ป๋วยทอล์ค ครั้งที่ 6 กับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม ‘ร้านคนจับปลา’
ป๋วยทอล์ค ครั้งที่ 6 กับวิธีบริหาร ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ให้อยู่รอด จากการถอดโมเดล ‘ร้านคนจับปลา’ ประมงพื้นบ้าน ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีหญิงเอ็นจีโอแกร่งเป็นผู้บุกเบิก
“ป๋วยทอล์ค” จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2557 เนื่องในโอกาสงานรำลึก 100 ปี ชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อสืบสานอุดมคติของป๋วยที่มุ่งส่งเสริม “ความดี ความงาม ความจริง” พัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม
โดยในปีนี้มาในหัวข้อ My Mark on The World ไว้ลายให้โลกเห็น ซึ่งมีที่มาจากโคลงสี่สุภาพที่ป๋วยเคยแต่งแสดงปณิธานของตนเองไว้ในวัย 24 ปี ว่า
กูชายชาญชาติเชื้อ ชาตรี
กูเกิดมาก็ที หนึ่งร้อย
กูคาดก่อนสิ้นชี วาอาตม์
กูจักไว้ลายเว้ย โลกให้แลเห็น
ทำให้ในเวทีกิจกรรมปีนี้ ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จึงมุ่งเน้นเนื้อหาในการแสดงบทบาทของภาคธุรกิจในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งนักธุรกิจแต่ละคนต่างมี ‘ลาย’ ของตนเองฝากไว้แตกต่างกัน
‘ตุ๊ก’ เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงเอ็นจีโอมานานเกือบ 20 ปี คือหนึ่งในผู้มองเห็นปัญหาและลุกขึ้นมาพัฒนาวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน จนกลายเป็นธุรกิจเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘ร้านคนจับปลา’ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้าน สมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมรักษ์ทะเลไทย
“เราทำเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรและการส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรของตนเองให้แก่ชาวประมง ซึ่งทำเรื่องฟื้นฟูมาหลายปี และพบว่า งานฟื้นฟูอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบของการทำให้ชาวประมงจะมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะพบยิ่งหาปลาได้มากเท่าไหร่ ชาวประมงยิ่งถูกโครงสร้างกดขี่มากเท่านั้น”
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ตุ๊กบอกว่า การค้าขายในหมู่บ้าน นายทุนเป็นผู้กำหนดราคาซื้อขายเอง ไม่ใช่ชาวประมง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือ แม้จะมีทรัพยากร แต่ไม่สามารถช่วยให้ชาวประมงอยู่ดีกินดีได้
ตอนนั้นสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และมูลนิธิรักษ์ทะเลไทย จึงเห็นว่า แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวประมงเหล่านั้นมีชีวิตดีขึ้น จึงนำมาสู่งานพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ‘ร้านคนจับปลา’ จึงเกิดขึ้นจากสภาพปัญหาของสังคมประมงพื้นบ้าน แต่ยอมรับกว่าจะก้าวมาได้ มีความท้าทายมาก
