‘สร้างป่า สร้างรายได้' สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเน้นย้ำ เร่งส่งเสริมเลี้ยงไข่ไก่ในค่ายทหาร จ.น่าน
“...สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 ใจความตอนหนึ่งว่า การอนุรักษ์หากไม่ลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ ในวันข้างหน้าจะความยากลำบากจะเกิดกับคนรุ่นหลัง การอนุรักษ์ป่าน่านจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำทั้งต้องพยายามสร้างจิตสำนึกรู้คุณของทรัพยากร...”
เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2562 เวลา 08:20 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในงานประชุมสัมมนาโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จ.น่าน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดน่าน แม่ทัพภาคที่ 3 ผู้บัญชาการตำรวจภาค 3 นายบัณฑูร ล่ำซำ นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฝ้าฯ รับเสด็จ
ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยโครงการ “แนวการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ‘รักษ์ป่าน่าน’ ระดับชั้นประถมศึกษา” “เยาวชนรักษ์ป่าน่าน ผ่าน R-Radio Network” และโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” รวมทั้งนิทรรศการจาก ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มณฑลทหารบกที่ 38 และจังหวัดน่าน
จากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำรัสเปิดการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” ครั้งที่ 4 ใจความตอนหนึ่งถึงการอนุรักษ์ว่า หากไม่ลงมือทำตั้งแต่บัดนี้ ในวันข้างหน้าจะความยากลำบากจะเกิดกับคนรุ่นหลัง
"การอนุรักษ์ป่าน่านจึงเป็นวาระสำคัญที่ต้องเร่งลงมือทำทั้งต้องพยายามสร้างจิตสำนึกรู้คุณของทรัพยากร"
และทรงบรรยายเรื่อง “สร้างป่า สร้างรายได้” อันเป็นแนวทางการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและป่าไม้ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยมีการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายชนิด "แบบเรือนยอดสี่ชั้น" ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เป็นการผสมผสานระหว่างชนิดของไม้ป่าและพืชเศรษฐกิจ อาทิ
- ชั้นที่หนึ่ง เรือนยอดผิวดิน เช่น ถั่วมะแฮะ ข่า ขมิ้น ไพร
- ชั้นที่สอง เรือนยอดชั้นไม้พุ่ม เช่น เมี่ยง หวาย กล้วย กาแฟ
- ชั้นที่สาม เรือนยอดชั้นรอง เช่น มะขามป้อม มะแขว่น หว้า ไผ่
- ชั้นที่สี่ เรือนยอดชั้นบน เช่น ทะโล้ สัก ขนุน จำปาป่า เป็นต้น
ทรงเน้นย้ำการร่วมมือรวมถึงความเข้าใจกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า โดยมีรายได้อย่างถูกกฎหมายและรัฐได้พื้นที่ป่ากลับมา (ดูรายละเอียดโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ท้ายเรื่อง)
"การสร้างป่า สร้างรายได้เราปลูกให้โครงสร้างใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุดประกอบด้วยชั้นเรือนยอดต่างๆได้แก่เรือนยอดชั้นบนเรือนยอดชั้นรองเรือนยอดชั้นไม้พุ่มและเรือนยอดชั้นผิวดิน มีความหลากหลายและความสมบูรณ์ของพันธุ์ไม้"
สำหรับพื้นที่ดำเนินการสร้างป่าสร้างรายได้ เริ่มต้นที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย จากนั้นมีการขยายไปยังอำเภอต่างๆ ใน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่
จากสถิติเบื้องต้นปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมร่วมโครงการทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน มีพื้นที่ 71,786 ไร่ เป็นพื้นที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์ โดยทำงานร่วมกับ กรมป่าไม้ และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) รวมทั้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
