สสส. และภาคีเครือข่าย Kick off ระดม 500 ชีวิต สำรวจสถานการณ์คนไร้บ้าน
สสส. และภาคีเครือข่าย Kick off ระดม 500 ชีวิต ปูพรมคืนเดียวสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านครั้งใหญ่! ครอบคลุมทั้งประเทศ หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ร่วมจัดกิจกรรมปล่อยคาราวานทีมสำรวจข้อมูลประชากรคนไร้บ้าน โดยมีทีมสำรวจมากกว่า 500 ชีวิต เฉพาะในกรุงเทพมหานครรวม 41 เส้นทาง และพร้อมกับ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี นครสวรรค์ กาญจนบุรี นครปฐม สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สงขลา นครศรีธรรมราช ชลบุรี และสุราษฎร์ธานี หลังสำรวจไปแล้ว 60 จังหวัด ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบว่ามีคนไร้บ้านรวม 686 คน
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนไร้บ้านถือเป็นกลุ่มประชากรหนึ่งที่ สสส. ตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและสุขภาพ ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาวิธีวิทยา และเครื่องมือในการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอย่างเป็นระบบขึ้น โดยได้ทำการสำรวจครั้งแรกในปี 2558 นำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนไร้บ้านเป็นจำนวนมาก พบว่ามีจำนวนกว่า 1500 คน ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 28 ไม่มีบัตรประชาชน ร้อยละ 55 เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ และร้อยละ 70 มีปัญหาสุขภาพจิต
นางภรณี กล่าวต่อว่า การดำเนินการสำรวจคนไร้บ้านครั้งนี้ สสส. ภาคีทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม สนับสนุนด้านองค์ความรู้ วิธีการในการแจงนับและสำรวจประชากรคนไร้บ้าน และแกนนำเครือข่ายเข้าร่วมในการสำรวจพร้อมกันในคืนเดียวทุกพื้นที่ หรือที่เรียกว่า One Night Count ซึ่งสามารถป้องกันการนับประชากรคนไร้บ้านซ้ำ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำทั้งด้านจำนวนและสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพเชิงลึกของคนไร้บ้าน การสำรวจสถานการณ์ในครั้งนี้แตกต่างจากการเก็บข้อมูลสภานการณ์ประเภทอื่นๆ โดยจะใช้ผู้เก็บข้อมูลจำนวนมากกว่า 500 คน ทำการสำรวจพร้อมในช่วงเวลาเดียวกัน ผู้เก็บข้อมูลจะต้องผ่านการอบรมให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เทคนิคการเข้าถึงกลุ่มคนไร้บ้านอย่างเป็นมิตร รวมทั้งต้องฝึกทักษะการตั้งคำถามเก็บข้อมูลที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนและหลักสิทธิมนุษยชน นอกจาก สสส. จะให้ความสำคัญต่อข้อมูลเชิงปริมาณแล้ว ข้อมูลเรื่องสถานะสุขภาพก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการออกแบบกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะของคนไร้บ้าน โดย สสส ให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูศักยภาพเพื่อให้คนไร้บ้านสามารถพึ่งพาตนเองได้ และกลับคืนสู่ครอบครัว/ชุมชนโดยเร็ว
ทั้งนี้การสำรวจประชากรคนไร้บ้านจะเป็นข้อมูลสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และระดับนโยบายเพื่อการเข้าถึงสุขภาวะของคนไร้บ้าน สำหรับการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านในครั้งนี้ถือเป็นการสำรวจครั้งแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศในคืนเดียว ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการสำรวจยืนยันสมมติฐานในการทำงานของ สสส และภาคีเครือข่ายในประเด็นจุดคานงัดในการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านต้องเริ่มที่การเข้าถึงที่อยู่อาศัยเพื่อการฟื้นฟู หรือแนวคิด “Housing first” ซึ่งเป็นแนวคิดในการทำงานที่ได้รับการยอมรับขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านทั่วโลก เช่น Australian Housing and Urban Research Institute ประเทศออสเตรียเลีย หรือ United States Interagency Council on Homelessness ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว นำมาสู่การผลักดันเชิงนโยบายร่วมกับพม.มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน จนเกิดมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่เห็นชอบในหลักการ “โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน” ทำให้เกิดศูนย์คนไร้บ้านเพิ่มเติม 3 แห่ง ที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น การพัฒนาและเสริมศักยภาพเครือข่ายคนไร้บ้าน รวมทั้งการดำเนินการสำรวจประชากรคนไร้บ้านทั่วประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานต่อการวางแผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมและยั่งยืน
นางสาวนพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การสำรวจประชากรคนไร้บ้านครั้งนี้มีที่มาจากความร่วมแรงร่วมใจผลักดันในระดับนโยบายของภาคีเครือข่าย จนนำมาสู่มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มีนาคม 2559 ที่มีประเด็นหลักอยู่ที่การจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ใน 3 จังหวัดใหญ่ แต่เนื่องจากเห็นว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ จึงเสนอให้ครอบคลุมถึงการสำรวจคนไร้บ้านทั่วประเทศ โดยข้อมูลการสำรวจจะมีความสำคัญที่จะทำให้เห็นปริมาณและขอบเขตของปัญหาคนไร้บ้านในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การประเมิน วิเคราะห์เพื่อวางแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ตัวเลขคนไร้บ้านยังเป็นตัวสะท้อนความความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาคนจน กล่าวคือหากจำนวนตัวเลขคนไร้บ้านมีจำนวนสูงขึ้น ก็จะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาคนจนยังไร้ประสิทธิภาพ และยังสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดกลไกในการรองรับหรือป้องกันกลุ่มคนเปราะบางที่มีโอกาสกลายเป็นคนไร้บ้าน ทั้งนี้ภายหลังการสำรวจภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการจะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งร่วมกันกำหนดบทบาทและแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป