เปิดข้อสังเกต คัดค้าน เสนอแนะ ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ (ปรับปรุงฉบับที่ 4)
วันที่ 24 พ.ค. 2562 นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พร้อมด้วยตัวแทนจากชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ยื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อสังเกต คัดค้าน เสนอแนะ จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงฉบับที่ 4) ดังต่อไปนี้
1.คณะผู้ร่างมิได้นำเสนอการศึกษาผลกระทบและถอดบทเรียนผังเมืองเดิม ปี 2556 อาทิ ข้อดี ข้อด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงต่อคนเมืองกลุ่มต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงผังเมืองฉบับใหม่
ทั้งนี้ เราได้รวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบกันอย่างกว้างขวาง พร้อมกรณีตัวอย่างมาในเอกสารผนวกที่แนบมา อาทิ ปัญหาจราจรในถนนสายย่อย ปัญหาจำนวนรถยนต์ออกมาจอดในซอย เพราะที่จอดรถในอาคารอาศัยมีไม่เพียงพอ ซึ่งในผังเมืองฉบับใหม่ยังจะอนุญาตให้ลดการบริการพื้นที่จอดรถในอาคารลงไปอีก ทั้งที่อาคารขนาดใหญ่ควรมีที่จอดรถ 100% ปัญหาน้ำท่วมมากขึ้น ฯลฯ ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาสะสมที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขก่อนการขยายความเจริญเติบโตในแนวทางเดิม ซึ่งมีแต่จะก่อปัญหาเพิ่มพูนซ้ำเติมและเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาที่เหมาะสม
ขอเสนอว่า ควรจัดทำบิ๊กดาต้า ข้อมูลเกี่ยวกับผังเมือง สิ่งแวดล้อม และการก่อสร้างอาคารว่าบริเวณไหนสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ ให้เป็นข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบของสังคม อีกทั้งความหนาแน่นในเมืองชั้นในของผังเมืองฉบับใหม่
2.ในเชิงปฏิบัติข้อบังคับที่กำหนดไว้ในผังเมือง ฉบับ ปี 2556 กรุงเทพฯ ไม่มีการตรวจสอบและไม่ได้ปฏิบัติตามธรรมาภิบาลในการควบคุมทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพและไม่มีการติดตามประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน
ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ก็ไม่มีการควบคุมและตรวจสอบ อาทิ ปล่อยรถบรรทุกขนาดใหญ่วิ่งในถนนสายย่อย ซึ่งผิดตามข้อกำหนดผังเมืองเดิม เนื่องจากปัจจุบันได้พบการกระทำผิดกฎหมายของผู้ประกอบการเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ออกเอกสารอนุญาต จึงขอให้มีบทกำหนดชัดเจนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ประพฤติมิชอบ ดังเช่น กรณีการก่อสร้างอาคารสูงของโรงแรมดิเอทัส ในซอยร่วมฤดี ที่พบว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐออกใบอนุญาต แต่เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกลับไม่ต้องรับผิดชอบ
3.ระบบโครงสร้างพื้นฐานควรพัฒนาให้มีประสิทธิภาพก่อนการขยายและสนับสนุนการเจริญเติบโตเพื่อป้องกันการสร้างปัญหาต่อสังคม
จึงขอให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างเป็นระบบให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับความหนาแน่นมากขึ้นของการอยู่อาศัยพื้นที่เขตเมืองชั้นในและสามารถรองรับการขยายตัวไปชานเมืองตามาตรฐานที่ผังเมืองรวมกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผัง พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 มาตรา 17 (3) (ค) แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และมาตรา 17 (3) (ง) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค
4.กระบวนการร่างผังเมืองขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึงและพอเพียง เป็นการยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเปิดรับฟังในตอนท้าย ซึ่งขาดการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าให้ได้รับรู้อย่างทั่วถึง
คนจนในเมืองและคนชั้นกลางจำนวนมากที่อาศัยในเมืองชั้นในจะถูกผลักดันให้ออกจากพื้นที่ทำมาหากินเดิมที่อยู่มาหลายชั่วคน เพราะที่ดินรัฐซึ่งเคยเป็นที่อยู่ของพวกเขาจะถูกนำไปพัฒนา โดยพวกเขาไม่ถูกนับรวมเข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาดังกล่าว ประชาชนผู้อยู่อาศัยดั้งเดิมในที่ดินของบรรพบุรุษก็เช่นกัน การจัดการเปลี่ยนโซนสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ได้ดึงพวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหารือและกำหนดร่างโซนผังเมือง ทั้งคณะผู้ร่างมิได้ชี้แจงถึงเกณฑ์การตัดสินกำหนดโซนสี อาทิ เหตุใดชุมชนสุขุมวิทซอย 28 และซอย 30 ซึ่งเป็นซอยขนาดเล็ก มีแต่บ้านเรือนดั้งเดิมเป็นส่วนใหญ่ จึงถูกเปลี่ยนสีจากโซนสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นสีแดง (พาณิชยกรรม)