ซึ่งขั้นตอนการดำเนินงานมีการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่าง ชุมชน ครูกศน. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ว่า ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับประโยชน์อะไรจากโครงการ ทำอย่างไรถึงจะทำมาหากินได้โดยไม่ถูกจับและมีรายได้รองรับ ต้องทำให้ชาวบ้านมั่นใจ โดยรับสมัครชาวบ้านที่สมัครใจที่จะนำพื้นที่ของตนเข้าร่วมโครงการ โดยไม่มีการบังคับ รวมทั้งจดทะเบียนกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้เป็นวิสาหกิจชุมชน
สำหรับการปลูกดูแลรักษาปีที่ 1 ไม้เบิกนำคือ กล้วย ถั่วมะแฮะ เรือนยอดชั้นบนคือ ก่อและยางเรือนยอดชั้นผิวดิน คือ ขมิ้นชัน ไพล ขิง มัน ผลผลิตสร้างรายได้คือ ถั่วมะแฮะและพืชผักสวนครัว การปลูกและดูแลรักษาปีที่ 2 3 และ 4 เรือนยอดชั้นรองมีมะขามป้อม ต๋าว มะแขว่น ไผ่ เรือนยอดชั้นพุ่ม มีกาแฟ เมี่ยงหวาย ปี 3-4 เป็นการปลูกเสริมมีผลผลิตสร้างรายได้ เช่น ถั่วมะแฮะ กล้วย ข่า
ความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ อ.บ่อเกลือ มีเพิ่มมากขึ้น จากปีแรกมีสมาชิก 30 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 4,112 คน พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเน้นย้ำ “ปีนี้จะเร่งเรื่องส่งเสริมการเลี้ยงไข่ไก่ในค่ายทหารต่างๆ ที่ จ.น่าน ประกอบด้วยมณฑลทหารบกที่38 ทหารพราน ค่ายสุริยพงษ์ และโรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์ เนื่องจาก จ.น่าน มีการนำเข้าไข่ไก่เป็นล้านๆ ฟอง โดยที่เราผลิตไม่พอจะร่วมส่งเสริมการผลิตพืชสัตว์ โดยเฉพาะไก่ไข่เพื่อทดแทนการนำเข้า รวมถึงเพื่อการบริโภค เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่เราทำในระดับเกษตรกรไม่ใช่อุตสาหกรรม
เหตุที่เลือกค่ายทหาร เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง มีทหารทำหน้าที่เรียนรู้ก่อนจะนำองค์ความรู้ต่างๆ ไปแนะนำแก่ประชาชนเมื่อเวลาออกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีทหารที่มาฝึกฝนมีความรู้และได้ปฏิบัติงานเรื่องการผลิตไก่ไข่ เมื่อพ้นเกณฑ์กลับไปบ้านก็เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ทำในครัวเรือนตัวเอง และแนะนำเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ก็คิดว่าโครงการจะไปได้”
ต่อจากนั้น นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันบรรยายหัวข้อ “สิ่งดีดีกำลังจะเกิดขึ้นที่น่าน” ใจความสำคัญอยู่ที่พัฒนาการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าโดยไม่ผิดกฎหมาย และเกื้อกูลกันและกัน
นายวิจารย์ ให้ข้อมูลว่า จ.น่าน มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 2.83 ล้านไร่ และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3.22 ล้านไร่ โดยมีการบุกรุก 0.21 ล้านไร่ และ 1.35 ล้านไร่ ตามลำดับ การเข้าบุกรุกดังกล่าวนั้น มีการตัดถางป่าไม้เพื่อทำเป็นพื้นที่เพาะปลูก เห็นได้ว่า ชาวบ้านต้องการพื้นที่ทำกิน จึงเป็นที่มาของการดำเนินงานเพื่อที่จะให้ประชาชนในพื้นที่ป่าได้ใช้ประโยชน์โดยที่รัฐได้ด้วยและถูกต้องตามกฎหมาย ตามคำกล่าว “รัฐได้ป่า ประชาได้ที่ทำกิน” โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
1.สิทธิที่ทำกินในเขตป่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการจัดการด้วย พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งจะมีกรอบการพิจารณาอนุญาตให้สิทธิที่ทำกินในเขตป่าฯ ตามกฎหมายใหม่
2.สมดุลของระบบนิเวศและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้วยระบบพื้นที่ป่าไม้ โดยมีการแบ่งคือ โซนพื้นที่ธรรมชาติ พื้นที่ทวงคืน (นำมาฟื้นฟู) พื้นที่ป่าเสื่อมสภาพชั้น 1,2 พื้นที่ป่าเสื่อมชั้น 3,4,5 พื้นที่ ส.ป.ก. พื้นที่เอกสารสิทธิ์ และพื้นที่ป่าชุมชน ป่าในเมือง ป่าเศรษฐกิจชุมชน
3.ปลดล็อกการตัดไม้หวงห้าม 158 ชนิด และไม้หายาก 13 ชนิด ในที่ดินเอกชน, ที่ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์, นส.3ก, สค.1 ด้วย พ.ร.บ. ป่าไม้ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2562 และกฎกระทรวงภายใต้ พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558
กล่าวสรุปก็คือ “ไม้ทุกชนิดที่ขึ้นในดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิ์ครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม”
4.สนับสนุนชาวบ้านดูแลป่าชุมชน และใช้ประโยชน์จากผืนป่า โดยมีกติการ่วมกัน ด้วย พ.ร.บ. ป่าชุมชน ที่กำลังร่าง
5.ส่งเสริมรายได้เกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยโครงการ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” “สร้างป่า สร้างรายได้” และ “ปลูกป่าเศรษฐกิจ”
ขณะที่นายบัณฑูร เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นผู้สนับสนุนและประสานงานการจัดสัมมนาวิชาการในโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” อันมีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นผู้อำนวยการโครงการ โดยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และจังหวัดน่าน ร่วมเป็นผู้ดำเนินโครงการ ซึ่งหน่วยงานที่ร่วมในโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” จะได้นำเสนอความคืบหน้า และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานในรอบสองปีที่ผ่านมาต่อที่ประชุม
ต่อมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางฑิฆัมพร กองสอน ประธานสภาองค์กรชุมชน ต.บัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน และนายถนัด ใบยา รองประธานมูลนิธิฮักเมืองน่าน ร่วมเสวนาในหัวข้อ “วิถีคนน่านอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” ประเด็นสำคัญคือการจัดการป่าไม้และคนให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีประโยชน์ ถูกต้องตามกฎหมาย และยั่งยืน โดยสร้างความเข้าใจในสภาพปัจจุบันที่เกิดขึ้นและเข้าแก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนวิธีการทั้งภาครัฐและประชาชนให้ชุมชนและป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยใช้ความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง อาทิ “การจัดการป่าไม้เพื่อความสุขของคนไทย” คือ 1.การจัดการป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ 2.การจัดการป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3.การจัดการป่าไม้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ 4.การปฏิรูปการบริหารจัดการป่าไม้ไทย หรือการปฏิรูปการบริหารจัดการกรมป่าไม้เอง
นอกจากนี้ มีการสรุปผลตัวอย่างการดำเนินโครงการต่างๆ ในพื้นที่ จ.น่าน เช่น โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ โครงการลด ละ เลิก สารเคมีทางการเกษตร โครงการส่งเสริมหยุดเผาพื้นที่ทางการเกษตร โครงการอนุรักษ์ป่าน่านจากโรงเรียนอยู่ชุมชุน และโครงการสร้างฝาย สร้างน้ำ พัฒนาคน สนับสนุนพื้นที่ตามนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นต้น
โครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้”
สร้างป่า สร้างรายได้ เป็นแนวทางการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยไม่ทำลายป่าไม้ โดยการปลูก ไม้ป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ มีการปลูกไม้หลายระดับหลายชนิด ทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกัน นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ยังทำให้ป่าไม้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง
