ความมั่นคงทางด้านอาหาร กับการรักษาฐานทรัพยากรพื้นที่ภาคใต้
พื้นที่ภาคใต้พบการทำ ปาล์ม ทำให้วิถีดั้งเดิมทำประมงพื้นบ้าน และการเกษตร ฐานทรัพยากร ป่า นา ทะเล ที่เคยอุดมสมบูรณ์ ได้ถูกแย่งพื้นที่และกำลังจะหมดไป
ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนภาคใต้ในอดีตนั้นมีมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลง ถึงขนาดต้องบริโภคอาหารที่ซื้อมาจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะความมั่นคงทางอาหาร ด้านภูมิปัญญา น้อยลงจนแทบไม่มีเหลือให้เห็น
"ดูได้จากอดีตเมื่อมีคนในครอบครัวเจ็บป่วย แม่บ้านจะรู้ว่าพืชผักหรืออาหารประเภทไหนดีหรือมีประโยชน์ จึงนำมาปรุงอาหารเพื่อช่วยรักษาได้ แต่ปัจจุบันภูมิปัญญาเช่นนี้ไม่มีเหลือให้เห็นแล้ว" สามารถ กนกพงศ์ หนึ่งในภาคีเครือข่ายทำงานพื้นที่ภาคใต้ ให้ข้อมูลในเวทีประชุมภาคีภาคใต้ “ตลาดสีเขียวชุมชน” ที่ จ.พัทลุง เมื่อเร็วๆ นี้
ขณะที่ “วัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ด” ผู้ดูแลโครงการสนับสนุนวิชาการและการบูรณาการระบบอาหารสุขภาวะสู่การสร้างสรรค์พลเมืองอาหาร (กลุ่มงานอาหารปลอดภัยความมั่นคงทางอาหารและภาคียุทธศาสตร์โภชนาการ ) สสส. ก็มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เช่นกันว่า ได้ขยายวงกว้างและเป็นในทุกพื้นที่ไม่ใช่เฉพาะที่ภาคใต้ และเป็นปัญหาที่ไม่ควรปล่อยหรือละเลยให้นานไปมากกว่านี้ จากที่ได้ลงพื้นที่ในทุกภาคของประเทศ ได้เข้าใจถึงเรื่องระบบอาหารและการเกษตรของภาคต่าง ๆ
ภาคเหนือ มีปัญหาเรื่องคอนแท็ค ฟาร์มมิ่งการปลูกข้าวโพด จนเป็นภูเขาหัวโล้น จนมีปัญหาหมอกควันตามมา
ภาคอีกสาน การปลูกอ้อยกำลังรุกคืบเข้าทุกพื้นที่ เพื่อทำโรงงานน้ำตาล ผลที่ตามมานอกจากพื้นที่ผลิตอาหารหมด ยังปล่อยสารเคมีลงแหล่งน้ำด้วย
พื้นที่ภาคใต้พบการทำ ปาล์ม ทำให้วิถีดั้งเดิมทำประมงพื้นบ้าน และการเกษตร ฐานทรัพยากร ป่า นา ทะเล ที่เคยอุดมสมบูรณ์ ได้ถูกแย่งพื้นที่และกำลังจะหมดไป
เฉพาะจังหวัดพัทลุง หลายคนยอมรับทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหาร เหลือน้อยเต็มที เพราะการรุกของสวนปาล์ม เห็นได้จากปลาที่เคยมีอุดมสมบูรณ์เอาทำปลาเค็มลดน้อยลง มีแต่ปลาเล็กปลาน้อยที่ได้จากคลอง และทะเลน้อย ซึ่งในเชิงการขายให้นักท่องเที่ยว จะพบว่า ปลาทั้งหมดส่งตรงมาจากภาคกลาง แม้กระทั่งสินค้าขึ้นชื่อ ปลาดุกร้า ปลาดุกก็นำมาจากที่อื่น
ส่วนปลาที่เป็นปลาพื้นถิ่นจริงๆ คือปลาลูกแบร่
การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร รักษาระบบนิเวศไปด้วยกันนั้น มี 'ต้นแบบ'สวนผึ้งปันเต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เกษตรกรประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ โดย “วีระพล ห้วนแจ่ม” อดีตนักวิจัย ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงฯ ได้รวมกลุ่ม และมีมติจากชุมชนในการเลี้ยงผึ้งโพรงไทย ในนามวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน โดยมีนวัตกรรมการเลี้ยงผึ้งที่ใช้กระบวนการเลี้ยงที่มีประสิทธิภาพได้น้ำผึ้งมากกว่าแบบเดิมถึง 3 เท่า
" สมัยก่อนชาวบ้านเลี้ยงผึ้งได้น้ำผึ้ง 3-6 กิโลกรัมต่อรังต่อปี เมื่อหันมาเลี้ยงผึ้งแบบนวัตกรรม ไม่ใช้มือบีบ ไม่มีการเลี้ยงน้ำตาล หรือมีอาหารเสริมช่วย และใช้ถังสลัดเหวี่ยง ของเราได้น้ำผึ้ง 20 กิโลกรัมต่อรังต่อปี ขายได้ถึงกิโลกรัมละ 500 บาท"
ปัจจุบัน สวนผึ้งปันแต มีรังผึ้ง ทั้งผึ้งโพรงไทย และชันโรงที่ให้ผลผลิตแล้ว จำนวน 1,100 รัง เก็บเกี่ยว 2 ครั้งต่อเดือน ผลผลิตต่อปีกว่า 10,000 กิโลกรัม สร้างรายได้หมุนเวียกว่า 4 ล้านบาทต่อปี
เขาบอกถึงการผลิตอาหารปัจจุบันเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งนอกจากสภาพภูมิอากาศมีผลต่อการทำการเกษตรแล้ว การใช้สารเคมีก็มีผลกระทบมากเช่นกัน อย่างสภาวะอากาศ มีผลต่อการเลี้ยงผึ้ง โดยเฉพาะแหล่งอาหารของผึ้ง เช่น ลำไย พอใส่สารอะไรไปเยอะๆ ก็เพี้ยน เนื่องจากพืชแต่ละชนิดให้น้ำหวานแต่ละหนึ่งรอบปีไม่เหมือนกัน ยางพาราน้ำผึ้งอยู่ที่ตาใบ ดังนั้น นอกจากสภาพอากาศแล้ว การใช้สารเคมีก็มีผลต่อการเลี้ยงผึ้ง โดยสารเคมีที่อันตรายต่อผึ้งมากที่สุด คือ แลนเนท เป็นสารฆ่าแมลง หากผึ้งได้รับสารเคมีชนิดนี้ จะทำให้ผึ้งตายยกรัง
เมื่อถามถึงสาเหตุ ทำไมเกษตรกรบ้านเราทำเกษตรแล้วจน หรือไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนั้น เขาชี้ว่า เกษตรกรไม่ได้ทำเรื่องของข้อมูล (Data) เช่น การเลี้ยงผึ้ง 1 รอบปีมีอะไรบ้าง ของเราเก็บข้อมูลมาตลอด การเลี้ยงผึ้งมีอยู่ 3 ฤดู ช่วงผึ้งแยกขยายรัง หลังหมดฝน 1 เดือน หากคนไม่มีความรู้นำรังไปติดตั้งผึ้งจะไม่เข้ารัง และก็มีช่วงผึ้งแยกขยายรัง เป็นต้น
ในส่วนของพื้นที่ชุ่มน้ำ ยังมีให้เห็นทั่วไปในเขตภาคใต้ อย่าง "ป่าสาคู" พืชชอบน้ำจืด เจริญเติบโตได้ดีพื้นที่ลุ่มน้ำ
มีสาคู มีอาหาร มีความสุข “ละไม ทรงเดชะ” เจ้าของศูนย์การเรียนรู้แป้งสาคู ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศของป่าสาคู รวมไปถึงความแตกต่างระหว่างสาคูในท้องตลาดที่มักทำจากแป้งมันสำปะหลัง กับสาคูต้น ซึ่งเป็นสาคูแท้ๆ สีจะออกน้ำตาลไหม้ เริ่มหาได้ยากมากขึ้น
"ป่าสาคูปลูกได้เฉพาะภาคใต้เท่านั้น และใช้เวลาปลูกนานไม่ต่ำกว่า 10 ปี กว่าจะได้เป็นแป้งออกมา ต้นสาคูอายุ 10 ปีขึ้นไปจะสะสมแป้งในลำต้นมาก ต้นหนึ่งได้แป้งไม่ต่ำกว่า 60 กิโลกรัม ขณะที่ลำต้นสามารถนำมาเลี้ยง ด้วงสาคูได้อีก ขายตก 70 บาทต่อกิโลกรัม”
ป่าสาคูหรือปาล์มสาคู จึงจัดเป็นพืชท้องถิ่นชนิดหนึ่ง เป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธ์สัตว์น้ำ เกือบทุกส่วนของต้นใช้ประโยชน์ได้ เช่น หน่ออ่อนรับประทานสด ใบใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา เปลือกใช้ทำเชื้อเพลิง เยื่อในลำต้น ใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือไปสกัดเป็นแป้งทำอาหารชนิดต่างๆ ได้มากมาย
การมีอาหารเพียงพอ ปลอดภัย และสามารถเข้าถึงอาหารได้ สิ่งสำคัญสุดอยู่ที่คนในท้องถิ่นต้องตระหนักและร่วมกันปกป้องฐานทรัพยากร พื้นที่สำหรับเป็นแหล่งผลิตอาหารให้สามารถหล่อเลี้ยงชีวิต สร้างรายได้ และพึ่งพาภายนอกให้น้อยที่สุด
ละไม ทรงเดชะ
แม่บุญเรือนกับแป้งสาคูต้น
ขนมสาคู