นายกฯเผยทิศทางจัดการผู้สูงอายุท้องถิ่นไทย ปรับกติกาใหม่เบี้ยยังชีพคนชรา
อภิสิทธิ์ ชี้การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไม่สมดุล ทำให้ชนบทมีแต่คนแก่กับเด็ก อายุเฉลี่ยเกษตรกรไทยสูงมาก เป็นโจทย์ท้าทายการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการ เผย 5 แนวทางรับมือภาวะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ เน้นให้ความสำคัญกองทุนการออมแห่งชาติแก้ปัญหาทั้งระบบได้ ส่วนเบี้ยยังชีพคนชราเตรียมปรับกติกาใหม่ ไม่เบียดงบท้องถิ่น แต่อำนาจตัดสินใจเป็นของส่วนกลาง
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จ.นนทบุรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษเรื่อง"ทิศทางการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทยในอนาคต" ว่าการบริหารจัดการดูแลให้บริการผู้สูงอายุ เป็นประเด็นสำคัญท้าทายอนาคตคนไทย สัดส่วนผู้สูงอายุเทียบกับประชากรทั้งประเทศปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 11-12 เป็นภาวะก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ คาดว่าภายไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 25 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรประเทศคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก จึงเป็นประเด็นท้าทายการบริหารจัดการสวัสดิการสังคม เศรษฐกิจ และผลกระทบที่จะซึ่งตามมาอีกหลายๆด้าน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารจัดการเรื่องของผู้สูงอายุจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ซึ่งเป็นผลจากความก้าวหน้าเทคโนโลยีวิทยาการที่ทำให้คนมีอายุยืนสุขภาพดีขึ้น รวมทั้งโครงสร้างครอบครัวที่มีลูกน้อยลง และไม่ควรมองผู้สูงอายุเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว ผู้สูงอายุอยู่ในฐานะการเป็นผู้ให้ในสังคมมากจากประสบการณ์ความรู้ที่สั่งสมมายาวนาน นอกจากนี้ต้องตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรส่งผลกระทบกับโครงสร้างความสัมพันธ์คนในสังคมด้วย เช่น รูปแบบและโครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนโดยครอบครัวขยายนับมีจำนวนลดลง
“และการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมที่ไม่สมดุลทำให้ชนบทมีผู้สูงอายุกับเด็กและเยาวชนเป็นหลัก นอกจากนี้ภาคส่วนต่างๆก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น อายุเฉลี่ยของเกษตรกรขณะนี้สูงมาก ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ เพราะภาคการเกษตรขาดระบบสวัสดิการรองรับ หรือแม้กระทั่งในระบบราชการปัจจุบัน อายุเฉลี่ยราชการก็เพิ่มขึ้นซึ่งแตกต่างกับหลายประเทศ และมีปัญหาการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาด้วย”
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในภาพรวม ทำให้จำเป็นต้องปรับแนวคิดปรับรื้อหลายระบบเพื่อรองรับความท้าทาย เรื่องสังคมผู้สูงอายุไม่ควรมองอยู่ในประเด็นจำกัด เช่น จำนวนสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา หรือคิดเพียงว่าจะโอนให้ท้องถิ่นดูแลได้หรือไม่ แต่ต้องมองการบริหารจัดการภาพรวม ซึ่งรัฐบาลได้วางไว้ 5 แนวทางหลักคือ 1.การเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้าบนการมีฐานข้อมูลที่สามารถพยากรณ์สัดส่วนประชากรได้ค่อนข้างแม่นยำ 2.ตระหนักถึงคุณค่าประสบการณ์ความรู้และศักยภาพผู้สูงอายุ 3.สร้างหลักประกันรายได้ ความเป็นอยู่ผู้สูงอายุ ซึ่งกับการเตรียมระบบสวัสดิการ 4.ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวมีคุณภาพ 5.ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและพื้นที่เข้ามาดูแลให้มากที่สุด เพราะมีความใกล้ชิดโดยตรง โดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของแต่ละพื้นที่
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 500 บาทว่าถือเป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งรัฐบาลตระหนักว่าไม่เพียงพอ แต่ก็ไม่ต้องการให้เป็นจุดหลักของระบบสวัสดิการผู้สูงอายุ จึงจะผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติเข้าไปดูแลคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้สามารถออมเพื่อชราภาพได้ โดยรัฐบาลสมทบเงินเข้าไปในกองทุน และต้องมีการขยายการเนินการไปสู่ท้องถิ่นโดยกองทุนสวัสดิการชุมชนในแต่ละชุมชนเอง ให้ท้องถิ่นสามารถสมทบกองทุนสวัสดิการหรือกองทุนเงินออมให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เดินหน้าโครงการแล้ว และให้มีการกระจายไปในหลายสาขาอาชีพเพื่อให้ครอบคลุม โดยเฉพาะต้องสามารถดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืนต่อไป
“ปัญหาเบี้ยยังชีพขณะนี้ รัฐบาลกับท้องถิ่นตกลงกันว่าในอนาคตท้องถิ่นยังคงมีบทบาทบริหารจัดการส่วนหนึ่ง เป็นผู้รับการขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุเพราะมีฐานข้อมูลในพื้นที่ ส่วนระบบจ่ายเงินที่ปัจจุบันมีสองทางคือผ่านธนาคารกับผ่านทางท้องถิ่น อนาคตจะปรับสู่ระบบธนาคารมากขึ้น และเพื่อไม่ให้ท้องถิ่นรู้สึกว่าเงินส่วนนี้ท้องถิ่นก็มีส่วนร่วมตัดสินใจ ต่อไปรัฐจะนับเงินส่วนนี้ทั้งหมดเป็นงบประมาณส่วนกลาง ไม่เบียดเอาส่วนท้องถิ่นซึ่งกฎหมายกำหนดเอาไว้ 25 เปอร์เซ็นต์หรือจะเพิ่มขึ้นในอนาคตมารวม”.