สร้างป่า สร้างรายได้ เริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2556 ที่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน และ อ.นาแห้ว จ.เลย ต่อมา มีการขยายพื้นที่ไปอีกหลายอำเภอ ละยังขยายต่อไปใน จ.เชียงใหม่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปี 2561 มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการรวมทั้งหมด 19,890 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ป่าที่ดำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์ทั้งหมด 71,786 ไร่
ในการดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีการบูรณาการความรู้จากหลายสาขา ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน โดยมีสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นดั่งเจ้าภาพ ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมป่าไม้ กรมการปกครอง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และภาคธุรกิจ
ทั้งนี้ การดำเนินงานในระยะแรก จำเป็นต้องมีการพัฒนารูปแบบการผสมผสานระหว่างชนิดของป่าไม้และพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ ในลักษณะเป็นเรือนยอดสี่ชั้น ซึ่งเป็นโครงการใกล้เคียงธรรมชาติ รวมทั้งการอนุรักษ์ดินและน้ำด้วย
นอกจากนี้ ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาการแปรรูปผลผลผิตจากป่า เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และเกิดความคุ้มค่าในการปฏิบัติงานของประชาชน
สรุปพื้นที่โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ พ.ศ. 2556-2561 ดังนี้
จ.น่าน 163 ชุมชน สมาชิก 4,112 ครัวเรือน พื้นที่ 19,350 ไร่
จ.เลย 54 ชุมชน สมาชิก 2,530 ครัวเรือน พื้นที่ 11,171 ไร่
จ.เชียงใหม่ 304 สมาชิก 5,603 ครัวเรือน พื้นที่ 15,709 ไร่
จ.ตาก 226 ชุมชน สมาชิก 4,147 ครัวเรือน พื้นที่ 12,943 ไร่
จ.แม่ฮ่องสอน 235 ชุมชน สมาชิก 3,498 ครัวเรือน พื้นที่ 12,613 ไร่
รวม 982 ชุมชน สมาชิก 19,890 ครัวเรือน พื้นที่ 71,786 ไร่
ในส่วน จ.น่าน เริ่มต้นโครงการฯ ครั้งแรกที่ อ.บ่อเกลือ ปัจจุบันขยายพื้นที่ไปจนครบทั้ง 15 อำเภอ ของ จ.น่าน มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหมด 4,112 ครัวเรือน ใน 48 ตำบล และมีพื้นที่ป่าที่กำลังฟื้นฟูและอนุรักษ์ รวมทั้งหมด 19,350 ไร่
ในการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ในพื้นที่ จ.น่าน มีกรมป่าไม้ ทำงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการเข้าร่วมโครงการได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว และยังร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ดอยคำ ช่วยรับซื้อผลผลิตของเกษตรกรแปรูปและจำหน่าย และบางส่วนศูนย์ภูฟ้าพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ รับมาแปรรูป โดยมีภาคเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุนทางด้านเทคนิคการแปรรูป และส่งจำหน่ายร้านภูฟ้า และต่างประเทศ
จากการสำรวจรายได้ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 1,187 คน พบว่า ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา เกษตรกรมีรายได้จากโครงการฯ คิดเป็นเงิน 508,045 บาท (ที่มา : กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ สำนักงาน กศน. ข้อมูล ณ วันที่ 18 เม.ย. 2562) และจากการเก็บข้อมูลกลุ่มสร้างป่าสร้างรายได้ อ.บ่อเกลือ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ พบว่า กลุ่มสามารถสร้างรายได้เป็นเงิน 648,185 บาท (ที่มา : โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนา กรมป่าไม้)
