กคช.ศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเมืองและสร้างชุมชนใหม่รามอินทรา
การเคหะแห่งชาตินำเสนอผลการวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูเมือง และสร้างชุมชนใหม่รามอินทรา โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม” ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562 (Thailand Research Expo 2019)” เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งถือเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงขององค์ความรู้จนนำไปสู่การพัฒนาประเทศ
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติได้เล็งเห็นถึงความทรุดโทรมไปตามกาลเวลาของอาคารพักอาศัยและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการเคหะชุมชนรามอินทรา ซึ่งควรหาแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงมีแนวคิดปรับปรุงโครงการใหม่เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาชุมชนให้มีความพร้อมในการรองรับการขยายตัวของเมืองที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ฝ่ายวิชาการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี ผศ.ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย “แนวทางการฟื้นฟูเมืองและสร้างชุมชนใหม่รามอินทรา โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม” เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความคิดเห็นและความต้องการของประชาชนในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนรามอินทราโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงวิเคราะห์ถึงแนวทางการฟื้นฟูและรับทราบความต้องการของประชาชนเบื้องต้นต่อร่างผังแม่บท รวมถึงผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยที่เกิดจากโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชน รามอินทราเพื่อนำไปสู่การปรับแผนและผังแม่บทโครงการ พร้อมสร้างกระบวนการฟื้นฟูเมืองแบบมีส่วนร่วม โดยให้เจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้เช่าในโครงการเคหะชุมชนรามอินทราได้แสดงความคิดเห็นต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง และยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ รวมถึงสร้างทัศนคติที่ดีของผู้อยู่อาศัยต่อการพัฒนาเมืองและการฟื้นฟูเมือง และเสริมสร้างความเชื่อมั่น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเคหะแห่งชาติ
คณะผู้วิจัยฯ ได้ทำการวิจัย ด้วยการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน การประชุมชี้แจงเปิดตัวโครงการ การประชุมกลุ่มย่อย และการอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นต้น ซึ่งคณะวิจัยฯ ได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูชุมชนให้ชาวชุมชนรามอินทราได้รับทราบ เช่น ประโยชน์ต่างๆ ที่ชุมชนจะได้รับจากการปรับปรุงพื้นที่ รวมถึงแนวคิดในการพัฒนาเมืองทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ รวมถึงแผนและผังแม่บทโครงการเบื้องต้น และสถานการณ์ของการฟื้นฟูเคหะชุมชนรามอินทราในปัจจุบัน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากชุมชน ซึ่งพบว่าทางชุมชน มีแนวโน้มที่ดีต่อกระบวนการฟื้นฟูเคหะชุมชนรามอินทรา เพราะต้องการที่จะแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาความทรุดโทรมของอาคาร ปัญหาน้ำท่วมขัง ปัญหาความสะอาด การจัดการขยะ และปัญหาอาชญากรรม ซึ่งชุมชนและผู้วิจัยฯ มีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรใช้แนวคิดในการพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสาน Mixed Development โดยได้เลือกแนวทางการพัฒนาปรับปรุงที่อยู่อาศัยในบริเวณอาคารแฟลตขึ้นใหม่ให้เป็นอาคารแนวสูง ส่วนผู้อาศัยอยู่บริเวณชุมชนบ้านแถวนั้นไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพโดยจะให้คงลักษณะเดิมเอาไว้ โดยมีปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงในบริเวณบ้านแถว เช่น มูลค่าที่ดินที่สูงกว่าแฟลต เจ้าของกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ต้องการแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต รวมถึงไม่ต้องการที่จะสูญเสียคำว่าหมู่บ้านจัดสรรที่มีการยอมรับทางสังคมที่ดีกว่าอาคารชุด เป็นต้น
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยฯ ได้เสนอแนะให้การเคหะแห่งชาติเร่งดำเนินการออกแบบวางผังโครงการอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ทางชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการออกแบบด้วย พร้อมกำหนดขอบเขตพื้นที่โครงการพัฒนาและกำหนดพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน รวมถึงจัดทำกระบวนการออกแบบวางผังโครงการพัฒนาประกอบกับการศึกษาความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และให้ความสำคัญต่อความเป็นชุมชนเดิมในปัจจุบัน พร้อมจัดตั้งองค์กรประสานงานระหว่างภาครัฐต่อภาครัฐ ภาครัฐต่อเอกชน เพื่อทำหน้าที่ออกแบบวางผัง กำหนดกฎเกณฑ์ สนับสนุน เจรจา ในลักษณะกึ่งดำเนินการและกำกับดูแลการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด