เบื้องหลัง! วิวาทะ ‘สมเจตน์’ vs ‘ทินพันธุ์’ รอยร้าวในสภาสูง-เขย่าเลือกนายกฯ?
“…ที่สำคัญต้องการทำให้ภาพลักษณ์สภาสูงดูเป็น ‘เอกภาพ’ จึงขอให้มีการเสนอชื่อบุคคลชิงตำแหน่งประธาน-รองประธานวุฒิสภาแค่เพียงตำแหน่งละชื่อเท่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมการประชุมวุฒิสภาวันที่ 24 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา จึงไม่มีคนอื่นเสนอชื่อมาแข่งขัน ดับฝัน ส.ว. กลุ่มนี้ไปโดยปริยาย และเกิดรอยแตกร้าวขึ้นระหว่าง ส.ว. กลุ่มนี้ กับ ส.ว. อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ใกล้ชิดเครือข่าย ‘ลายพราง’ ?...”
รู้ผลไปแล้วว่า ที่ประชุมวุฒิสภาครั้งแรกรวม 250 ราย มีมติเลือกนายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานวุฒิสภา โดยมี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร อดีตสมาชิก สนช. เพื่อนรัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และนายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 (อ่านประกอบ : ไม่พลิกโผ! ‘พรเพชร’นั่งเก้าอี้ ปธ.วุฒิสภา ‘พล.อ.สิงห์ศึก-ศุภชัย’รอง ปธ.)
อย่างไรก็ดีในวันประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เกิดกรณี ‘วิวาทะ’ กันระหว่าง พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีต สนช. และกลุ่ม 40 ส.ว. กับ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีตประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุมชั่วคราว
มีนัยสำคัญที่น่าสนใจ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หลังจากเปิดการประชุมวุฒิสภาอย่างเป็นทางการ ร.อ.ทินพันธ์ นำที่ประชุมถวายสัตย์ปฏิญาณตน หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้าสู่วาระการประชุม โดยใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551
ทว่า พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ลุกขึ้นยืนขอชี้แจง ระบุว่า ก่อนเข้าวาระเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภา ขอหารือการเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภาก่อน อย่างไรก็ดี ร.อ.ทินพันธุ์ พูดเบรกว่า การประชุมในครั้งนี้ยึดหลัก 3 ประการ 1.บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2.ข้อบังคับการประชุม 3.ระเบียบวาระการประชุม เพราะฉะนั้นระเบียบวาระการประชุมครั้งนี้ ไม่มีเรื่องอื่น และไม่มีเรื่องปรึกษา หรือว่าญัตติใด ๆ ขึ้น อยากให้การประชุมวันนี้ เนื่องจากเป็นวันแรก มีภารกิจหลายอย่างที่สำคัญมาก ประการแรกคือมีพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ประการต่อมามีการปฏิญาณตนของ ส.ว. และต้องดำเนินการประชุมเพื่อเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภา ตามระเบียบวาระการประชุม
พล.อ.สมเจตน์ ยืนยันว่า สิ่งที่จะปรึกษาหารือนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสภาแห่งนี้ คิดว่าไม่มีข้อบังคับใดห้ามหารือตรงนี้ ถ้าเปิดใจกว้าง จะได้ข้อคิดเห็นดี ๆ จากตน กระทั่ง ร.อ.ทินพันธุ์ อนุญาต
พล.อ.สมเจตน์ ระบุว่า ผู้จะเป็นประธานวุฒิสภา ต้องไปทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา สภาแห่งนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องได้บุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ทั้งด้านการบริหาร และการควบคุมการประชุมของสภา สิ่งสำคัญยิ่งผู้ที่เป็นประธาน และรองประธานวุฒิสภา จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ในการเลือกประธาน และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ผ่านกลไกสำคัญของพรรคการเมืองเสียงข้างมาก มีการกลั่นกรองบุคคลไปทำหน้าที่นั้น เป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม แต่ในการเลือกประธาน และรองประธานวุฒิสภา ไม่มีกลไกใด ๆ มาช่วยกลั่นกรองว่า ในที่สุดจะได้บุคคลใดไปดำรงตำแหน่ง
“สิ่งที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ขณะนี้ กลุ่มบุคคลที่เคยปฏิบัติงานร่วมกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผม เคยปฏิบัติงานในสภาแห่งนี้เกือบ 10 ปี มีความรู้จักมักคุ้น เป็นปึกแผ่นมากกว่าเพื่อนสมาชิกทั้งหลายที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ในที่สุดกลุ่มผมจะเป็นผู้นำทางความคิด เสนอประธาน และรองประธาน โดยมิได้สอบถามเพื่อนสมาชิกอื่น ๆ ว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร นี่เป็นจุดเสีย เรียนว่า เมื่อเป็นลักษณะนี้ จะเกิดความรู้สึกถึงความไม่ไว้วางใจกัน เป็นผลเสียการปฏิบัติหน้าที่ของสภาอีก 5 ปี พยายามทำหน้าที่นี้ ไม่ให้โอกาสในการดูแล” พล.อ.สมเจตน์ ยืนยัน
ร.อ.ทินพันธุ์ พูดตัดบทว่า สภาแห่งนี้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิก 250 คน ผมให้โอกาสแล้ว เชื่อมั่นว่าสมาชิกวุฒิสภา 250 คนนั้น เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ในแต่ละสาขาอาชีพ จะมีความรู้ มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอาชีพเป็นตัวแทนอยู่ เราต้องเชื่อ และทำความเข้าใจความเห็นแต่ละท่าน 250 คนนี้ และตัดสินด้วยเสียงข้างมาก ความไว้วางใจ และความเชื่อมั่น
หลังจากนั้น นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ส.ว. เสนอชื่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นายศุภชัย สมเจริญ เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 โดยมีผู้รับรองไม่ต่ำกว่า 10 ราย และไม่มีผู้ใดเสนอชื่อบุคคลอื่น ตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับฯ ส่งผลให้นายพรเพชร เป็นประธานวุฒิสภา พล.อ.สิงห์ศึก เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และนายศุภชัย เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2
ทั้งนี้บางห้วงบางตอนที่นายพรเพชร แสดงวิสัยทัศน์ ก่อนเข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น มีการพาดพิงถึงชื่อ พล.อ.สมเจตน์ ด้วย โดยระบุว่า ขอขอบคุณ และขอชี้แจงวิสัยทัศน์ พร้อมประวัติในการทำหน้าที่
ภายหลังเลือกนายพรเพชร ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาแล้ว พล.อ.สมเจตน์ ขออนุญาตใช้สิทธิ์ถูกพาดพิงที่นายพรเพชรกล่าวถึง โดยระบุว่า นี่แหละสิ่งที่ท่านประธานตัดโอกาสตน ไม่ได้เสนอในข้อเสนอดี ๆ พูดเพียงเริ่มต้นประธานใช้อำนาจตัดบทตน เป็นการเริ่มต้นที่ไม่งดงามนัก สิ่งที่พูดไม่จบ มันจึงนำไปสู่ความไม่เข้าใจ
“เรียนว่า ผมกับท่านพรเพชร มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีตลอดเวลา 20 ปีกว่าที่ผ่านมา มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ผมไม่เคยมีเครื่องหมายคำถามในคุณสมบัติของท่านพรเพชร ปฏิบัติหน้าที่ 5 ปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาท่าน รู้จักท่านเป็นอย่างดี ให้กำลังใจ เสนอแนะท่านตลอด” พล.อ.สมเจตน์ ระบุ
พล.อ.สมเจตน์ ระบุอีกว่า ข้อเสนอของตนไม่สามารถไปถึงจุดที่ประสงค์ได้ เนื่องจากท่านประธานใช้อำนาจ เรียนว่า ความรู้สึกนี้เคยเกิดกับตนเมื่อปี 2554 มาแล้ว ถูกกลุ่ม ๆ หนึ่งใช้อำนาจ ทำให้ตนเห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น เป็นอุปสรรค ทำให้ครั้งนั้นตนกับวุฒิสภาที่ทำงานร่วมกัน เกิดความไม่ไว้วางใจกัน ทำให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ เมื่อท่านประธานไม่เปิดโอกาส ตนเคารพ แต่จะเสนอความเห็นนี้นอกสภา
อย่างไรก็ดี ร.อ.ทินพันธ์ กล่าวว่า ตนเป็นนักประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 2516 แม้กระทั่งวันนี้ด้วย ณ ที่ประชุมแห่งนี้ สมาชิกวุฒิสภาทุกคนในจำนวน 250 คน ถือว่ามีความเท่าเทียมกัน ตอนนี้ตนทำหน้าที่เป็นประธานชั่วคราว ถือว่าเป็นคนหนึ่งใน 250 คน ที่มีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกันหมด ของ พล.อ.สมเจตน์ เป็นความเห็นหนึ่งเท่านั้น ของตนก็ความเห็นหนึ่ง เมื่อรวมกัน 250 คน ยังมีอีก 200 กว่าความเห็น และมีความเห็นร่วมกันมอบความไว้วางใจให้บุคคลคนหนึ่ง เราต้องยอมรับ