สรุปพื้นที่โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ จ.น่าน (พ.ศ. 2556-2561)
อ.เมืองน่าน จำนวน 3 ตำบล สมาชิก 518 ครัวเรือน พื้นที่ 2,636 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 4,220 บาท
อ.บ่อเกลือ จำนวน 4 ตำบล สมาชิก 1,241 ครัวเรือน พื้นที่ 4,544 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 151,529 บาท
อ.เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 2 ตำบล สมาชิก 643 ครัวเรือน พื้นที่ 3,275 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 103,660 บาท
อ.สันติสุข จำนวน 3 ตำบล สมาชิก 176 ครัวเรือน พื้นที่ 1,174 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 16,230 บาท
อ.ภูเพียง จำนวน 1 ตำบล สมาชิก 85 ครัวเรือน พื้นที่ 430 ไร่ รายได้ (ปี 2561) - บาท
อ.แม่จริม จำนวน 2 ตำบล สมาชิก 66 ครัวเรือน พื้นที่ 431 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 2,561 บาท
อ.นาน้อย จำนวน 4 ตำบล สมาชิก 281 ครัวเรือน พื้นที่ 1,550 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 5,425 บาท
อ.เวียงสา จำนวน 9 ตำบล สมาชิก 236 ครัวเรือน พื้นที่ 1,071 ไร่ รายได้ (ปี 2561) - บาท
อ.ปัว จำนวน 2 ตำบล สมาชิก 57 ครัวเรือน พื้นที่ 525 ไร่ รายได้ (ปี 2561) - บาท
อ.ท่าวังผา จำนวน 2 ตำบล สมาชิก 117 ครัวเรือน พื้นที่ 530 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 159,950 บาท
อ.นาหมื่น จำนวน 3 ตำบล สมาชิก 122 ครัวเรือน พื้นที่ 324 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 29,820 บาท
อ.ทุ่งช้าง จำนวน 2 ตำบล สมาชิก 103 ครัวเรือน พื้นที่ 549 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 4,200 บาท
อ.เชียงกลาง จำนวน 4 ตำบล สมาชิก 135 ครัวเรือน พื้นที่ 441 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 30,450 บาท
อ.สองแคว จำนวน 3 ตำบล สมาชิก 154 ครัวเรือน พื้นที่ 1,115 ไร่ รายได้ (ปี 2561) - บาท
อ.บ้านหลวง จำนวน 4 ตำบล สมาชิก 178 ครัวเรือน พื้นที่ 755 ไร่ รายได้ (ปี 2561) - บาท
รวม จำนวน 48 ตำบล สมาชิก 4,112 ครัวเรือน พื้นที่ 19,350 ไร่ รายได้ (ปี 2561) 508,045 บาท
(ข้อมูลรายได้เก็บจากกสมาชิกจำนวน 1,187 คน ที่มา : กล่มส่งเสริมปฏิบัติการ สำนักงาน กศน.)
โครงสร้างป่า : รูปแบบการผสมผสานระหว่างชนิดของไม้ป่าและพืชเศรษฐกิจ อ.บ่อเกลือ จะแบ่งเป็นการปลูกพืชเรือนยอดสี่ชั้น คือ ชั้นที่หนึ่ง เรือนยอดผิวดิน เช่น ถั่วมะแฮะ ข่า ขมิ้น ไพร ชั้นที่สอง เรือนยอดชั้นไม้พุ่ม เช่น เมี่ยง หวาย กล้วย กาแฟ ชั้นที่สาม เรือนยอดชั้นรอง เช่น มะขามป้อม มะแขว่น หว้า ไผ่ ชั้นที่สี่ เรือนยอดชั้นบน เช่น ทะโล้ สัก ขนุน จำปาป่า
แปลงเกษตรกรตัวอย่าง
นายธนวัฒน์ จรรมรัตน์ บ้านห้วยขาบ ต.บ่อเกลือเหนือ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 10 ไร่ ตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบัน มีรายได้จากการขายกาแฟเฉลี่ย 23,960 บาท/ปี
นายพิพัฒน์ ศิริวัฒนาการุณ บ้านห่างทางหลวง ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พื้นที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 15 ไร่ ตั้งแต่ปี 2559 โดยปี 2561 มีรายได้จากการขายกาแฟ กล้วย ขมิ้น ไพล เฉลี่ย 10,875 บาท/ปี
----
การประชุมสัมมนา "รักษ์ป่าน่าน" ครั้งที่ 4 เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานโครงการสามเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทัพบก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดน่าน และธนาคารกสิกรไทย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพจาก : ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ไทยโพสต์