ทำความรู้จัก ‘พล.ต.ต.อรุณ’ อดีตนายเวร ‘วัชรพล’ ข้ามห้วยนั่ง ผช.เลขาฯ ป.ป.ช.
“…สิ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.ต.อรุณ และ พล.ต.อ.วัชรพล คือ ในใบสมัครเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น พล.ต.ต. อรุณ ระบุชัดเจนว่า เคยร่วมปฏิบัติงานในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาในระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี กับ พล.ต.อ.วัชรพล…”
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำลังคุกรุ่น
หลังจากกรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงนามคำสั่งรับโอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบก.ยศ.) มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 1 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น มีผลตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.รับโอน‘พล.ต.ต.อรุณ’คณะทำงาน ‘พล.ต.อ.วัชรพล’เป็น ผช.เลขาฯภาค 1, รับ'พล.ต.ต.อรุณ'คนสนิทจริง! ปธ.ป.ป.ช. ปัดล็อคสเปกโอนนั่ง ผช.เลขาฯ-ยันคุณสมบัติครบ)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์เซ็งแซ่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า การกระทำดังกล่าวอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากที่นั่งในฤดูกาลโยกย้ายผู้บริหารของสำนักงาน ป.ป.ช. ในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีที่ว่าง 11 ที่นั่ง และมีผู้สมัครมากถึง 99 ราย แต่กลับโอนย้าย ‘คนนอก’ เข้ามาเสียบแทน 1 ที่นั่ง เหลือโควตาอีกแค่ 10 ที่นั่งเท่านั้น ?
ที่สำคัญยังถูกตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง 2 นายพลตำรวจ เนื่องจาก พล.ต.ต.อรุณ เคยเป็นอดีตนายเวร ติดตาม พล.ต.อ.วัชรพล มาตั้งแต่สมัยนั่งรอง ผบ.ตร. กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังเซ็นตั้ง พล.ต.ต.อรุณ มาเป็นหนึ่งในคณะทำงาน นั่งตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการประธานกรรมการ ป.ป.ช. อีก
ว่ากันว่าในที่ประชุม กปปช. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. โดยมีกรรมการ กปปช. บางราย ท้วงติงถึงกรณีนี้ แต่ถูก พล.ต.อ.วัชรพล ยกสารพัดเหตุผลมาท้ายที่สุดที่ประชุมโหวตให้ผ่าน ?
คำถามคือ พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล เป็นใคร มีฝีไม้ลายมือเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากน้อยแค่ไหน ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สืบค้นข้อมูลมาให้ทราบ ดังนี้
พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล ปัจจุบันอายุ 51 ปี (เหลืออายุราชการอีกอย่างน้อย 9 ปี) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อปี 2531 จบศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) เกียรตินิยม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อปี 2544 และจบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2549
รับราชการตำรวจเมื่อปี 2532 เป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี กระทั่งปี 2539 เป็นนายเวรผู้บังคับการตำรวจป่าไม้ (นว.ผบก.ปม.) หลังจากนั้นกราฟชีวิตราชการพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2553 เป็นนายเวร (สบ 4) รอง ผบ.ตร. (พล.ต.อ.วัชรพล) ต่อมาปี 2557 เป็นนายเวร (สบ 5) รอง ผบ.ตร. (พล.ต.อ.วัชรพล) กระทั่งปี 2561 นั่งเก้าอี้ ผบก.ยศ.
สิ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่าง พล.ต.ต.อรุณ และ พล.ต.อ.วัชรพล คือ ในใบสมัครเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น พล.ต.ต. อรุณ ระบุชัดเจนว่า เคยร่วมปฏิบัติงานในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาในระยะเวลาย้อนหลัง 5 ปี กับ พล.ต.อ.วัชรพล
ประเด็นนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า เป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง แต่ พล.ต.ต.อรุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ป.ป.ช. ต้องการใช้งาน เพื่อขับเคลื่อนงานต้องอาศัยความร่วมมือกับ สตช. ในการสะสางงานเก่า
ถ้าใครหลายคนยังจำกันได้ ช่วงปลายเดือน ก.พ. 2562 พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สรุปข้อหารือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องแนวทางในการดำเนินการเมื่อรับมอบสำนวนการสอบสวนจากสำนักงาน ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ผลการหารือคือ สำนักงาน ป.ป.ช. จะทยอยส่งมอบสำนวนการสอบสวน ‘ไม่ยุ่งยาก-ไม่ซับซ้อน’ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประมาณ 15,000 สำนวน ให้กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และตำรวจภูธรภาค 1-9 โดยตรง ซึ่งมีการส่งมอบไปแล้วบางส่วนให้กับตำรวจภูธรภาค 4 และภาค 5 โดยเมื่อ บช.น. และตำรวจภูธรภาค 1-9 รับมอบสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และตำรวจภูธรภาค 1-9 เป็นผู้พิจารณามอบหมายให้พนักงานสอบสวน ได้แก่ กองบังคับการสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรประจำจังหวัด หรือสถานีตำรวจนครบาล หรือสถานีตำรวจภูธรท้องที่ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบสำนวนการสอบสวน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.โอน 15,000 สำนวน ‘ไม่ยุ่งยาก-ซับซ้อน’ ให้ ตร.สอบ-ค่าตอบแทน 3-8 พันบ.)
นั่นอาจเป็นไปได้ว่า การรับโอน พล.ต.ต.อรุณ เข้ามา เพื่อมาช่วยประสานงานกับฝ่าย สตช. ในเรื่องการโอนสำนวนให้กับ สตช. หรือไม่ ?
นี่เป็นข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับการรับโอนนายตำรวจ ‘ข้ามห้วย’ มานั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับต้นในสำนักงาน ป.ป.ช. ส่วนรายละเอียดเชิงลึกเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนออีกครั้ง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/