“ถ้ารักประชาธิปไตย เราเคารพเสียงข้างมาก แค่นั้นพอ” ร.อ.ทินพันธุ์ ตัดบทอีกครั้ง
นัยระหว่างบรรทัดใน ‘วิวาทะ’ นี้ สอดคล้องกับกระแสข่าวสะพัดก่อนหน้านี้ว่า ภายหลังมีการประกาศรายชื่อ 250 ส.ว. อย่างเป็นทางการ มีการวางตัวนายพรเพชร ให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา แต่รองประธานวุฒิสภานั้นยังคงฝุ่นตลบ
ว่ากันว่า มี ส.ว.กลุ่มหนึ่งหารือกับ ‘บิ๊กท็อปบู้ต’ บางราย เพื่อขอต่อรองให้ ส.ว. คนหนึ่ง นั่งเก้าอี้ประธานวุฒิสภา อย่างไรก็ดีมีการวางตัวนายพรเพชรไว้อยู่แล้ว ทำให้ ส.ว.กลุ่มนี้ ขอตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาก็ได้
แต่มี ‘สายตรง’ มาจาก ‘บิ๊กท็อปบู้ต’ บางราย วางตัว พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี มานั่งเก้าอี้รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ต่อมา ‘บิ๊กจิน’ ถอย เปิดทางให้ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร ‘เพื่อนรัก ตท.12’ พล.อ.ประยุทธ์ มานั่งเก้าอี้ตัวนี้แทน ส่วนรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 มีการวางตัว นายศุภชัย ไว้ด้วยเช่นกัน ?
ที่สำคัญต้องการทำให้ภาพลักษณ์สภาสูงดูเป็น ‘เอกภาพ’ จึงขอให้มีการเสนอชื่อบุคคลชิงตำแหน่งประธาน-รองประธานวุฒิสภาแค่เพียงตำแหน่งละชื่อเท่านั้น นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมการประชุมวุฒิสภาวันที่ 24 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา จึงไม่มีคนอื่นเสนอชื่อมาแข่งขัน
ดับฝัน ส.ว. กลุ่มนี้ไปโดยปริยาย และเกิดรอยแตกร้าวขึ้นระหว่าง ส.ว. กลุ่มนี้ กับ ส.ว. อีกกลุ่มหนึ่ง ที่ใกล้ชิดเครือข่าย ‘ลายพราง’ ?
ภายหลังการประชุมวุฒิสภา พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เพียงแค่ตนจะเริ่มต้นแสดงเหตุผลก็ถูกประธานปิดกั้นแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า เป็นไปตามที่สังคมมองสภาแห่งนี้ไปแล้ว และไม่อาจล้มล้างภาพนี้ได้ เมื่อประธานไม่เปิดโอกาสให้ตน ประธานก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ได้ปฏิเสธที่มาของ ส.ว.แต่ก็อยากให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้ประชาชนไว้วางใจ และเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ นี่คงไม่ใช่รอยร้าวของ ส.ว.ผมเพียงต้องการจะชี้ให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมที่ถูกกระทำ เหมือนตอน ส.ว.ปี 54 จนส่งผลให้ ส.ว.เป็นปลาสองน้ำ เกิดผลเสียต่อการทำงานร่วมกัน
"ส่วนรอบนี้จะเกิดหรือไม่ผมไม่รู้ ถ้าหาทางแก้ไขได้ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่น สิ่งที่จะเสนอนั้นไม่เกี่ยวกับการเสนอ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นประธาน ผมต้องการขอเสนอให้มีการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาชุดใหม่เมื่อครบ 2 ปี เพื่อให้ 250 ส.ว.รู้จักกันดีก่อนเลือกด้วยตัวเอง จะได้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่คนๆ เดียวเสนอแบบนี้ ส่วนท่านประธานและรองประธานก็พิสูจน์ตัวเองแล้วมาแข่งขัน สังคมจะได้เชื่อมั่น" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ท้ายที่สุดไม่ว่า ส.ว. ชุดนี้จะกลายเป็น 'ปลาสองน้ำ' อย่างที่ พล.อ.สมเจตน์ กังวลหรือไม่ แต่ประเด็นที่น่าสนใจต่อไปคือ 250 ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้นหากไม่ ‘เคลียร์ใจ’ กันให้ดี การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. อาจไม่เป็น 'เอกภาพ' ตามที่หวังก็เป็นได้ ?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ : พรเพชร วิชิตชลชัย:หัวใจสำคัญคือปฏิรูปกฎหมาย-ทำงานร่วมสภาผู้แทนฯบรรลุเป้าหมาย รธน.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.สมเจตน์ จาก Post today, ภาพ ร.อ.ทินพันธ์ุ จาก thairath