นักวิชาการ แจง ส.ว. ไม่มีอำนาจถอดถอน ส.ส.
นักวิชาการ จุฬาฯ แจงอำนาจ ถอดถอน ส.ส. ไม่มีแล้ว ทำได้แค่ตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกสภาของตัวเอง
นายพรสนันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ โพสต์เฟซบุ๊ก "Pornson Liengboonlertchai" อธิบายถึงกระแสที่ระบุว่า ส.ว. ชุดปัจจุบัน 25 คน มีอำนาจในการถอดถอน ส.ส. ว่า
“มีการแชร์กันในโลกออนไลน์ค่อนข้างมากเกี่ยวกับอำนาจ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีการพูดว่า ส.ว. 25 คน มีอำนาจถอดถอน ส.ส. ได้ เป็นอำนาจใหม่ที่บัญญัติขึ้น ผมเกรงว่าจะเป็นการทำให้หลายท่านเข้าใจคลาดเคลื่อนไป เพราะในความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้น จึงขออธิบายให้ทราบกันเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาดังนี้นะครับ
1. กลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (impeachment) แบบรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 นั้น ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่มีแล้ว
2. ม.82 ที่พูดๆ ถึงกันที่กำหนดให้ ส.ส. หรือ ส.ว.จำนวน 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกของแต่ละสภา (เป็นที่มาของจำนวน ส.ว. 25 คน ที่พูดถึงกัน) เป็นเรื่องของการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ "ตรวจสอบคุณสมบัติ" ภายหลังการดำรงตำแหน่งแล้ว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ "การถอดถอนออกจากตำแหน่ง" ตามข้อ 1.
3. การตรวจสอบคุณสมบัติตามข้อ 2. จะทำได้เฉพาะแต่กับสมาชิกของสภาตนเองเท่านั้น ไม่สามารถตรวจสอบข้ามสภาได้ ทั้งนี้เป็นไปตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญว่าด้วย "การจัดกระบวนการภายในของสภาตนเอง" ซึ่งก็มีการบัญญัติไว้ชัดเจนใน ม.82 กล่าวคือ ส.ส.จะรวมชื่อกันยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบได้เฉพาะแต่สมาชิกภาพของเพื่อน ส.ส. ด้วยกันเอง ส่วน ส.ว.ก็เช่นเดียวกัน จะไม่สามารถมีกรณีที่ ส.ว. ยื่นตรวจสอบสมาชิกภาพของ ส.ส. ได้ ตามที่เข้าใจและแชร์กันในโลกออนไลน์
4. การตรวจสอบคุณสมบัติภายหลังการดำรงตำแหน่งทำนองเดียวกับ ม.82 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีมานานแล้ว สมัยฉบับปี 40 และ 50 ก็มี หาใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร