สธ.สร้าง “หมอประจำบ้าน” ใน รพ.สต.-ศูนย์สุขภาพชุมชน คาดปี 56 ทั่วถึง 21 ล้านครัวเรือน
ก.สาธารณสุข สร้าง “หมอประจำบ้าน” 1 คนดูแล 300 ครัวเรือน เริ่มในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล-ศูนย์สุขชุมชนเมืองปีนี้ 1,228 แห่ง ตั้งเป้าทั่วประเทศปี 56 ดูแลทั่วถึง 21 ล้านครัวเรือน
วันที่ 12 ก.ค.55 นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลวังสามหมอ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี เยี่ยมชมตลาดนัดนักสุขภาพครอบครัว หมอประจำบ้านทุกครัวเรือน โดยกล่าวว่าปีนี้รัฐบาลโดย สธ.พัฒนาโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโฉมใหม่ ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค โดยจัดให้มีหมอประจำบ้าน 1 คนดูแล 300 ครัวเรือนหรือประมาณ 1,250 คน และมี อสม.เป็นทีมงาน
หมอประจำบ้านจะมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นนักสุขภาพครอบครัวคือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จะเข้าไปสำรวจสุขภาพ จัดทำสมุดสุขภาพประจำครอบครัว ตั้งแต่เด็ก-สูงอายุ มีการตรวจคัดกรองสุขภาพทั้งผู้ป่วย เสี่ยงจะป่วย และยังมีสุขภาพดี เพื่อวางแผนการดูแลใกล้ชิด และมีแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชน/โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรียกว่าแพทย์ประจำครอบครัว เป็นที่ปรึกษาแก่นักสุขภาพและผู้ป่วยโดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง
หมอทั้ง 2 กลุ่มจะวางแผนการรักษาร่วมกันอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้งทำให้สามารถติดตามผู้ป่วยให้ได้รับบริการต่อเนื่อง ไม่มีปัญหาขาดยา ดื้อยา คนที่มีโรคประจำตัวก็ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจนเกิดความพิการ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาระบบหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ ได้ทดลองรูปแบบใหม่ที่อุดรธานี 2 ปีแล้วผลพบว่าได้ผลดี พร้อมขยายรูปแบบไปใน รพ.สต.และศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง หรือ ศสม. 1,228 แห่งทั่วประเทศปีนี้ และคาดครอบคลุมทุกพื้นที่ในปี 2556 ให้ทั่วถึงประชาชน 21 ล้านครัวเรือน ไทยจะเป็นประเทศที่จัดการโรคไม่ติดต่อหรือโรคเรื้อรังได้เป็นผลสำเร็จแห่งแรกของโลก
ด้าน นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ.กล่าวว่าโรงพยาบาลวังสามหมอ จ.อุดรธานี ได้ทดลองรูปแบบหมอประจำครอบครัวทั้งอำเภอ 720 ครัวเรือน 72 หมู่บ้าน 6 ชุมชนเมือง มีหมอประจำครอบครัว 6 คน นักสุขภาพครอบครัว 80 คน และอสม. 900 คน ดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 พบว่าได้ผลดี เจ้าหน้าที่รู้ปัญหาสุขภาพทุกคน เข้าไปดูแลรวดเร็ว ที่สำคัญคือสามารถหยุดยั้งกลุ่มเสี่ยงเกิดโรคไม่ให้ป่วย และป้องกันคนดีไม่ให้ป่วย ส่วนคนป่วยแล้ว เช่น เบาหวาน ไม่มีปัญหาตาบอด หรือต้องตัดขา เนื่องจากได้รับการดูแลดี ลดโรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ซึ่งพบมากในภาคอีสาน
.....................................................
ภาพประกอบ : http://ruraldoctor.or.th/