ทีดีอาร์ไอเสนอ พม.ลง 7 หมื่นหมู่บ้านทั่ว ปท.ร่วมสร้างแผนสวัสดิการชุมชน
เมื่อเร็วๆนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเสวนา“สวัสดิการกับความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน” โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า สวัสดิการสังคมมีรูปแบบอยู่ 4 เสาหลัก คือ 1.รัฐให้ฟรีทุกคนหรือที่เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้า 2.รัฐให้แบบมีเงื่อนไข เช่น ช่วยเหลือกรณีไฟไหม้ น้ำท่วม 3.รัฐให้กับคนที่ด้อยโอกาสในสังคม และ 4.รัฐให้แบบสมทบ คือเป็นการควักกระเป๋าจ่ายร่วมกันระหว่างรัฐและผู้ได้รับประโยชน์ เช่น ประกันสังคม ที่เจ้าตัว นายจ้างร่วมจ่าย และรัฐสมทบ
ดร.สมชัย ยังกล่าวว่า การจัดสวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยลดความเลื่อมล้ำของสังคมลงได้ และที่ผ่านมารัฐก็เริ่มนำร่องจัดสวัสดิการมาหลายเรื่อง อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพ แต่ยังไม่สมบูรณ์100% เช่น นโยบายเรียนฟรียังไม่สามารถช่วยเหลือเด็กกลุ่มที่บ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน และผู้ปกครองไม่สามารถแบกรับภาระค่าเดินทางได้ ส่งผลให้เด็กไม่ได้เรียนในที่สุด ทั้งนี้หากให้รัฐเป็นผู้จัดสวัสดิการ จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และแก้ปัญหาได้ไม่ทั่วถึง จึงเสนอให้ชุมชนเป็นผู้จัดสวัสดิการ โดยมีรัฐและหน่วยงานต่างๆสนับสนุน ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ทั่วถึงตรงตามความต้องการประชาชน และยังประหยัดงบประมาณกว่า จึงเป็นระบบสวัสดิการที่ยั่งยืน
“ถ้าจะให้ดีต้องเข้าถึงและเข้าใจ อย่างที่ในหลวงทำมาโดยตลอด เพราะท่านลงพื้นที่ไปเห็นของจริง ได้คุยกับชาวบ้าน ซึ่งทุกวันนี้ พม.ก็มีครบทุกจังหวัด จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมาร่วมกันสร้างแผนความต้องการชุมชนจากหมู่บ้านทั่วประเทศ 70,000 แห่ง ว่าแต่ละที่ต้องการอะไร เดือดร้อนอะไรบ้าง ซึ่งบางทีที่เค้าต้องการอาจไม่ใช่เงิน อาจอยากได้ที่ปรึกษาที่ดีที่ให้ความรู้ เช่น การขุดบ่อน้ำ ต้องคำนวนอย่างไร”
นางสาวเยาวรัตน์ พุฒิมานรดีกุล ผู้อำนวยการกองนโยบายและแผนงาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ยังมีแรงงานนอกระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 อีกกว่า 24.3 ล้านคน ซึ่งกฏหมายใหม่เปิดให้เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมแบบสมัครใจตามมาตรา 40 แต่ยังไม่ค่อยมีผู้สนใจเนื่องจากยังไม่มีแรงจูงใจมากพอ ทั้งนี้ในเดือนหน้าจะมีการปรับรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นแรงจูงใจ เช่น ปรับรูปแบบการจ่ายเงินสมทบจากที่กำหนดรายปีเป็นรายเดือนแทน และมีเงินบำเหน็จคืนเมื่ออายุ 60 ปี
“ที่ผ่านมาประกันสังคมมาตรา 40 จะให้สิทธิ์ 3 กรณีเท่านั้นคือ คลอด ทุพลภาพ ตาย และลูกจ้างต้องจ่ายฝ่ายเดียวเป็นรายปีสามพันกว่าบาท แต่ตอนนี้เราจะเพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล 1,000 บาทต่อครั้ง แต่ปีละไม่เกิน 2 ครั้ง อีกส่วนหนึ่งคือเงินบำเหน็จคือพออายุครบ 60 ก็จะได้เงินคืนเท่าที่จ่ายมา และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะเพิ่มการดูแลคู่สมรสและบุตรด้วย”
นางอรจิตต์ บำรุงสกุลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การให้ประชาชนเข้ามาร่วมจัดสวัสดิการการกับรัฐ จะเป็นประโยชน์มาก เช่น รับรู้และใช้สิทธิประโยชน์เป็น และสำหรับด้านสุขภาพ รัฐต้องมีแนวคิดว่าทำยังไงให้คนไม่ต้องมารักษา ก็คือส่งเสริมให้คนรักสุขภาพ ขณะนี้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ร่วมสมทบ ดำเนินการไปแล้วกว่า 5,509 ตำบล และจะครอบคลุม 7,776 ตำบลทั่วประเทศภายในปี 2554
“บางคนเรียกว่ากองทุน อบต.พยาบาล นอกจากส่งเสริมเรื่องสุขภาพเพื่อให้คนเจ็บป่วยน้อยลงจากการออกกำลังกายแล้ว ยังให้ความรู้เพื่อปรับพฤติกรรมให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้นด้วย ที่สำคัญกองทุนนี้ต้องมีประชาชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการเพื่อความเข้มแข็ง ซึ่งตัวแทนจะมาจากหลายส่วน เช่น นายก อบต.เป็นประธานกองทุน มี อสม. ตัวแทนชาวบ้าน สภาเทศบาล เข้าร่วม”
ผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง จ.ระยอง กล่าวถึงสวัสดิการชุมชนบ้านจำรุง ว่าทำกันมากว่า 22 ปีแล้ว อย่างเป็นระบบ เช่น สวัสดิการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินของชุมชน สวัสดิการด้านสุขภาพที่ยังพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวชุมชน
“วันนี้ชุมชนเรามีผักปลอดสารเคมีกิน มีสุขภาพที่ดีขึ้น เรารับซื้อจากชาวบ้านกำละ 4 บาท ขายกำละ 5 บาท วันไหนขาดทุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจ่ายชดเชยให้ 100 บาท มีกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเอาคนไปกินไปซื้อผลผลิตถึงชุมชน ไม่ต้องเอามาขายในกรุงเทพฯ และยังมีธนาคารชุมชน คนบ้านนอกไม่ต้องขับรถสิบกิโลเอาเงินไปฝากธนาคารพาณิชย์สามร้อยบาท
นายธนชัย อาจหาญ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า การสร้างสวัสดิการให้ชุมชนสอดคล้องกับวัฒนธรรมการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน ทั้งนี้ต้องปรับวิธีคิดของคนไม่ให้รอรับอย่างเดียว
“สวัสดิการที่เกิดในชุมชนนี่เป็นการรื้อวัฒนธรรมกลับคืนมา เด็กได้รับการดูแลว่าเค้าต้องการอะไร วัยกลางคนเป็นยังไง ชุมชนต้องช่วยตัวเองก่อน ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานเชื่อว่าชาวบ้านทำได้ และจะนำไปสู่การกระจายอำนาจ และตรงต่อความต้องการของชุมชนแท้จริง” .