เธอบรรยายความรู้สึกว่า ตนเองเป็นเอ็นจีโอ ได้เป็นลูกศิษย์ของลูกศิษย์อาจาย์ป๋วย และมีโอกาสได้ฟังคำสอนจากพี่ ๆ มาตลอดว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ซึ่งเราไม่เคยรู้ว่าธุรกิจคืออะไร แล้วเรียนรู้อีกมุมหนึ่งว่า “ธุรกิจเลวร้าย” ธุรกิจนี่แหละจะเป็นเครื่องมือในการกดขี่คนอื่น
จึงรู้สึกว่า ถ้าเรามาทำธุรกิจจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ เกิดคำถามตามมามากมายกว่าจะเปลี่ยนผ่านความท้าทายเหล่านั้นมาได้ทุกวันนี้
“เราเรียนรู้ว่าหากจะทำธุรกิจหรือทำให้ชาวบ้านขายของได้ ต้องสร้างแบรนด์ ดังนั้นต่อไปเดินไปทางไหนต้องมีรูปปลาของชาวประมง ต้องเห็นว่าเป็นบริษัทของชาวประมงพื้นบ้าน จึงสร้างแบรนด์ ‘คนจับปลา’ ขึ้นมา และค้นหาตลาด โดยออกงานแรก คือ งานกินเปลี่ยนโลก ซึ่งทำให้พบกับผู้บริโภคที่ต้องการอาหารทะเลจากเรา และพบว่าเราทำให้ผู้บริโภคต้องการ แต่ต้องดูว่าสินค้าเรามีคุณภาพด้วยหรือไม่ นำมาสู่การจับจุดว่า ธุรกิจเป็นอย่างนี้นี่เอง”
ตุ๊ก เสาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวยังยากไปสำหรับเรา กระทั่งมาเจอเพื่อนที่บอกว่า ในโลกนี้มีความเป็นธรรมในการทำธุรกิจ และให้เรียนรู้เรื่องของ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ เจอพี่น้องที่พยายามบอกเล่าเราว่า ธุรกิจเพื่อสังคมคืออะไร โมเดล
จนก่อเกิดเป็นโมเดลร้านคนจับปลาที่ทำให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ชัดเจนว่า ร้านนี้เป็นองค์กรของชาวบ้านถือหุ้น 100% ส่วนเอ็นจีโออย่างเรา เป็นเพียงลูกจ้างของชาวบ้านเข้าไปบริหารเท่านั้น
ทั้งนี้ จะต้องมีนโยบายชัดเจนว่า เงินกำไรจากร้านคนจับตาต้องคืนสู่การดูแลฟื้นฟูทะเล นั่นจึงทำให้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านดีขึ้น
อย่างกระนั้นเลย ผู้หญิงนักพัฒนาคนนี้เคยถูกตั้งคำถามตลอดว่า “เดี๋ยวพี่ว่าจะเจ๊ง อยู่ในหูเราตลอด และอีกอัน คือ ถ้าไม่เจ๊ง ตุ๊กก็ต้องไปเป็นแม่ค้า หมายถึงว่า จะลืมหลักการและความเชื่อเดิมที่เป็นนักพัฒนา แล้วถูกกลืนไปกับระบบธุรกิจ”
เธอพิสูจน์แล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมา การปรับเปลี่ยนสู่วิธีคิดเชิงธุรกิจทำอย่างไร โดยพยายามทำให้ทุกคนเห็นว่า เราไม่ได้ขายคำว่า “เพื่อสังคม”
“การที่เราคิดว่าทำงานเพื่อคนอื่น แล้วเวลาขายของ คนอื่นต้องซื้อ เพราะเราเป็นคนดี ทำเพื่อสังคม ซึ่งรู้สึกว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะหากสินค้าเราไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดจริง เราอยู่ไม่ได้ เขาซื้อเราครั้งแรก ครั้งต่อไปจะไม่มีวันซื้อซ้ำ ต่อให้มีความเห็นใจ แต่คงไม่อยากกินปลาเน่า”
