ปูมประวัติ 'ป๋าเปรม' นายทหารผู้ยิ่งใหญ่-นายกฯ3สมัย-ปธ.องคมนตรี 2 แผ่นดิน
"...ในช่วงที่ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าเมื่อปี พ.ศ.2511 ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า 'ลูก' จนเป็นที่มาของคำว่า 'ป๋าเปรม' ขณะที่คนสนิทของ 'พล.อ.เปรม' มักถูกเรียกว่า 'ลูกป๋า'..."
เมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 26 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษในวัยย่าง 99 ปี ได้ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภายหลังเข้ารักษาอาการด่วนตั้งแต่เช้าตรู่ของวันดังกล่าว
การจากไปของ 'พล.อ.เปรม' ถือเป็นความสูญเสียบุคคลสำคัญของประเทศไทย
เนื่องจาก 'พล.อ.เปรม' ดำรงตำแหน่งสำคัญเกือบทุกตำแหน่ง และสร้างคุณงามความดีให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย จนได้รับการยกย่องให้เป็น 'รัฐบุรุษ'
'พล.อ.เปรม' เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา
โดยชื่อเปรมนั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุลติณสูลานนท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 โดย พล.อ.เปรม เป็นบุตรชายคนรองสุดท้องจากจำนวน 8 คนของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลาหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า จากนั้นได้เข้ารับราชการทหารและร่วมรบในสงครามอินโดจีน รวมทั้งสงครามโลกครั้งที่สอง
ดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของไทย และดำรงตำแหน่ง 3 วาระ ระหว่างปี 2523 - 2531 โดยหลังพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2531 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2541
ในช่วงที่ พล.อ.เปรมดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าเมื่อปี พ.ศ.2511 ท่านมักเรียกแทนตัวเองต่อผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า “ป๋า” และเรียกผู้ที่อาวุโสน้อยกว่าว่า 'ลูก' จนเป็นที่มาของคำว่า 'ป๋าเปรม' ขณะที่คนสนิทของ 'พล.อ.เปรม' มักถูกเรียกว่า 'ลูกป๋า'
ก่อนย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ดูแลพื้นที่ภาคอีสานเมื่อปี 2517 ได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2520 และเลื่อนเป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2521
เส้นทางการเมือง 'พล.อ.เปรม'
'พล.อ. เปรม' เริ่มเข้าสู่ถนนการเมือง สมัยยศพันเอก โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญยุครัฐบาล 'จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์' เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502
และเข้ามามีบทบาททางการเมือง แต่ยังดำรงตำแหน่งทางทหาร โดยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 'รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย' ในยุครัฐบาล 'พล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์' ยศขณะนั้นคือ 'พล.ท. เปรม' ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
และได้เป็น 'รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม' ควบตำแหน่ง 'ผู้บัญชาการทหารบก' ในสมัย 'พล.อ. เกรียงศักดิ์' เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2
ด้วยบารมีในกองทัพและการเมืองของ 'พล.อ. เปรม' ส่งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 และดำรงตำแหน่ง 3 สมัย ระหว่างปี 2523-2531 นานกว่า 8 ปี 5เดือน
จุดเริ่มต้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ 'พล.อ.เปรม' เกิดขึ้นหลังจาก 'พล.อ.เกรียงศักดิ์' ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 สภาผู้แทนราษฎรทำการหยั่งเสียงเพื่อหาตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยเลือก 'พล.อ.เปรม' ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 เบื้องหลังมติให้ 'พล.อ. เปรม' เป็นนายกฯ ว่ากันว่าได้รับอิทธิพลของกลุ่ม จปร. 7 (นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) มี พ.อ. จำลอง ศรีเมือง พ.อ. มนูญ รูปขจร และพ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร คอยให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตามภายหลังขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี มีความพยายามจะยึดอำนาจ 'พล.อ.เปรม' ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก วันที่ 1 เม.ย. 2524 กลุ่มยังเติร์ก จปร. 7 ที่สนับสนุน 'พล.อ.เปรม' คิดหักหลังทำรัฐประหาร แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุการณ์ครั้งดังกล่าวทำให้ 'พล.อ.เปรม' ได้รับฉายา "นักฆ่าแห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา"
ครั้งที่สอง วันที่ 9 ก.ย. 2528 มีการอ้างชื่อ 'พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก' ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น คิดก่อรัฐประหาร ทั้งที่เป็นนายทหารคนสนิทของ 'พล.อ.เปรม' แต่แผนการถูกสกัดเอาไว้ก่อน จนความสัมพันธ์ของ 'พล.อ.เปรม' กับ 'พล.อ.อาทิตย์' ถึงจุดแตกหัก สั่งปลด 'พล.อ.อาทิตย์' ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ.
บทบาทกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง 'พล.อ.เปรม' ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ
ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย. 2541-13 ต.ค. 2559 จากนั้นดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2559
ก่อนดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี ในสมัยรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 เป็นต้นมา
ที่สำคัญในขณะที่ 'พล.อ.เปรม' นำคณะองคมนตรีชุดใหม่ เข้าเฝ้าฯ กราบพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณต่อ ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยปฏิบัติหน้าที่ถวายในรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน และคิดจะทำให้ประเทศเรามีความสุข จะได้ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดต่าง ๆ ดังนี้
พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.)
พ.ศ. 2525 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)
พ.ศ. 2533 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี) (ส.ร.)
พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
พ.ศ. 2518 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
พ.ศ. 2539 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้น ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 1 ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 3 ตริตราภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 3 ตริตาภรณ์มงกุฎไทย (ต.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์ช้างเผือก (จ.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 4 จัตุรถาภรณ์มงกุฎไทย (จ.ม.)
พ.ศ. ไม่ปรากฏ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้น 5 เบญจมาภรณ์ช้างเผือก (บ.ช.)
พ.ศ. ไม่ปรากฎ - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้น 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.)
พ.ศ. 2531 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
พ.ศ. 2484 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามอินโดจีน
พ.ศ. 2505 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา
พ.ศ. 2521 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 1
เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ
พ.ศ. 2498 – เหรียญจักรมาลา
พ.ศ. 2524 – เหรียญลูกเสือสดุดี ชั้นที่ 1
พ.ศ. 2525 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 (ภ.ป.ร.1)
พ.ศ. 2562 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1)
เหรียญกาชาดสมนาคุณชั้นที่ 1
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
พ.ศ. 2546 The Royal Order of the Polar Star ขั้นสูงสุด
พ.ศ. 2547 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ขั้นสูงสุด
ทั้งหมดคือฉากชีวิตของ “ป๋าเปรม” รัฐบุรุษที่อยู่ในหัวใจคนไทยตลอดกาล
*************
*อ้างอิงรูปภาพจากเฟซบุ๊ก กองกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย
กำหนดการพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
วันจันทร์ ที่ 27 พฤษภาคม 2562 เวลา 1800 น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/