เทียบชัดๆ ราคาขายรถหุ้มเกราะ ลิธัวเนีย! 'คงชีพ' ยันไทยได้ของคุณภาพ แม้ผ่านการใช้งานแล้ว
"...การซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพจะเอาแค่ราคาผลิตจากโรงงานมาตั้งเท่านั้นไม่ได้ มันมีหลายขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงแพคเกจต่างๆ ซึ่งทางกองทัพบกก็คงจะต้องมีการชี้แจงกันต่อไปว่ามีแพคเกจอะไรบ้าง โดยแพคเกจที่่ว่านั้นก็น่าจะรวมถึงการส่งชิ้นส่วนอะไหล่ การให้ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆกับกองทัพไทย จนเราสามารถนำไปวิจัยต่อยอดได้ แต่ไม่อยากให้มาเปรียบเทียบราคาผลิตกันแค่ต่อหน่วยเท่านั้น..."
สาธารณชนคงได้รับทราบข้อมูลกันไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา กองทัพบกได้อนุมัติจัดหารถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER จากอัตราสำรองคลังของกองทัพสหรัฐอเมริกาจำนวน 37 คัน (แถม 23 คัน) คันละประมาณ 80 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,960 ล้านบาท เพื่อบรรจุในกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา ตามแผนการเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยทหารราบ โดยประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศแรกนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาที่มีการสั่งซื้อรถหุ้มเกราะรุ่นนี้มาใช้งาน
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เตรียมที่ยื่นข้อมูลต่อ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณจำนวน 2,960 ล้านบาท ของ กองทัพบก เพื่อจัดซื้อรถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER ดังกล่าว โดยกล่าวอ้างว่า ได้ตรวจสอบราคาที่มีการโฆษณาซื้อขายกันผ่านเวปไซต์ที่เป็นแหล่งข้อมูลด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีการซื้อขายกันโดยทั่วไป พบว่าราคาของรถเกราะล้อยาง M1126 STRYKER ถูกกำหนดราคาไว้ที่ 1,411,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 47 ล้านบาทต่อคันเท่านั้น และรถเกราะล้อยางรุ่นดังกล่าวไม่ได้เป็นรถรุ่นใหม่แต่อย่างใด มีการผลิตและนำมาใช้ประจำการมาแล้วเกือบ 20 ปี และการที่กองทับพกไทยอนุมัติซื้อมานั้นเป็นรถที่อยู่ในคลังสำรองของกองทัพสหรัฐ หมายถึงเป็นรถมือสองใช่หรือไม่ แต่อาจจะนำไปพ่นสีให้ดูใหม่ขึ้น เปลี่ยนอะไหล่เล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ดูดีมีราคาขึ้นมาใช่หรือไม่ (อ่านประกอบ : 'ศรีสุวรรณ' ชงหลักฐานกองทัพซื้อรถเกราะ 2.9 พันล. สัปดาห์หน้า-จ่อยื่น กกต. สอบเงินยืมธนาธร110ล.) (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สำรวจราคารถหุ้มเกราะ Stryker ต่างประเทศ ว่ามีราคาขายอยู่ที่คันละ 47 ล้านบาทจริงหรือไม่
โดยข้อมูลการจัดซื้ออาวุธของกองทัพสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2555 ระบุว่า กองทัพสหรัฐ เคยจัดซื้อรถหุ้มเกราะรุ่น Stryker จำนวน 100 คัน ด้วยราคาทั้งสิ้น 633 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 20,161 ล้านบาท หรือคิดเป็นราคาต่อคันคันละ 201,610,500 บาท (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จากเอกสารจัดซื้ออาวุธกองทัพสหรัฐปี 2555 หน้าที่ 42 )
ขณะที่ข้อมูลราคาคันละ 47 ล้านบาท ถูกระบุว่าเป็นรถเปล่าซึ่งผลิตออกจากโรงงานในช่วงปี 2546 ซึ่งใช้ราคาผลิตประมาณ 1.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 45,229,130 บาท (อ้างอิงจากเว็บไซต์นิตยสารทางทหารออนไลน์: http://www.army-guide.com/eng/product.php?prodID=855&printmode=1)
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ยังตรวจพบข้อมูลเพิ่มเติมในเว็บไซต์ Defence24.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่อทางการทหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศโปแลนด์ พบว่า ในช่วงปี 2558 กองทัพสหรัฐอเมริกา เคยยืนข้อเสนอขายรถหุ้มเกราะ Stryker ให้กับทางประเทศลิธัวเนียด้วยเช่นกัน
โดยในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศลิธัวเนีย ได้แสดงความสนใจกับข้อเสนอการขายรถหุ้มเกราะล้อยางรุ่น Stryker ดังกล่าว จึงมีการพยายามทำข้อตกลงซื้อขายกันระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกาและทางประเทศลิธัวเนีย
ซึ่งข้อตกลงที่ประเทศลิธัวเนียสนใจนั้นเป็นการซื้อขายรถหุ้มเกราะ Stryker M1126 จำนวน 84 คัน ติดอาวุธด้วยปืนหลักรุ่น XM813 ขนาด 30 มม. หรืออาวุธอื่นของทางยุโรปที่มีความสามารถเทียบเท่าได้ มีอาวุธรองเป็นปืนกลหนัก M2 ขนาด 50 คาลิเบอร์
ในข้อตกลงนั้น ยังระบุด้วยว่าจะมีแพคเกจการส่งอุปกรณ์สนับสนุนที่จำเป็นต่อกิจกรรมการใช้รถหุ้มเกราะในประเทศลิธัวเนีย เช่นชิ้นส่วนอะไหล่ยานเกราะ วิทยุรุ่น AN/PRC-152, AN/PSN-13 DAGR และวิทยุ VIC-3 แพคเกจการฝึกกำลังพลของลิธัวเนียให้มีความสามารถในการใช้งานรถหุ้มเกราะ รวมไปถึงการส่งมอบข้อมูลด้านเทคนิคที่สำคัญต่างๆ โดยมีการประมาณการว่าราคาแพคเกจนี้จะอยู่ที่ประมาณ 599 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 19,075 ล้านบาท ซึ่งถ้าหากเอาจำนวนรถหุ้มเกราะ 84 คันที่ประเทศลิธัวเนียได้ให้ความสนใจว่าจะสั่งซื้อไปหารกับราคาจัดซื้อรถทั้งหมด ราคารถหุ้มเกราะต่อคัน ก็จะอยู่ที่ประมาณคันละ 227,092,309 บาท
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วประเทศลิธัวเนียก็ได้ตัดสินใจที่จะจัดซื้อรถหุ้มเกราะรุ่น Boxer จากประเทศเยอรมันจำนวน 88 คัน แทนที่รถหุ้มเกราะ Stryker ด้วยราคาทั้งสิ้น 400 ล้านยูโร หรือประมาณ 14,215 ล้านบาท
(อ้างอิงจาก:https://www.defence24.com/strykers-offer-for-lithuania-state-department-issues-a-consent,https://www.defence24.com/german-boxer-apcs-acquired-by-lithuania-armed-with-spike-anti-tank-guided-missiles)
ดังนั้น ถ้าหากเทียบในด้านราคาการจัดซื้อระหว่างประเทศไทยและประเทศลิธัวเนีย แม้ว่า ประเทศลิธัวเนียจะมีราคาจัดซื้อแพงกว่าประเทศไทย ถ้าหากเทียบกันด้วยราคาต่อคัน แต่ก็มีแพคเกจมากมายเป็นส่วนประกอบด้วยเช่นกัน
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม
โดย พล.ท.คงชีพ ได้กล่าวในประเด็นเรื่องที่นายศรีสุวรรณไปยื่นร้องเรียนว่าการจัดซื้อรถหุ้มเกราะมีราคาแพงนั้นต้องขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า "การซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพจะเอาแค่ราคาผลิตจากโรงงานมาตั้งเท่านั้นไม่ได้ มันมีหลายขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงแพคเกจต่างๆ ซึ่งทางกองทัพบกก็คงจะต้องมีการชี้แจงกันต่อไปว่ามีแพคเกจอะไรบ้าง โดยแพคเกจที่่ว่านั้นก็น่าจะรวมถึงการส่งชิ้นส่วนอะไหล่ การให้ข้อมูลทางเทคนิคต่างๆกับกองทัพไทย จนเราสามารถนำไปวิจัยต่อยอดได้ แต่ไม่อยากให้มาเปรียบเทียบราคาผลิตกันแค่ต่อหน่วยเท่านั้น"
พล.ท.คงชีพ ยังกล่าวต่อว่า "ถ้าหากจะเปรียบเทียบราคากันจริง ก็จะเห็นว่าราคาการจัดซื้อของกองทัพไทยกับของประเทศอื่นๆที่สำนักข่าวอิศราได้ไปหาข้อมูลมานั้นจะพบว่ากองทัพไทยได้ซื้อรถหุ้มเกราะรุ่นนี้มาในราคาที่ถูกมากด้วยซ้ำ ทีนี้ถ้าสำนักข่าวอิศราจะมีข้อสงสัยอีกว่าทำไมราคาที่ซื้อมามันถูกมาก ก็ต้องขอชี้แจงต่อว่าการซื้อขายรถหุ้มเกราะขนิดนี้นั้นเป็นข้อตกลงกันแบบรัฐต่อรัฐ โดยใช้รูปแบบการจัดซื้อที่เรียกกันว่า FMS (Foreign Military Sales) ซึ้งเป็นข้อตกลงการจัดซื้อที่เป็นรูปแบบเฉพาะของรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับรัฐบาลประเทศอื่นๆเท่านั้น โดยทางรัฐบาลสหรัฐจะเป็นผู้กำหนด กฎระเบียบ วิธีการดำเนินการขายยุทโธปกรณ์เอง"
"การซื้อนี้ก็เป็นความช่วยเหลือจากทางกองทัพสหรัฐที่มอบกับกองทัพไทย โดยขายให้ในราคามิตรภาพ ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นความพยายามของทางประเทศเขาในการเข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยการซื้อขายรถหุ้มเกราะชนิดนี้ ขั้นตอนต่อมาก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทางสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน" พล.ท.คงชีพกล่าว
เมื่อถามว่า รถหุ้มเกราะที่จัดซื้อมา เป็นมือหนึ่ง หรือมือสอง พล.ท.คงชีพ ตอบว่า "เกี่ยวกับรายละเอียดทางกองทัพบกจะเป็นผู้ชี้แจงเอง แต่เบื้องต้นเข้าใจว่ารถหุ้มเกราะที่จัดซื้อครั้งนี้ เป็นรถที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว หรือที่เรียกว่า รีเฟอร์บิช (REFURBISHED) มีการปรับปรุงให้ทันสมัย เหมาะสมกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน"
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า คำว่า REFURBISHED หมายถึง สินค้าประเภทที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดตำหนิ ที่ถูกส่งคืนกลับไปยังผู้ผลิต จากนั้นซ่อมแซ่มหรือปรับปรุงใหม่ พร้อมรับการตรวจสอบตามมาตรฐา นของโรงงานอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/