ในขณะที่พื้นที่อื่น เช่น ซอยทองหล่อ ซึ่งมีกิจกรรมการค้าค่อนข้างคึกคักยังคงเป็นสีน้ำตาล ผู้อยู่ในโซนแดงจะต้องรับภาระจากราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นการกดดันให้ย้ายออกไป จึงจำเป็นที่กระบวนการตัดสินใจต้องแสดงเหตุผลที่เหมาะสมและยุติธรรม จึงขอให้กระบวนการหารือและทบทวนและให้หน่วยงานกำหนดเกณฑ์การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่ในการจัดทำผังเมืองดังกล่าว
5.ขอให้ทบทวนมาตรการสร้างแรงจูงใจให้โบนัสเอื้อประโยชน์โครงสร้างอสังหาริมทรัพย์
ร่างผังเมืองฉบับใหม่เสนอมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างน้อยสองประการ ได้แก่ FAR bonus (Floor Area Ratio Bonus) และ TDR (Transfer Development Rights) ในขณะที่เราเห็นด้วยกับการมี TDR เพราะควรเป็นสิทธิพื้นฐานพึงมีส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ FAR bonus เป็นมาตรการที่จำเป็นจะต้องพิจารณาและรับฟังข้อดีข้อเสียอย่างรอบด้าน และต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่รักษาพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะอื่นอันเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมเช่นกัน จึงอาจสมควรพิจารณามาตรการสนับสนุนและคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแนวอื่น ประกอบด้วย อาทิ กฎหมายอนุรักษ์ต้นไม้ในเมืองตามที่มีการอภิปรายกันในประชาสังคม
ทั้งนี้ ตามระเบียบผังเมืองได้มีการกำหนด OSR (Open Space Ratio) และ BAF (Biotope Area Factor) แก่อาคารใหญ่ไว้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาพบว่า การสร้างอาคารสูงหรืออาคารใหญ่มิได้จัดทำ BAF ตามกำหนดเลย อาทิ การสำรวจพื้นที่ทุ่งพญาไท พบโครงการ 28 แห่ง ไม่ได้ทำ BAF และไม่มีต้นไม้ยืนต้นใด ๆ ยิ่งกว่านั้น ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้มีการกล่าวถึงเฉพาะ FAR และ OSR แต่ไม่ได้กล่าวถึง BAF เลย ซึ่ง BAF เป็นกฎระเบียบสำคัญในการดูแลสภาพแวดล้อมพื้นฐานของเมือง ให้น้ำสามารถซึมผ่านลงดินตามกลไกทางนิเวศได้
การเพิ่มมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development:PUD) เป็ฯมาตรการ Bonus นั้น ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นมาตรการหม่ ที่ยังไม่ได้มีการศึกษาแนวทางที่ดีและมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เพราะจะทำให้ผังเมืองสีอัตโนมัติ โดยที่ไม่ปรากฎสีให้ประชาชนเห็น เช่น Developer มีพื้นที่ 100 ไร่ ในโซนเหลือ ย.4 (พื้นที่ประชาชนหนาแน่นน้อย) สามารถปรับขึ้นได้ 3 ระดับ เป็น ย.7 โซนส้ม สามารถสร้างที่อยู่อาศัยประเทอาคารอยู่อาศัยรวม พื้นที่เกิน 10,000 ตร.ม. โดยไม่มีการควบคุม
6.ผังเมืองฉบับใหม่ขาดการอธิบายถึงการศึกษาและแนวทางรับมือภัยพิบัติ
เนื่องจากกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับโลก ร่างผังเมืองจำเป็นที่จะแสดงการศึกษาปัญหาเหล่านี้และนำเสนอแผนป้องกันและรับมือที่สอดคล้องกับระดับปัญหาดังกล่าว รวมถึงการถอดบทเรียนจากอุทกภัย ปี 2554 และแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำครั้งนั้น พื้นที่รับน้ำที่แสดงในร่างผังเมืองฉบับใหม่ขาดการอธิบายถึงการศึกษาดังกล่าวและแนวทางรับมือกับภัยพิบัติ ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ สมควรที่จะมีการจัดกระบวนการหารือในวงกว้างร่วมกันหลายภาคส่วน รวมไปถึงแนวทางฟื้นฟูระบบเครือข่ายคลองที่หายไป ตลอดจนพื้นที่รับน้ำหลากบวมริมแม่น้ำ
7.แนวทางเลือกอื่น ๆ ในการพัฒนาเมืองควรได้รับการพิจารณาควบคู่ไปด้วย เช่น กระจายศูนย์เศรษฐกิจไม่ให้กระจุกตัวอยู่เพียงในโซนสีแดงกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่ให้กระจายไปยังปริมณฑลจังหวัดใกล้เคียง เป็นหลักกระจายอำนาจ บรรเทาความแออัดของสภาพการจราจรและความเหลื่อมล้ำ
การวางผังเมืองใหม่ยังควรแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวางแผน เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรม ลดการเดินทาง สร้างเครือข่ายให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองอัจฉริยะ ตามที่อ้างถึงในไทยแลนด์ 4.0 และแผนปฏิรูป 20 ปี .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/