ขยายอายุเกษียณอายุราชการ 60 ปี กับการรองรับสังคมสูงอายุ
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับต่อไปนั้น (อ่านประกอบ:ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุครบ 60 ปี รับราชการต่อไป )
ประเด็นนี้ สำนักงาน ก.พ.ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ได้ศึกษาแนวทางการขยายเกษียณจากราชการมาระยะหนึ่งแล้ว โดยกำหนดสาระสำคัญให้การขยายหรือปรับปรุงอายุเกษียณและการขยายอายุการทำงาน เป็นมาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ รวมถึงสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐทำงานหรือมีอาชีพหลังเกษียณ และการบริหารกำลังคนภาครัฐในช่วงวัยต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
โดยก่อนหน้านี้ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ถึงการเกษียณอายุราชการที่ 60 ปี ว่า ได้ใช้มาร่วม 50 - 60 ปี นับตั้งแต่ยุคที่คนอายุ 60 ปีลำบากยากเย็น มาจนถึงปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน คนอายุ 60 ปีไปแล้วยังแข็งแรง และมีประสบการณ์ จึงมีแนวคิดเสนอให้ขยับเวลาของการเกษียณอายุข้าราชการ ตามข้อเสนอที่มีการศึกษาอย่างดีว่า ไม่ใช่การเริ่มเปลี่ยนยกแผง แต่ต้องดูไปเป็นรายสาขาอาชีพ และเป็นไปแบบขั้นบันได
สำหรับแนวทางการขยายอายุเกษียณ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม กำหนดให้สำนักงาน ก.พ.ศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยใช้เวลา 6 ปี คือ 2 ปี ขยาย 1 ปี ซึ่งไม่ครอบคลุมหน่วยงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย ทั้งนี้ ยังกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐ เกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี 2567
ส่วนวิธีการดำเนินการ ขณะนี้สำนักงาน ก.พ.อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำรายละเอียดในส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การศึกษาเพื่อกำหนดอายุที่ควรเกษียณ (Retire from service) และอายุที่ควรเกษียณจากงาน (Retire from job) เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อไป
ปัจจุบัน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบ 60 ปี บางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปีอยู่แล้ว ได้แก่ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป และประเภททั่วไประดับอาวุโสขึ้นไป ในลักษณะงานจำนวน 8 สายงาน (1.นักกฎหมายกฤษฎีกา 2.แพทย์ 3.ทันตแพทย์ 4.นายสัตวแพทย์ 5.ปฏิบัติงานช่างศิลปิน 6.คีตศิลป์ 7.ดุริยางคศิลป์ 8.นาฏศิลป์) โดยให้ อ.ก.พ.กระทรวงเป็นผู้พิจารณาข้าราชการตามเหตุผลความจำเป็น
ตัวเลขล่าสุด มีจำนวนข้าราชการที่ได้รับการต่อเวลาราชการ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งมีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ในบางตำแหน่งสามารถรับราชการต่อไปได้ 51 ราย โดยร้อยละ 88 เป็นตำแหน่งสายงานแพทย์ นอกจากนั้นเป็นตำแหน่งในสายงานอื่น ๆ ได้แก่ ทันตแพทย์ นาฏศิลป์ วิศวกรรมสำรวจ วิทยาศาสตร์ โบราณคดี และนิติกร
ขณะที่สถิติของกรมบัญชีกลาง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2560) พบว่า
- ข้าราชการทุกประเภทเกษียณอายุประมาณ 391,000 คน หรือเฉลี่ยปีละ 39,104 คน โดยในช่วงปี 2558- 2560 มีผู้เกษียณอายุ 45,678 คน/43,597คน และ 40,022 คน ตามลำดับ
- ข้าราชการพลเรือนสามัญ ปรากฎว่า ในช่วงปี 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 8,539 คน/10,068 คน และ11,107 คน ตามลำดับ
มาตรการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยของสำนักงาน ก.พ. ถึงวันนี้ นับได้ว่า มีความคืบหน้าตามลำดับ และอาจเป็นต้นแบบการขยายเวลาการทำงาน ที่ไม่กระทบต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ทดแทนคนที่เกษียณอายุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เปิดงานวิจัยค้นรายจ่ายด้านการศึกษาภาครัฐ ชี้ 5 ปี นาทีทองครูเกษียณหลักแสน
‘อำพล จินดาวัฒนะ’ ฉายภาพแผนขยายเพดานวัยเกษียณที่ต้องทำให้สำเร็จ