20 คน(เคย)ทำงานชายแดนใต้ได้ใส่ชื่อเป็น ส.ว. จับตารื้อ "ผู้แทนพิเศษ-ทีมพูดคุย"
เปิดชื่อออกมาแล้วสำหรับ ส.ว.ชุดรอโหวตนายกฯ 250 ชีวิต ท่ามกลางเสียงวิจารณ์กระหึ่ม
บ้างก็ว่า ส.ว.ยุคนี้ย่อมาจาก "สภาบริวาร" บ้างก็เรียก "สภาวงศ์วานว่านเครือของ คสช." เพราะมีแต่เพื่อนพ้องน้องพี่ของแกนนำ คสช. ผู้ใต้บังคับบัญชา และคนที่เคยทำงานใน "องค์กรแม่น้ำ 5 สาย" เต็มไปหมด เรียกว่ามีแต่ "คนหน้าเดิม"
แต่ประเด็นทื่ยังไม่มีใครพูดถึงหรือให้ความสนใจมากนัก ก็คือมี ส.ว.กลุ่มหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งจาก คสช. เป็นบุคคลที่เคยทำงานในภารกิจดับไฟใต้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้ดีเป็นสมาชิกสภาสูงกันหลายคน นับรวมๆ ได้ถึง 20 คน แม้บางคนอาจจะไม่ได้รับเลือกเพราะเหตุผลเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ แต่คนเหล่านี้ก็เคยฝากผลงานเอาไว้ บวกบ้างลบบ้างก็แล้วแต่ว่าใครจะมอง
"ทีมข่าวอิศรา" ไล่ชื่อให้เห็นกันชัดๆ ดังนี้
1. นายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ อดีตรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
2. พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 13
3. นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล ลูกชาย นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี มีบทบาทเชิงวิชาการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. พล.ต.ท.ตรีทศ รณฤทธิวิชัย อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล มีบทบาทสูงในการพูดคุยเจรจากับผู้เห็นต่างจากรัฐ จนนำมาสู่การทำข้อตกลงหยุดยิงเฉพาะพื้นที่ ช่วงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
5. นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ มีบทบาทเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายดับไฟใต้ และการพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
6. พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่่ 2 อดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี และนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี
7. นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตนายอำเภอบาเจาะ จ.นราธิวาส มีผลงานประสานงานกับทางการมาเลเซีย รับตัวผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวกับทางราชการ
8. พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และอดีตผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา เป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์
9. แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการวางระบบงานนิติวิทยาศาสตร์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
10. นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และอดีตผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
11. พล.อ.วลิต โรจนภักดี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
12. พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
13. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
14. พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์ เคยมีบทบาทในการเป็นคนกลางเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างรัฐบาลมาเลเซียกับโจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา จนบรรลุข้อตกลงสันติภาพ
15. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และอดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า มีผลงานวางระบบศูนย์ซักถามที่ได้รับการยอมรับจากนักสิทธิมนุษยชน
16. นายอนุมัติ อาหมัด นักธุรกิจ และที่ปรึกษา นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.
17. นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีต สนช. และอดีต ส.ว.หลายสมัย เป็นผู้บริหารโรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี
18. พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
19. นายอับดุลฮาลิม มินซาร์ อดีตผู้อำนวยการกองกิจการฮัจญ์ ศอ.บต. ในยุคที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
20. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นี่คือบุคคลที่เคยผ่านงานชายแดนใต้ที่กำลังเข้าไปรับบทบาทใหม่ในการเป็น ส.ว. ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอื่นๆ ของการแก้ไขปัญหาด้วย โดยเฉพาะ คณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมีผู้แทนพิเศษที่ได้รับแต่งตั้งเป็น ส.ว.ถึง 4 คน คือ พล.อ.สุรเชษฐ์ พล.อ.สกล นายภาณุ และ พล.อ.อุดมชัย ซึ่งมีข่าวว่าทั้งหมดได้ยื่นใบลาออกจากการเป็นผู้แทนพิเศษเรียบร้อยแล้ว
ฉะนั้นก็ต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม จะเอาอย่างไรกับโครงสร้าง "ผู้แทนพิเศษ" หากยังต้องการให้มีต่อไป ก็ต้องตั้งคนเข้าไปเสริม โดยเฉพาะรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ที่จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษ ประสานงานระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กับคณะรัฐมนตรี
อีกตำแหน่งหนึ่งที่น่าจับตาว่าจะมีผลกระทบจนเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ก็คือตำแหน่ง หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปัจจุบันมี พล.อ.อุดมชัย หรือ "บิ๊กเมา" ทำหน้าที่อยู่ เพราะต้องไม่ลืมว่า การทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เป็นการทำหน้าที่ในนาม "รัฐบาล" ในฐานะ "ฝ่ายบริหาร" ส่วนการเป็น ส.ว.คือการทำหน้าที่ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ฉะนั้นก็ต้องรอดูว่าจะมีการขยับ หรือจะไฟเขียวให้ "บิ๊กเมา" ทำหน้าที่ต่อไป
---------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (คนในภาพ จากซ้าย) พล.อ.สุรเชษฐ์ พล.อ.อุดมชัย นายภาณุ และ พล.อ.สกล