้ว่า ยิ่งทำให้คนจนหายจนได้มากเท่าใด นักธุรกิจก็จะได้รับประโยชน์มากเท่านั้น ฉะนั้น การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม จึงเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับความเสมอภาคทั่วกัน”
การส่งเสริมสนับสนุนคนไทยด้วยกัน เช่น การซื้อ การใช้สินค้าที่ผลิต (แม้แต่บางส่วน) โดยคนไทย และการท่องเที่ยวในเมืองไทย การซื้อและการใช้ของไทย เป็นการเผยแพร่เกียรติและชื่อเสียงของชาติบ้านเมืองของเรา ยังประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยให้เศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรง การท่องเที่ยวในเมืองไทยจะทำให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เข้าใจและรักประเทศของเรา และช่วยเศรษฐกิจเช่นกัน เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่พึงกระทำอย่างยิ่ง
ส่วนคนไม่ดีประกอบอาชีพไม่สุจริต ทำธุรกิจผิดกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถ้าเขาสำนึกได้ และเลิกเสีย แล้วหันมาประกอบอาชีพสุจริตจะเป็นการตอบแทนบุญคุณที่น่าสรรเสริญยิ่ง
อีกตอนหนึ่งในบทความ “เกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน” พลเอกเปรม พยายามแปลคำว่า “บุญคุณ” ซึ่งเป็นภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ “อาจเป็นเพราะฝรั่งเขาถือว่าการกระทำอะไรให้กันและกัน ไม่ถือเป็นบุญคุณ”
ทั้งนี้ได้ยกตัวอย่าง เมื่อ John F.Kenedy ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เขาได้ปราศรัยต่อประชาชนอเมริกันว่า
“Ask not what your country can do for you,Ask what you can do for your country”
แปลเป็นไทยว่า “อย่าถามว่าประเทศจะทำอะไรให้แก่ท่าน จงถามว่า ท่านจะทำอะไรให้แก่ประเทศได้บ้าง”
“เป็นสุนทรพจน์ที่ไพเราะจับใจ สั้น แต่มีความหมายลึกซึ้งกว้างไกล ทำให้ผมรู้สึกว่า คนอเมริกันเขาก็เข้าใจและรู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเหมือนกัน”
มีประโยคภาษาอังกฤษอีกประโยค ที่พลเอกเปรม ยกมาเป็นตัวอย่างให้ฟังเพื่อประเทืองปัญญา โดยมิได้มีเจตนาจะตำหนิ
เขาพูดว่า
“ A Statesman thinks he belongs to the nation,but a politician thinks the nation belongs to him”
ประโยคนี้ขอเว้น ไม่แปล
“ผมมั่นใจว่า คนไทยทุกคนเข้าใจคำว่าบุญคุณ และประสงค์จะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยกันทุกคน แต่ทำในระดับต่างกัน ขนาดต่างกัน ด้วยความแน่วแน่ต่างกัน ฉะนั้นบางคนก็เป็นคนดีมาก บางคนก็เป็นคนดีน้อย บางคนก็เป็นคนไม่ดี"