พลิกตำนานปรากฎการณ์ ‘งูเห่า’ รีเทิร์นเลื้อยเข้าสภาครั้งที่ 3 ตัวแปรแพ้-ชนะตั้ง รบ.?
“…กระทั่งผ่านมาอีกเกือบ 10 ปี ปรากฎการณ์ ‘งูเห่า’ เกิดขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่สาม ในสภาวการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ นำโดยพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มี 253 เสียง กลุ่มไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มี 244 เสียง ทำให้ต้องมีการใช้กลเกมการเมืองแบบเก่า เจรจาต่อรอง ‘งูเห่า’ เลื้อยเข้าสภาอีกครั้ง ?...”
จบลงไปแล้วสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 ของสมาชิก ส.ส. ชุดที่ 25 ใช้เวลาเบ็ดเสร็จรวม 2 วัน มติเสียงข้างมากเคาะทางลับเลือก นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานสภาล่างคนที่ 1-2 (อ่านประกอบ : งูเห่ายั้วเยี้ย-พปชร.ชนะ! 'สุชาติ-ศุภชัย' เข้าวินนั่งรอง ปธ.สภาฯคนที่ 1-2, งูเห่าโผล่ 5 คน! มติข้างมาก 258 เสียงดัน'ชวน'นั่งเก้าอี้ ปธ.สภาผู้แทนฯ-'สมพงษ์'พ่าย)
นอกเหนือจากบรรยากาศการเดินเกม-ถกเถียง ผ่านช่วงเวลาตึงเครียด-ผ่อนคลายแล้ว ประเด็นสำคัญในการลงมติเลือกประธาน-รองประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาคือ กรณี ‘งูเห่า’ โผล่หนุนทั้ง 2 ขั้ว ไม่ว่าจะเป็นขั้วเพื่อไทย หรือขั้วพลังประชารัฐ ?
เบื้องต้นต้องเข้าใจก่อนว่า การแบ่งขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขณะนี้มีอยู่ 2 ฝ่าย จาก ส.ส. ทั้งหมด 498 ราย (ข้อมูลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562) ได้แก่ ฝ่ายไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มี 7 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ และพรรคพลังปวงชนชาวไทย รวมเสียงทั้งหมด 245 เสียง (หากตัดนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีถือหุ้นสื่อ จะเหลือ 244 เสียง)
ส่วนฝ่ายสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มี 20 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย และพรรคจิ๋วอีก 11 พรรค รวมเสียงทั้งหมด 253 เสียง (หากไม่นับเสียงนายชัย ชิดชอบ จะเหลือ 252 เสียง)
โดยในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมา มีองค์ประชุมรวม 495 ราย แต่ลงมติ 494 ราย โดยอีก 3 รายที่เหลือ เป็นนายชัย ชิดชอบ 1 รายทำหน้าที่ประธานสภาชั่วคราว จึงไม่ลงคะแนน ส่วนอีก 2 ราย ลาป่วย
นายชวน เป็นประธานสภาฯ ด้วยการชนะนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย 258 เสียง ต่อ 235 เสียง เท่ากับว่ามีงูเห่าจาก ‘ฝ่ายไม่หนุน’ พล.อ.ประยุทธ์ มาช่วยดันนายชวน 6 เสียง
นายสุชาติ ตันเจริญ เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 1 ด้วยการชนะ น.ส.เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ ส.ส.อนาคตใหม่ 248 ต่อ 246 เสียง เท่ากับว่ามีงูเห่าจาก ‘ฝ่ายหนุน’ พล.อ.ประยุทธ์ มาช่วยดัน น.ส.เยาวลักษณ์ 2 เสียง
นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรองประธานสภาฯคนที่ 2 ด้วยการชนะ นพ.ประสงค์ บูรณ์พงศ์ ส.ส.เพื่อชาติ 256 ต่อ 239 เสียง เท่ากับว่ามีงูเห่าจาก ‘ฝ่ายไม่หนุน’ พล.อ.ประยุทธ์ มาช่วยดันนายศุภชัย 4 เสียง
จากข้อเท็จจริงข้างต้นเห็นได้ว่า ‘งูเห่า’ มีทั้ง 2 ขั้วปะปนกันอยู่ในสภา และด้วยการลงคะแนนแบบลับทำให้ตรวจสอบได้ยากอย่างยิ่ง
ท่ามกลางกระแสข่าวปล่อย สะพัดกันว่า มีการเจรจาต่อรองค่าตัว ‘งูเห่า’ ราคาตั้งแต่ 20-50 ล้านบาทเลยทีเดียว ?
