โชว์ข้อดี-ข้อเสียรับคนข้ามห้วย! ก่อน ปธ.ป.ป.ช.รับโอน ‘พล.ต.ต.อรุณ’ นั่ง ผช.เลขาฯ
“…ข้อดี ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายในประสบการณ์การปฏิบัติราชการต่างหน่วยงาน การสร้างความหลากหลายในการวิเคราะห์ โอกาสการแก้ปัญหา ... ข้อเสีย มีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร เนื่องจากทุกคนต่างต้องการความก้าวหน้าในชีวิต อาจไม่ได้รับการยอมรับจากบุคลากรภายในองค์กร ส่งผลต่อการบังคับบัญชาและการขับเคลื่อนภารกิจ ไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศในการปฏิบัติงานขององค์การ...”
กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
กรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามคำสั่งรับโอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ยศ.) มานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ตำแหน่งบริหารระดับต้น มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.รับโอน‘พล.ต.ต.อรุณ’คณะทำงาน ‘พล.ต.อ.วัชรพล’เป็น ผช.เลขาฯภาค 1)
ประเด็นนี้อาจไม่มีอะไรมากถ้า พล.ต.ต.อรุณ ไม่ได้เป็นนายเวร พล.ต.อ.วัชรพล ตั้งแต่สมัยเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) กระทั่ง ‘บิ๊กกุ้ย’ ได้นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยังตั้ง พล.ต.ต.อรุณ มาเป็นหนึ่งในคณะทำงาน ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : ทำความรู้จัก ‘พล.ต.ต.อรุณ’ อดีตนายเวร ‘วัชรพล’ ข้ามห้วยนั่ง ผช.เลขาฯ ป.ป.ช.)
ทั้งที่ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เปิดรับสมัคร มีตำแหน่งว่างเพียง 11 ที่นั่ง และมีผู้สมัครมากถึง 99 ราย แต่กลับรับโอน ‘คนนอก’ ข้ามห้วยมานั่งเก้าอี้นี้ แย่งโควตา ‘คนใน-ลูกหม้อ’ ในสำนักงาน ป.ป.ช. อีก ?
ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า สาเหตุที่ พล.ต.ต.อรุณ ถูกรับโอนมานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 นั้น อาจเป็นเพราะความสนิทใกล้ชิดกับ พล.ต.อวัชรพล หรือไม่ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า เป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง แต่ พล.ต.ต.อรุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถที่ ป.ป.ช. ต้องการใช้งาน (อ่านประกอบ : รับ'พล.ต.ต.อรุณ'คนสนิทจริง! ปธ.ป.ป.ช. ปัดล็อคสเปกโอนนั่ง ผช.เลขาฯ-ยันคุณสมบัติครบ)
ทั้งนี้ในการสรรหาเจ้าหน้าที่ระดับสูงมาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในสำนักงาน ป.ป.ช. โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ผ่านมา มีการวิเคราะห์ถึงข้อดี-ข้อเสียในการรับโอนเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคคลภายนอกมาดำรงตำแหน่งภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ด้วย
การวิเคราะห์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ในที่ประชุม กปปช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ในล็อตรับโอน พล.ต.ต.อรุณ ด้วยเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำมาเสนอให้ทราบ ดังนี้
การสรรหาบุคคลภายในสำนักงาน ป.ป.ช.
ข้อดี เป็นหลักประกันความก้าวหน้าสำหรับผู้มีความมุ่งมั่น รับผิดชอบปฏิบัติงาน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้รับการยอมรับ สร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร เนื่องจากทุกคนต่างต้องการความก้าวหน้าในชีวิต และองค์กรได้รับประโยชน์จากบุคลากรที่มีความคุ้นเคยกับรูปแบบ นโยบายการบริหารงานภายใน ไม่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ปรับตัว
ข้อเสีย ปิดกั้นการได้รับประโยชน์จากความหลากหลายในประสบการณ์ต่างหน่วยงาน ขาดโอกาสเลือกสรรบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งอย่างกว้างขวาง บุคลากรภายในอาจมีความชำนาญเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้ขาดความหลากหลายในการวิเคราะห์ และการแก้ไขปัญหา
การสรรหาจากภายนอกโดยวิธีการรับโอน
ข้อดี ได้รับประโยชน์จากความหลากหลายในประสบการณ์การปฏิบัติราชการต่างหน่วยงาน การสร้างความหลากหลายในการวิเคราะห์ โอกาสการแก้ปัญหา ได้บุคลากรที่มีความคิดที่หลากหลาย ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีโอกาสเลือกสรรหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่ง
ข้อเสีย มีผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของบุคลากร โดยเฉพาะในตำแหน่งบริหาร เนื่องจากทุกคนต่างต้องการความก้าวหน้าในชีวิต อาจไม่ได้รับการยอมรับจากบุคลากรภายในองค์กร ส่งผลต่อการบังคับบัญชาและการขับเคลื่อนภารกิจ ไม่เป็นผลดีต่อบรรยากาศในการปฏิบัติงานขององค์การ ผู้ขอโอนต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้งาน และวัฒนธรรมองค์กร
นี่คือข้อดี-ข้อเสีย เกี่ยวกับการสรรหาบุคคลภายใน-รับโอนบุคคลภายนอก เข้ามาทำงานในสำนักงาน ป.ป.ช. ท้ายที่สุด พล.ต.อ.วัชรพล ประเมินแล้วเห็นว่า สมควรรับโอน พล.ต.ต.อรุณ เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนจะเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร ? วิญญูชนคงต้องพิจารณากันเอาเอง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/