ปภ.แก้ไขปัญหาภัยแล้งรอบด้าน มุ่งลดผลกระทบขาดแคลนน้ำ
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างรอบด้าน ด้วยการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด การตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุน และสำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้ง รวมถึงจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค อีกทั้งสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งน้อยที่สุด ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ และด้านเศรษฐกิจ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่ามีสัญญาณบ่งชี้ว่าภัยแล้งจะยาวนานไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงมีแนวโน้มเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 ซึ่งผลกระทบจากภัยแล้งที่ยาวนานขึ้นอีก 2 เดือน จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท หากภัยแล้งมีระยะเวลายาวนานถึงเดือนกรกฎาคม 2562 อาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,300 ล้านบาท ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเชิงรุกอย่างรอบด้าน มีมาตรการรองรับปัญหาขาดแคลนน้ำ ด้วยการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำต้นทุน สำรวจความต้องการใช้น้ำในแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดเตรียมทรัพยากรให้พร้อมรับมือภัยแล้งทั้งกำลังคน วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย รถบรรทุกน้ำ และเครื่องสูบน้ำ รวมถึงจัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญ เน้นน้ำอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ควบคู่กับการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมาย ทั้งในและนอกเขต
การให้บริการน้ำประปา และพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด อีกทั้งสร้างการรับรู้สถานการณ์น้ำ มาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ การรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัด ตลอดจนส่งเสริมการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัญหา ภัยแล้งน้อยที่สุด ทั้งด้านชีวิตความเป็นอยู่ และด้านเศรษฐกิจ
นายชยพล กล่าวต่อไปว่า เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 7 จังหวัด 18 อำเภอ 61 ตำบล 449 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ตราด และชลบุรี
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดดำเนินการลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งตามข้อสั่งการของรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย และแผนเผชิญเหตุภัยแล้งของจังหวัด โดยพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามแนวทางที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการคลังฯ ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วน 1.งบประมาณที่ใช้ในการยับยั้งหรือป้องกันภัยพิบัติ 2.งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน รวมถึงมุ่งเน้นการจัดสรรน้ำอุปโภค/บริโภค ทั้งการจัดรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายน้ำ การขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น การขุดลอกแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ การสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและแหล่งผลิตน้ำประปา ประสานการปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำที่มีปริมาณจำกัดอย่างประหยัด คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกพื้นที่