สำหรับผู้สนใจทางการเมืองรุ่นเก่าคงทราบดีถึง ‘ตำนานงูเห่า’ ในหลายครั้งที่ผ่านมา แต่ผู้ที่เพิ่งมาสนใจการเมืองยุคหลัง หรือรุ่นใหม่ อาจไม่รู้จักปรากฎการณ์นี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org คุ้ยประวัติศาสตร์ ‘งูเห่า’ ในสภาให้ทราบอย่างน้อย 2 ครั้งสำคัญ ดังนี้
@‘งูเห่า’ ยุคแรกปี40 ‘กลุ่มวัฒนา อัศวเหม’ หักหลัง ‘สมัคร’ ดัน ‘ชวน’ นั่งนายกฯสมัย 2
ช่วง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรความหวังใหม่ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติค่าเงินบาทลอยตัว เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ เจรจาต่อรองพรรคอื่น ๆ เพื่อรวมเสียงตั้งรัฐบาลชุดใหม่ หวังชู ‘ชวน หลีกภัย’ หัวหน้าพรรคสีฟ้าขณะนั้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกคำรบ (นายชวนเคยเป็นนายกฯครั้งแรกระหว่างปี 2535-2358)
พรรคร่วมรัฐบาลเดิมขณะนั้น ได้แก่ พรรคชาติพัฒนา 52 เสียง พรรคความหวังใหม่ 125 เสียง พรรคประชากรไทย 18 เสียง และพรรคมวลชน 2 เสียง รวม 197 เสียง เตรียมดัน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ส่วนพรรคฝ่ายค้านขณะนั้น ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง ได้ดีลรวมเสียงกับ พรรคชาติไทย 39 เสียง พรรคเอกภาพ 8 เสียง พรรคพลังธรรม 1 เสียง พรรคไท 1 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาลยุค พล.อ.ชวลิต อีก 2 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม 20 เสียง และพรรคเสรีธรรม 4 เสียง รวม 196 เสียง น้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมแค่ 1 เสียงเท่านั้น
การเจรจา ‘งูเห่า’ จึงเกิดขึ้นโดยพลัน จากฝีมือของเซียนการเมือง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นคือ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ?
‘เสธ.หนั่น’ ไปดีลกับกลุ่ม ส.ส. ขั้วนายวัฒนา อัศวเหม ในพรรคประชากรไทย รวม 13 ราย เข้ามาสนับสนุน ส่งผลให้พรรคฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ มีเสียงรวมกัน 209 เสียง ส่วนฝ่ายรัฐบาลเดิมเหลือแค่ 185 เสียง ผงาดขึ้นจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ดัน ‘นายหัวชวน’ เป็นนายกฯอีกสมัย
เหตุการณ์ในครั้งนั้นถูกนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเดิม และประชาชนจำนวนไม่น้อย วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย เนื่องจากพรรคประชากรไทย ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช มีมติชัดเจนว่า จะไม่นำ ส.ส. พรรคประชากรไทยร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์
นายสมัคร ร้าวรานอย่างหนัก ถึงกับเปรียบเทียบตัวเองเข้ากับนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า โดยตัวเองเป็นเหมือน ‘ชาวนา’ ที่เก็บ ‘งูเห่า’ ที่กำลังจะตายจากความหนาวเย็นมาไว้ในอกเสื้อเพื่อให้ความอบอุ่น แต่ต่อมา ‘งูเห่า’ หันกลับมาฉก ‘ชาวนา’ ตายคาอก
สาเหตุที่นายสมัครเปรียบกลุ่ม ส.ส. ของนายวัฒนา อัศวเหม เป็น ‘งูเห่า’ เนื่องจากก่อนหน้านี้ กลุ่มของนายวัฒนา ที่เดิมสังกัดพรรคชาติไทย แต่มีความขัดแย้งกับนายบรรหาร ศิลปอาชา ทำให้ไร้สังกัดพรรคอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งเข้ามาอยู่พรรคประชากรไทย
ปรากฎการณ์นี้ทำให้สื่อมวชนในขณะนั้นเรียกขาน กลุ่ม ส.ส.ของนายวัฒนาว่า ตามคำพูดของนายสมัครว่า ‘กลุ่มงูเห่า’ อยู่เป็นเวลานาน และกลายเป็น ‘ตำนาน’ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
@‘งูเห่า’ ภาคสองปี’51 ตั้ง รบ.ในค่ายทหารหนุน ‘อภิสิทธิ์’-‘เนวิน’ หัก ‘ทักษิณ’ หล่นคำพูด “มันจบแล้วครับนาย”