จึงเป็นความจริง พบว่า เราต้องทำให้สินค้ามีคุณภาพ และไม่ขายคำว่า “เพื่อสังคม” แต่ต้องทำสินค้าให้เป็นสินค้าพรีเมียม สิ่งที่ทำได้ คือ การใส่คุณค่าเชิงสังคมไปในตัวสินค้า ทำให้สินค้าขายและมีคุณค่าในตนเอง
ทั้งนี้ ตุ๊ก เสาวลักษณ์ ยังบอกว่า การทำงานทุกอย่างมีต้นทุนต้องจ่าย นี่เป็นอีกหนึ่งสิ่งเรียนรู้ใหม่ เพราะในสมัยเป็นนักพัฒนานั้น เราถูกสอนว่า ต้องมีจิตอาสา ทำทุกอย่าง ส่วนกำไรเป็นสิ่งสุดท้ายที่คิด แต่พอเข้ามาในระบบธุรกิจ ถูกผลักให้อยู่ในตลาด....เจ๊งจริง...เจ็บจริง มีเงินสนับสนุนจากโครงการน้อยมาก ดังนั้นหากลงทุนไป ไม่มีกำไรกลับมา นั่นหมายความว่า น้องอีก 5 คน จะไม่มีเงินเดือน
นี่เป็นบทเรียนที่แตกต่างจากงานพัฒนาที่สุดท้ายเราทำโครงการ แม้เดินไปไม่ถึงเป้าหมายก็ไม่เป็นไร เรามักจะสรุปกันว่า “ฉันสำเร็จในเชิงกระบวนการ” ตลอดเระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา เราสรุปแบบนี้ตลอด แต่ระบบธุรกิจไม่ได้ กระบวนการแม้จะดีเลิศ แต่สุดท้ายไม่มีกำไรจะเจ๊ง ร้านจะเจ๊ง พี่น้องชาวประมงจะเจ๊ง เราจึงต้องผ่านโจทย์นี้ไปให้ได้
“เรารู้สึกว่าเป็นเอ็นจีโอ ทำงานเช้าค่ำ แต่เงินเดือนเท่านั้น พอมาเป็นนักธุรกิจ การที่ลงแรงไปเท่าไหร่ เราต้องคุ้มทุนเป็นเรื่องที่พี่น้องภาคธุรกิจสอนเราว่า ทุกอย่างเป็นต้นทุน แม้กระทั่งเวลาที่ใช้ไป ในมิติของธุรกิจต้องคืนกลับอย่างคุ้มค่าเสมอ”
เธอกล่าวต่อว่า รัฐชอบคิดว่าคนขายดีที่สุดคือชาวบ้าน แต่สุดท้ายชาวบ้านไม่ถนัดระบบบัญชี และรู้สึกว่าปลาเยอะมากมาย ไม่ต้องขาย แจกบ้างก็ได้ แต่สุดท้ายจะทำให้เจ๊ง เราเรียนรู้ว่า คนเชี่ยวชาญเท่านั้นจึงจะทำบางอย่าง บางเรื่องไม่ต้องฝึกศักยภาพไปเพื่อให้เจอทางตันก็ได้
เราจึงยืนยันมาตลอดว่า หัวใจสำคัญธุรกิจเพื่อสังคมของเราคือธุรกิจที่มีชาวประมงพื้นบ้านเป็นเจ้าของ แต่จ้างเอ็นจีโอมาบริหาร เท่ากับว่า เอ็นจีโอคือลูกน้องของชาวบ้าน ฉะนั้นทำอย่างไรให้บริษัทรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นบริษัทของชาวบ้าน 100%
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 5 ปี คือ เราไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เราเป็นนักพัฒนา เรายังเหมือนเดิม คือ ลงพื้นที่หมู่บ้าน ชุมชน รักษาภารกิจหลักชุมชนประมงพื้นบ้าน ผู้บริโภค รักษาอุดมคติไม่ขายให้แก่คนทำลายหลักการและสิ่งแวดล้อม
“ไม่ว่าธุรกิจจะกำไรขาดทุน ในวันนี้การดำรงอยู่ คุณค่าของร้านคนจับปลา คือ ประมงพื้นบ้านและทะเลได้รับประโยชน์จากทุกวันที่ทำธุรกิจ ฉะนั้นไม่ว่าพรุ่งนี้จะมีร้านต่อไปหรือไม่ แต่เรื่องราวและวิธีคิดจะถูกนำไปบอกเล่าต่อและปรับปรุงต่อยอดให้เกิดประโยชน์”
สุดท้าย ตุ๊ก เสาวลักษณ์ ยังเชื่ออยู่เสมอ คือ เราจะไม่มีทางเปลี่ยนเป็นนักธุรกิจ แต่เรายังคงเป็นนักพัฒนาที่ใช้ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อสังคม .
ภาพประกอบ:เเฟนเพจเฟซบุ๊ก ร้านคนจับปลา Fisherfolk
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/