ถัดจากนั้นมาราว 11 ปี เมื่อปี 2551 ปรากฎการณ์ ‘งูเห่า’ ภาคสองเกิดขึ้นอีก แต่คราวนี้ด้วยเล่ห์กลการเมือง แนบเนียนกว่าเดิม
ปลายปี 2551 รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีอันต้องสิ้นสุดลง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี นั่นหมายรวมถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนด้วย
หลังจากนั้นนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี บิดานายอนุทิน ชาญวีรกูล ขึ้นรักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าจะเฟ้นหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ การเจรจา ‘งูเห่า’ รอบสองจึงเกิดขึ้น ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น เนื่องจากต้องการผลักดัน ‘น้องรัก’ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกฯตามความฝันให้สำเร็จ
ระหว่างนั้นการเดินเกมของพรรคพลังประชาชน คือการโยกย้าย ส.ส. บางส่วนของพรรคไปสูพรรคเพื่อไทย พรรคอะไหล่ที่เตรียมไว้หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการเมือง ขณะที่ ส.ส. พรรคพลังประชาชนในซีก ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน (ชิดชอบ)’ เช่น นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล นายชัย ชิดชอบ (บิดานายเนวิน) นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นต้น ย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย
ว่ากันว่าขณะนั้นนายสุเทพ เดินหมากดีลกับกลุ่มเพื่อนเนวิน โดยมีการเดินเกมจาก พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง หว่านล้อมนายเนวิน ที่แม้จะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีจากคดียุบพรรคพลังประชาชน แต่ยังอยู่เบื้องหลัง ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ โดยมีการหารือจัดสรรขั้วอำนาจกันในค่ายทหาร (กองพันทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์) โดยดึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่แห่ง ‘บูรพาพยัคฆ์’ มาเข้าร่วมเป็นรัฐบาลด้วย
ท้ายที่สุดในการเลือกนายกรัฐมนตรีแทนนายสมชาย พรรคเพื่อไทย สนับสนุน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์ แข่ง โดยมี ส.ส. พรรคภูมิใจไทยรวม 24 ราย ‘พลิกขั้ว’ มาหนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ โดยพลพรรคกลุ่มเพื่อนเนวินได้รับการปูนบำเหน็จเป็นรัฐมนตรีหลายราย สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจแก่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายใหญ่ และบรรดาแกนนำพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะบทสนทนากับ ‘นายใหญ่’ ที่ ‘เนวิน’ บอกผ่านปลายสายว่า “มันจบแล้วครับนาย” คือการหั่นสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างนายเนวิน กับนายทักษิณ ลงอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนสื่อขณะนั้นตั้งฉายาพรรคภูมิใจไทยว่า ‘งูเห่า 2551’
กระทั่งผ่านมาอีกเกือบ 10 ปี ปรากฎการณ์ ‘งูเห่า’ เกิดขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่สาม ในสภาวการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ‘เสียงปริ่มน้ำ’ นำโดยพรรคสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มี 253 เสียง กลุ่มไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มี 244 เสียง ทำให้ต้องมีการใช้กลเกมการเมืองแบบเก่า เจรจาต่อรอง ‘งูเห่า’ เลื้อยเข้าสภาอีกครั้ง ?
ท้ายที่สุดในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นอันใกล้นี้ เป็นการโหวตแบบเปิดเผย โดยขานชื่อทีละคน จะมี ‘งูเห่า’ กล้าเปิดหน้าโผล่หัวมากี่ราย ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/